จับตาCOVID-19รอบสองกดดัชนีเชื่อมั่นQ1/64
Loading

จับตาCOVID-19รอบสองกดดัชนีเชื่อมั่นQ1/64

วันที่ : 15 มกราคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย โควิด-19 รอบใหม่ ทำตลาดอสังหาฯ ติดลบ 10%
          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปี 63 ผู้ประกอบการฯมีภาวะความเชื่อมั่นดีขึ้น โดยมีดัชนีเท่ากับ 46.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.8% แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับต่ำกว่า 50% ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7  ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 62 ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้มาตรการ LTV  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการอสังหาฯยังขาดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัย

          ส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้ประกอบการฯ ที่ดำเนินการสำรวจในช่วงปลายปี 63 ซึ่งยังไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบสอง มีค่าเท่ากับ 54.4% ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.9% สูงกว่าค่ากลาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบฯขณะนั้นเริ่มมีความหวังต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 64 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบสองที่เกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ใน 6 เดือนแรกของปี 64 ปรับตัวลดลงกว่าผลที่สำรวจข้างต้นได้ ดังนั้น คาดได้ว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกปี 64 นี้ ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการคงจะปรับลดลง จากการสำรวจช่วงปลายปี สังเกตได้จาก การที่ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดขายโครงการใหม่ เพื่อลดจำนวนซัปพลายเหลือขายที่ยังมีอยู่ในตลาด และรอดูผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

          ดร.วิชัย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากช่วงการสำรวจ ศูนย์ข้อมูล อสังหาฯ คาดว่า การเปิดตัวปี 64 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวน 89,000 หน่วย แบ่งเป็นแนวสูง 36,000-37,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 30-40% และแนวราบ 52,000 หน่วย แต่ถ้าโควิดยืดเยื้ออาจจะลดลงอีก 10,000 หน่วย เหลือ 79,000 หน่วย เท่ากับปีนี้จะอยู่ระหว่าง 79,000-89,000 หน่วย สูงกว่าปี 2563 ที่เปิดรวม 71,500 หน่วย แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะสต๊อกพร่องลงจากปีก่อน

          โดยมีการคาดการณ์ผ่านการจำลองหลายสถานการณ์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คือ ตลาดจะโต 5-10% ระดับกลาง ตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5% และระดับแย่ที่สุดติดลบ 10% เท่ากับปี 63 เท่ากับภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลง 20% ซึ่งรุนแรงพอควร เพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54