REICระบุแนวราบเปิดใหม่-ขายเติบโตคอนโดปี63มูลค่าโอนฯติดลบ22.2%
Loading

REICระบุแนวราบเปิดใหม่-ขายเติบโตคอนโดปี63มูลค่าโอนฯติดลบ22.2%

วันที่ : 22 กันยายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยเเนวราบเปิดใหม่โต สวนทางคอนโด มูลค่าการโอนติดลบ 22.2%
          ศูนย์ข้อมูลฯกางผลสำรวจที่อยู่อาศัยในปี 2563-64 สถานการณ์โดยรวมชะลอตัว ตลาดคอนโดฯ หนักสุด เปิดใหม่ ลดลงติดลบ 44.4% มูลค่าการโอนฯ ลดฮวบติดลบ 22.2% มาอยู่ที่ 254,341 ล้านบาท สวนทางแนวราบ เปิดใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ขณะที่การโอนฯ ทั้งหน่วยและมูลค่า ลดลงน้อยกว่าอาคารชุด เผย ยอดขายอืด กระทบต่อสต๊อกคงค้างในระบบ คาดภายในสิ้นปี 64 คงเหลือ 339,294 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 1.5 ล้านล้านบาท คอนโดฯหนักสุด

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยและภาพรวมสินเชื่อในปี 2563 และต่อเนื่องในปี 2564 ว่า หากพิจารณาในแง่ขอ งภาพ รวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวลง ส่งผลให้หน่วยการเปิดโครงการใหม่จะอยู่ที่ 79,408 หน่วย ติดลบ 19.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่มีหน่วยเปิดขายใหม่ที่ 109,859 หน่วย (ติดลบ 27%) และในปี 2564 หน่วยการเปิดใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น เล็กน้อยมาอยู่ที่ 88,828 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.9% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและต่ำกว่าปี 2562 ที่มีหน่วยเปิดขายใหม่อยู่ที่ 98,248 หน่วย

          "ปีนี้ เป็นยุคของตลาดแนวราบ คาดว่าทั้งปีเปิดใหม่เติบโต 12.6 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 48,965 หน่วย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าปีหน้า แนวราบยังมีแนวโน้มการเปิดตัวใหม่ต่อเนื่อง เติบโตประมาณ 6.3 เปอร์เซ็นต์ มียอดเปิดใหม่ 52,044 หน่วย ซึ่งจะขยายตัวทุกไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ ไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 แตกต่างจากตลาดคอนโดมิเนียมอย่างมาก ปีนี้และปีหน้า อยู่ในช่วงการระบายซัปพลาย ส่งผลให้หน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ อาคารชุดปี 63 ติดลบ 44.4 เปอร์เซ็นต์ เปิดใหม่เพียง 30,443 หน่วย" ดร.วิชัย กล่าว

          ในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศนั้น เป็นผลของตัวเลขยอดขาย (แบ็กล็อก) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวเลขการโอนฯ ยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 63 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสสามของปี 64 ตัวเลขการโอนฯ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 98,216 หน่วย ยกเว้นไตรมาสสุดท้ายของปี 64 จะเริ่มมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ คาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ปี 63 ติดลบ 18.6% และในปี 64 เติบโตเป็นบวก 2.2% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาเป็นปีที่ 2 ส่งผลให้มูลค่าโอนฯที่อยู่อาศัยปีนี้ จะมีความสามารถทำได้ประมาณ 723,213 ล้านบาท ลดลงติดลบ 22.3%

          ทั้งนี้ หากแยกประเภทของตลาดที่อยู่อาศัย พบว่า ในปีนี้และต่อเนื่องปีหน้า แนวราบจะมาแซงอาคารชุด แต่โดยรวมแล้ว ยอดโอนกรรมสิทธิ์ แนวราบจะลดลงติดลบ 18.2% มูลค่าลดลงติดลบ 22.4% ส่วนอาคารชุดหน่วยโอนฯ ลดลงติดลบ 19.2% และมีมูลค่าลดลงติดลบสูงถึง 22.2% มาอยู่ที่ 254,341 ล้านบาท

          ขณะที่หน่วยเสนอขายเหลือใน 26 จังหวัดสำรวจ พบว่า มีสัญญาณเพิ่มขึ้น โดย ณ ครึ่งแรกของปี 63 มีจำนวน 293,319 หน่วย มีมูลค่าเหลือขาย 1.3 ล้านล้านบาท และคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะมีหน่วยเหลือขายเพิ่มเป็น 319,528 หน่วย มีมูลค่าเหลือขาย 1.4 ล้านล้านบาท และหลังจากหมดมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ คาดว่าหน่วยเสนอขายเหลือ ณ สิ้นปี 64 เพิ่มขึ้นเป็น 339,294 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อาคารชุดจะมีหน่วยเหลือขายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงปลายปีหน้าประมาณ 152,682 หน่วย มีมูลค่าคงเหลือประมาณ 684,519 ล้านบาท เนื่องจากการเปิดโครงการในช่วงที่ผ่านมามีน้อย ต่างกับแนวราบ ที่มีการเปิดตัวค่อนข้างมาก แต่กลับมีอัตราการดูดซับที่ดี เช่นเดียวกับมูลค่าคงเหลือของแนวราบ ที่อยู่ในช่วงลดลงไปถึงครึ่งแรกของปีหน้า และขยับขึ้นเล็กน้อยในครึ่งหลังของปี 64 มาอยู่ที่ 818,164 ล้านบาท

          "สต๊อกของอาคารชุด มี แนวโน้มสูงมาก จำนวนเดือน จากเดิม 17-18-20 เดือน เพิ่มเป็นจะขายหมดไม่ต่ำกว่า 50 เดือน เนื่องจากสต๊อกคอนโดฯ กองอยู่เป็นจำนวนมาก"