Q3อสังหาฯยอดโอนพุ่ง8.2แสนล้าน คาดครึ่งหลังปี64ตลาดฟื้นตัวชัดเจน
Loading

Q3อสังหาฯยอดโอนพุ่ง8.2แสนล้าน คาดครึ่งหลังปี64ตลาดฟื้นตัวชัดเจน

วันที่ : 19 พฤศจิกายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยอสังหาฯ Q3 สัญญาณเป็นบวก ยอดการโอนดีกว่าการประมาณการ คาดสิ้นปี 63 ยอดโอนแตะ 351,640 หน่วย มูลค่ากว่า 862,500 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี
          ศูนย์ข้อมูลฯ เผยอสังหาฯ Q3 สัญญาณเป็นบวก ยอดการโอนดีกว่าการประมาณการ คาดสิ้นปี 63 ยอดโอนแตะ 351,640 หน่วย มูลค่ากว่า 862,500 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ด้านผู้ประกอบการทยอยเปิดตัวโปรเจกต์เพิ่มขึ้น หลังพบยอดเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 3 พุ่ง 20,965 หน่วย คาดตลาดปี 64 ทยอยกลับมาขยายตัว เชื่อตลาดปรับตัวดีชัดเจนไตรมาส 3-4 เผยประมาณการยอดโอนปี 64 กว่า 353,236-383,272 หน่วย มีมูลค่า 876,121-950,591 ล้านบาท โครงการเปิดใหม่กรุงเทพฯปริมณฑล 88,828-102,151 หน่วย มีมูลค่า 400,306-448,559 ล้านบาท

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการลงทุนตลาดอสังหาฯ อย่างหนัก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหลังรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อยและกลุ่มธุรกิจ SMEs สามารถช่วยฟื้นฟูในระดับหนึ่ง ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการมีการปรับตัวรับกับสถานการณ์ตลาดที่กำลังซื้อชะลอตัวโดยการลดราคาและหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ ยอดการโอนกรรมสิทธอยู่อาศัยของไตรมาส 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 93,230 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 246,066 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มจากไตรมาสก่อน 17.1% ส่งผลให้การโอนสะสม 9 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 261,855 หน่วย มูลค่า 668,936 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจาก -7.9% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี

          โดยพบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบมีจำนวน 180,322 หน่วย มูลค่า 458,280 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน -6.1% ขณะยอดโอนคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 81,533 หน่วย มูลค่า 210,656 ล้านบาท ลดลงจาก -11.6%  ซึ่งเป็นการติดลบลดลงนับเป็นสัญญาณบวกในด้านดีมานด์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในจำนวนนี้เป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ 131,303 หน่วย มูลค่า 425,134 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน -5.5% และบ้านมือสอง 130,552 หน่วย มูลค่า 243,802 ล้านบาท ลดลง -10.2%

          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาระดับราคาพบว่า บ้านแนวราบในกลุ่มราคา 2.01-3.00 ล้านบาทมียอดโอนสูงสุด 43,335 หน่วย คิดเป็น 24.0% ของการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด หรือมีอัตราการขยาย 31.3 % ส่วนคอนโดระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีหน่วยโอนสูงสุด 25,840 หน่วย หรือ 31.7% ของการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด อย่างไรก็ตามอัตราการโอนยังคงลดลง -17.6% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า โดยกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดของหน่วยการโอนคอนโดฯ คือระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาท ขยายตัว 6.1% จากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ตลอดปี 63 ที่อยู่ 351,640 หน่วย -10.3% มูลค่า 862,500 ล้านบาท ปรับตัวลดลง -7.3%

          ดร.วิชัย กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์เปิดตัวโครงการใหม่พบว่ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล มียอดสะสม 9 เดือน 50,781 หน่วย มูลค่า228,949 ล้านบาท ลดลง -20.9 % ซึ่งเป็นการลดลงของคอนโด -41.8% ส่วนบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น3.5% แยกเป็นคอนโด 20,089 หน่วย คิดเป็น 39.6% ทาวน์เฮาส์ 19,802 หน่วย 39.0% บ้านเดี่ยว 5,784 หน่วย คิดเป็น 11.4% บ้านแฝด 4,709 หน่วย คิดเป็น 9.3% และอาคารพาณิชย์ 397 หน่วย คิดเป็น 0.8% โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดว่าในปีนี้จะมีโครงการเปิดตัวใหม่จะลดลงมาอยู่ที่ 71,467 หน่วย ลดลงจากปีก่อนหน้า-27.3%

          สำหรับแนวโน้มซัปพลายตลาดปี 64 จากมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ คาดการณ์ว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่353,236 หน่วย มูลค่า 876,121 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 383,272 หน่วย มีมูลค่าไม่เกิน 950,591 ล้านบาท และคาดว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 64 เพิ่มเป็น 88,828 หน่วย มีมูลค่า 400,306 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 102,151 หน่วย มูลค่า 448,559 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.3% และสูงสุด 42.9%

          จากแนวโน้มด้านดีมานด์และซัปพลายในปี 64 ที่คาดการณ์ไว้ เชื่อว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะค่อยๆ มีการขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 63 และจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 64 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ