ที่ดินขึ้น5เท่าทุนใหญ่ยึดEEC
Loading

ที่ดินขึ้น5เท่าทุนใหญ่ยึดEEC

วันที่ : 24 ธันวาคม 2563
ท้องถิ่นขานรับไฮสปีด

          บิ๊กทุน ปักหมุดที่ดินอีอีซี EEC เมืองใหม่ ชลบุรี ย้ำหากรัฐประกาศชัด เอกชนมั่นใจที่ดินราคาขยับ 4-5 เท่า หอการค้าชลบุรี หนุนพัฒนาเมือง-ลงทุนไฮสปีด หวังกระจายความเจริญนักลงทุนตื่นตัวอีกระลอกสำหรับโครงการเมืองใหม่ในพื้นที่บางละมุง จ.ชลบุรีโดยบรรดาบิ๊กทุน นักเก็งกำไร กับกระแส ข่าวพื้นที่ที่ตั้งโครงการเมืองใหม่ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ล่าสุดว่า ครอบคลุม 3 ตำบล 7หมื่นไร่ ประกอบด้วย ตำบลโป่งตำบลห้วยใหญ่

          นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นที่ดินปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ที่ดินส.ป.ก.) อีกทั้งยังมีแผนปรับย้ายสถานี พัทยาไป ตำบลห้วยใหญ่

          ทั้งนี้แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสม สามารถรองรับคนเข้าพื้นที่ จำนวนมาก ที่สำคัญควรอยู่ใกล้ สถานีรถไฟความเร็วสูง ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงระบบราง และมหานครการบินจึงจะคุ้มค่า หลังบริษัทที่ปรึกษาของสกพอ.เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตลอดจนเอกชนในพื้นที่ หลายคนเห็นด้วยช่วยสร้างความเจริญว่า มีบางส่วนเท่านั้นที่เห็นต่างออกไป

          ขณะภาคเอกชนประเมินว่าหาก สกพอ. กำหนดที่ตั้งเมืองใหม่ชัดเจน ราคาที่ดินโดยรอบขยับสูง คาดจะมีนักลงทุนนักเก็งกว้านซื้อที่ดินรอพัฒนา แม้ที่ผ่านมาการซื้อขายจะหยุดชะงัก ราคาทรงตัว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ หลายทำเลใน 3 จังหวัดอีอีซี ราคาขยับแบบก้าวกระโดดไปชนเพดานหมดแล้ว จากราคาไร่ละ 2-4 ล้านบาทต่อไร่ กลายเป็น 10-20 ล้านบาทต่อไร่ อาทิ บริเวณรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เมืองการบินอู่ตะเภา

          สอดรับกับนาย ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาเมืองใหม่ บนที่ดิน ส.ป.ก 70,000ไร่ เชื่อว่า หากประกาศพื้นที่ออกมาอย่างชัดเจน ราคาที่ดินจะขยับ 4-5เท่า โดยเฉพาะ ตำบลห้วยใหญ่อำเภอบางละมุง รอยต่ออำเภอสัตหีบ ราคาที่ดินยังไม่สูงมาก พื้นที่บริเวณด้านในไม่ติดถนน ปัจจุบันไม่เกิน 2-3 ล้านบาทต่อไร่

          ท้องถิ่นขานรับ

          ขณะเดียวกัน การมีรถไฟความเร็วสูงช่วยให้กระจายความเจริญ เข้าถึงคนในพื้นที่ ช่วยยกระดับภาคเกษตร กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เชื่อมโยงระบบรางหรือสามารถขึ้นเครื่องบินไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนชลบุรี

          "เชื่อว่ารัฐจะกำหนดพื้นที่ บริเวณที่ตั้งของเมืองใกล้สถานีไฮสปีดให้ประชาชนและกลุ่มทุนขนาดย่อมในพื้นที่ได้ประโยชน์"

          สอดคล้องกับนายสุนทร ธัญญะวัฒนากูล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ตราด )สะท้อนว่า เห็นด้วยที่รัฐมีแผนพัฒนาเมืองใหม่ 7 หมื่นไร่ โดยใช้ที่ดินส.ป.ก. และเบื้องต้น จะใช้พื้นที่ ไม่เกิน 2 หมื่นไร่ รองรับคนมาอยู่อาศัยทำงานในอีอีซี ต้นปีหน้าคาดว่าจะมีความชัดเจน โดยราคาที่ดินติดถนนบริเวณบางละมุง บ้านฉาง สัตหีบ ติดถนน สายหลักราคา 8-20ล้านบาท/ไร่

          ที่ผ่านมานายสุนทร ระบุว่า แผนการจัดตั้งเมืองใหม่จังหวัดชลบุรี เดิมรัฐกำหนดตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ได้แก่ เมืองใหม่พัทยา 12,500 ไร่ มีแผนพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ติดสถานีรถไฟ แต่พื้นที่ใหม่มีการขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ออกไปเชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภา จึงขยับออกไปยังพื้นที่ว่าง ในขณะที่เมืองพัทยามีชุมชนหนาแน่นที่ดินราคาแพง เช่นเดียวกับ สถานีศรีราชา ซึ่งที่ผ่านมามีการโก่งราคาขายที่ดิน ให้กับห้างใหญ่ระดับแถวหน้าของเมืองไทยในราคาไร่ละ 100 ล้านบาท และปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อไร่

          นอกจากนี้ที่ตั้งของเมืองใหม่ ยังอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ใกล้สถานี เช่นเดียวกับโครงการระยองเมืองใหม่ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินอยู่ตะเภา เข้าใจว่าเป็นของกลุ่มปตท. ที่วังจันทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดึงกลุ่มทุนเข้าพื้นที่ ทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกัน กลุ่มบีทีเอสมีแผนพัฒนาบนที่ดินของกองทัพเรือ รูปแบบมิกซ์ยูสพื้นที่เมืองการบิน

          บิ๊กทุนปักหมุด

          สอดคล้องกับนักวิชาการในพื้นที่ที่ ยืนยันว่า เมืองใหม่ปัจุบันที่ชัดเจนจะมีของเมืองการบินกลุ่มบีทีเอส ขณะเดียวกัน หาก มีเมืองใหม่เกิดขึ้นอีกแห่ง แนวไฮสปีด อาจเป็นลักษณะทุนยักษ์ 2 ค่ายแข่งขันกัน แต่ทั้งนี้ต้องมองในภาพรวมว่าประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์หรือไม่

          แหล่งข่าวจากดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ในจังหวัดชลบุรี ระบุว่า บริษัทมีที่ดิน 600ไร่ มีแผนลงทุน เมืองใหม่ บริเวณพัทยา ศรีราชา ขณะเดียวกันมีปัญหานักลงทุนจากต่างชาติติดโควิดและเศรษฐกิจซบเซา หากหลังโควิดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศได้ อาจปัดฝุ่นที่ดินออกพัฒนาก็เป็นได้

          "ที่ผ่านมาเคยเสนอพัฒนาเมือง เพื่อให้ได้สิทธิ์ประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แต่ เรื่องที่เสนอ รัฐกลับเงียบไป"

          เครือสหพัฒน์ปักหมุด

          ขณะ เครือสหพัฒน์ขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับโตคิว อีก 800 ล้านบาท ในพื้นที่เขตศรีราชา รับดีมานด์ครอบครัวญี่ปุ่นโครงการ 'HarmoniQ' และคอมมูนิตี้ 'HarmoniQ 2' โดยพร้อมเปิดชมห้องตัวอย่างเดือนเมษายน 2564

          ทุนจีน-ฮ่องกงปั้นเมือง

          ด้านบริษัท คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ซื้อที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา 2,000 ไร่ ซึ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2-3 ปีก่อน รวมถึงกลุ่มคันทรีที่ได้ซื้อที่ดินจำนวน 80 ไร่บริเวณบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา ใกล้กับโตโยต้า มีแผนพัฒนาเมืองใหม่เช่นเดียวกัน
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ