บ้าน-คอนโดฯกระอักเลือด
Loading

บ้าน-คอนโดฯกระอักเลือด

วันที่ : 22 ตุลาคม 2563
ขายไม่ออกเฉียดล้านล้านบ.
   

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่เหลือค้างสต๊อกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวนมากโดยในสิ้นปีนี้ประเมินว่า จะมีที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกสูงถึง 185,993 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 937,703 ล้านบาท และหากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐเชื่อว่าในครึ่งปีหน้าที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกจะเพิ่มเป็น 193,415 หน่วยหรือมีมูลค่า 956,086 ล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลามากถึง 4-5 ปี ถึงจะระบายสต๊อกที่เหลือค้างหมด

          ทั้งนี้สาเหตุที่มียอดเหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีผู้ซื้อเพื่อการลงทุนลดลง รวมถึงชาวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาซื้อได้ และการถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการให้สินเชื่อซึ่งแม้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามปรับตัว ด้วยการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ หั่นกำไรเพื่อเร่งขายสต๊อกเดิมแต่จำนวนที่อยู่อาศัยที่เหลือค้างสต๊อกก็ยังคงสูงอยู่

          ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ภาครัฐขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% ที่จะหมดในเดือน ธ.ค.นี้ ต่อไปอีก 1 ปี พร้อมกับขยายสิทธิให้ผู้ซื้อบ้านมือสอง และบ้านราคา 3-5 ล้านบาท เข้ามาใช้สิทธิได้ด้วย เพราะปัจจุบันบ้านราคา 3-5 ล้านบาท มีสัดส่วนมากถึง 20% ของตลาดรวม เช่นเดียวกับบ้านมือสองซึ่งหากคนขายบ้านเก่าของตัวเองได้ก็มีเงินมาซื้อบ้านใหม่แทนซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาจำนวนบ้านที่เหลือค้างสต๊อกลดลงไปได้

          เมื่อแยกจำนวนที่อยู่อาศัยที่เหลือขาย พบว่าปทุมธานีมีสต๊อกเพิ่มขึ้นมากสุด 40.4% รองลงมาเป็นนครปฐม 9% และสมุทรปราการ 5.7% ส่วนจังหวัดที่มีสต๊อกลดลงมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ลดลง 2.4% รองลงมาเป็น นนทบุรี ลบ 0.6%  และสมุทรสาครลบ 0.2% ส่วนทำเลที่มีเหลือขายมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทำเลลำลูกกา-คลองหลวงธัญบุรี-หนองเสือ รองลงมาเป็นทำเลบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวยไทรน้อยและทำเลเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ ทำเลที่ขายดีสุด คือทำเลบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง

          ส่วนแนวโน้มการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะยังลดลงต่อเนื่อง โดยในครึ่งหลังปี 63 จะเหลือประมาณ 23,116 หน่วย และในครึ่งปี 64 จะเหลือ 26,124 หน่วย ส่วนยอดการโอนกรรมสิทธิ์สิ้นปี 63 จะมี 75,752 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 187,971 ล้านบาท และในปี 64 ยอดโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงเหลือ 56,774 หน่วย มูลค่า 228,024 ล้านบาท ซึ่งประมาณการนี้ยังไม่รวมตัวแปรจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

          "แม้ปัญหาภาคอสังหาฯ ในวันนี้จะเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งได้ยากเพราะขนาดตลาดของตลาดอสังหาฯ ใหญ่กว่าเดิม และราคาสินทรัพย์ก็แตกต่างกันแต่ยอมรับมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ค้างสต๊อกเกือบระดับล้านล้านบาทก็เป็นสิ่งที่น่าห่วง เห็นได้จากในครึ่งปีแรกยอดขายมีเพียง 32,758 ล้านบาท ติดลบไปถึง 24.9% และแนวโน้มก็ยังไม่น่าจะฟื้นตัว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือเพิ่ม เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องกล้าปล่อยกู้มากขึ้น เพราะคนกู้ไม่ผ่านมีจำนวนมาก"
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ