คอนโดฯ Super Luxury ค้างระบบครึ่งแสนล. รายใหญ่หยุดพัฒนาโครงการ จับตาโควิดสงบ เศรษฐีพร้อมควักเงินซื้อ
Loading

คอนโดฯ Super Luxury ค้างระบบครึ่งแสนล. รายใหญ่หยุดพัฒนาโครงการ จับตาโควิดสงบ เศรษฐีพร้อมควักเงินซื้อ

วันที่ : 6 สิงหาคม 2563
คอนโดฯ Super Luxury ดีมานด์ไม่แพ้โครงการแนวราบ
          คอนโดฯ Super Luxury ค้างระบบครึ่งแสนล. รายใหญ่หยุดพัฒนาโครงการ จับตาโควิดสงบ เศรษฐีพร้อมควักเงินซื้อ

          จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก และส่งผลกระทบไปยังทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ในอนาคตอาจจะต้องเผชิญกับความปกติแบบใหม่หรือ 'New Normal' จากพฤติกรรม ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แทบทุกองค์กรสนับสนุนให้พนักงาน Work from Home เพื่อความปลอดภัยบุคลากร ลดความเสี่ยง และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายคนมองว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งอยู่อาศัยกันอยู่ในปัจจุบันมีขนาดเล็กและคับแคบเกินไป เมื่อต้องกักตัวในพื้นที่ที่จำกัดเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มอยากได้ห้องพักขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งคอนโดมิเนียมหลายโครงการในช่วงที่ผ่านมา เริ่มผลิตห้องพักที่ขนาดเล็กลงเพื่อให้ราคาขายต่อยูนิตลดลง เพื่อที่จะขายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

          อสังหาริมทรัพย์

          จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก และส่งผลกระทบไปยังทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ในอนาคตอาจจะต้องเผชิญกับความปกติแบบใหม่หรือ 'New Normal' จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งเนื่องจากในช่วง ที่ผ่านมา แทบทุกองค์กรสนับสนุนให้พนักงาน Work from Home เพื่อความปลอดภัยบุคลากร ลดความเสี่ยง และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายคนมองว่าปัจจุบัน คอนโดมิเนียม ซึ่งอยู่อาศัยกันอยู่ในปัจจุบันมีขนาดเล็กและคับแคบเกินไป เมื่อต้องกักตัวในพื้นที่ที่จำกัดเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มอยากได้ห้องพักขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งคอนโดมิเนียมหลายโครงการในช่วงที่ผ่านมา เริ่มผลิตห้องพักที่ขนาดเล็กลงเพื่อให้ราคาขายต่อยูนิตลดลง เพื่อที่จะขายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นราคาที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น ขนาดเริ่มต้นที่ประมาณ 22 ตารางเมตร (ตร.ม.) แต่คาดการณ์ว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง คอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอนอาจต้องมีขนาดประมาณเริ่มต้น ที่ประมาณ 35 ตร.ม.ขึ้นไป เพื่อที่จะไม่รู้สึกอึดอัดและคับแคบจนเกินไป

          ขณะเดียวกัน ภายในห้องพักจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร นอน ทำงาน และออกกำลังกาย เป็นต้น และสังคมจะกลายเป็นสังคมที่อยากได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ในขณะที่จะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่พื้นที่ส่วนกลางของโครงการก็ถูกปิดห้ามใช้พื้นที่ ในขณะที่ทุกคนยังคงต้องการใช้พื้นที่ แต่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตหลายโครงการอาจจะมีการปรับพื้นที่ส่วนกลางให้เล็กลง แต่เพิ่มขนาดห้องพักให้กว้างขึ้น หรือนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาปรับใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้น้อยที่สุด รวมถึงการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) ซึ่งอาจจะมีการเข้ามาปรับใช้กับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในอนาคตมากขึ้น

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างได้รับคำชมจากนานาประเทศทั่วโลกว่า มีการรับมือกับการแพร่ระบาดรวมถึงมีมาตรการดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อาจส่งผลให้หลายประเทศมองว่า ประเทศไทยจะเป็นบ้านหลังที่สองที่ปลอดภัยของพวกเขา  และทราบกันดีว่า ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าชาวจีน ได้เข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดคอนโดมิเนียมในประเทศไทยในช่วง ที่ผ่านมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ค่อนข้างมีมาตรฐานของประเทศไทย อาจเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญให้กำลังซื้อเหล่านั้นมีความเชื่อมั่น และมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง กำลังซื้อต่างชาติอาจกลับมาคึกคักอีกครั้ง

          คอนโดฯราคาขายกว่า 2.5 แสนต่อ ตร.ม.ยังเติบโต

          สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในระดับ Super Luxury ในระดับราคาขายเฉลี่ยมากกว่า 250,000 บาทต่อ ตร.ม. ณ สิ้นปี ไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ.2563 มีการ กระจายตัวอยู่ในโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่าง การขายทั่วกรุงเทพฯประมาณ 35 โครงการ จำนวน 6,027 ยูนิต มูลค่าการพัฒนาอยู่ที่ประมาณ 163,370 ล้านบาท ซึ่งสามารถขายไปแล้วประมาณ 4,050 ยูนิต หรือคิด เป็น 67% ของอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด เหลือขายประมาณ 1,977 ยูนิต หรือคิดเป็น 33% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 53,590 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาดูดซับหมดภายใน 24 เดือน

          ส่วนใหญ่มีการพัฒนาอยู่ในพื้นที่ CBD ของกรุงเทพฯ คือในพื้นที่ย่านสุขุมวิท ชิดลม ทองหล่อ ราชดำริ หลังสวน สีลม สาทร และริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น และส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาห้องพักขนาดใหญ่ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับบน ที่ตลาดไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และยังมีกำลังซื้อของเศรษฐีต่างชาติที่ยังคงสนใจในอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับบน ในกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ยังมีอุปทานคงค้างอยู่ในตลาดอีกกว่า 30%

          คอนโดฯ Super Luxury ดีมานด์ไม่แพ้โครงการแนวราบ

          จากอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด ประมาณ 6,027 ยูนิต พบว่า ผู้ประกอบการพัฒนาเป็นประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุดจำนวน 2,581 ยูนิต หรือคิดเป็น 42.8% โดยรองลงมาเป็นประเภท 2 ห้องนอน  2,509 ยูนิต หรือคิดเป็น 41.6% และรูปแบบ 3 ห้องนอนขึ้นไปที่ประมาณ 901 ยูนิต หรือประมาณ 14.9%

          และจากการสำรวจพบว่า รูปแบบสตูดิโอเป็นประเภทห้องมีอัตราการขายที่สูงที่สุดที่ประมาณ 77.7% เนื่องจากอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด เพียงแค่ประมาณ 36 ยูนิตเท่านั้น รองลงมาคือ ประเภท 2 ห้องนอน พบว่าขายไปแล้วประมาณ 1,750 ยูนิต หรือคิดเป็น 69.7% จากอุปทานทั้งหมด 2,509 ยูนิต และ ประเภท 3 ห้องนอนขึ้นไป ที่สามารถขายไปแล้วประมาณ 1,676 ยูนิต หรือคิดเป็น 66.1%

          ซึ่งทั้งจากขนาดห้องพักมีขนาดใหญ่ ไม่แออัด สามารถพักอาศัยได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่รู้สึกว่า คับแคบจนเกินไป บวกกับรูปแบบโครงการที่มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของความหรูหราและความเป็นส่วนตัว ซึ่งคอนโดมิเนียมในระดับ Super Luxury ในประเทศไทยส่วนใหญ่ เน้นความเป็นส่วนตัว ยูนิตที่ค่อนข้างน้อย ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ที่ถือว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน และที่สำคัญ ราคาขายที่ยังคงถูกเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมในหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ค่อนข้างมีมาตรฐานของประเทศไทย อาจเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญให้กำลังซื้อ เหล่านั้นมีความเชื่อมั่น และมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สิ้นสุดลง กำลังซื้อต่างชาติอาจกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมในระดับ Super Luxury ในระดับราคาขายเฉลี่ยมากกว่า 250,000 บาทต่อตร.ม. จะเป็นอีกตัวเลือกที่ดีของกำลังซื้อชาวไทยและต่างชาติ ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใจกลางเมือง ที่นอกเหนือจากตลาดแนวราบ

          ถึงแม้ว่า จะมีโครงการในระดับนี้บางโครงการ ในช่วงที่ผ่านมามีการยกเลิกแผนพัฒนา ซึ่งแม้โครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างเช่นสุขุมวิท หรือบางโครงการมีการเลื่อนการเปิดตัวออกไป เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า ปัจจัยแวดล้อมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนในขณะนี้ จากการรวบรวมพบว่า โครงการ Super Luxury ที่เลื่อนไปมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่กระจุกตัวอยู่ในทำเลสุขุมวิท ซึ่งมีมูลค่ากว่า 50% ของโครงการ ที่เลื่อนเปิดโครงการ เนื่องจากทางผู้ประกอบการไม่ต้องการก่อหนี้ระยะยาว ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังไม่ชัดเจนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงขาลง

          แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็พบว่า มีโครงการคอนโดมิเนียมในระดับ Super Luxury หลายโครงการที่ประกาศปิดการขาย 100% หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีการนำห้องชุดที่ยังเหลือขาย มาจัดโปรโมชัน ซึ่งพบว่าค่อนข้างได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดยังคง มีกำลังซื้อเพียงแค่รอเวลา ราคา และจังหวะที่เหมาะสม

          RML เลื่อนเปิดคอนโดฯ ลักชัวรี สุขุมวิท 38 มูลค่า 7,000 ลบ.

          นายไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการดำเนินการโครงการใหม่ว่า จะเป็นไปอย่างรอบคอบตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบริษัทได้เลื่อนการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ออกไป จากเดิมวางแผนการเปิดโครงการคอนโดฯระดับลักชัวรีใหม่ 1 โครงการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท บนถนนสุขุมวิท 38 เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในตลาดอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุน โดยบริษัทมีการปรับลดการลงทุน เพื่อรอจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค

          "แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน และทำให้ลูกค้าตัดสินใจยากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าภาพรวมสถานการณ์ตลาดอสังหาฯจะปรับตัวดีขึ้น หลังวิกฤตนี้คลี่คลายลง ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัย ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติคาดว่าจะกลับมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะชาวจีน ที่มองหาบ้านหลังที่ 2 ในประเทศที่มีความปลอดภัยและสาธารณสุขที่ดี ทำให้ ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

          'สิงห์ เอสเตท'ยืดเวลาโอนห้องชุดให้กับลูกค้าต่างชาติ

          นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ "S" กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดค่อนข้างเงียบ และกระทบต่อยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดฯประมาณ 10-15% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน ประกอบกับลูกค้าที่ซื้อไปแล้วยังต้องการมาโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง มีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางมารับโอนได้แต่ก็ได้ยืดระยะเวลาออกไป

          คอนโดฯสาทร โควตาต่างชาติยังไม่เต็ม 49%

          แหล่งข่าวทีมฝ่ายขายโครงการคอนโดมิเนียมย่านสาทร ระบุถึงภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในบริเวณนี้ ว่า ช่วงที่ผ่านมาผลจากโควิด-19 ก็อาจมีผลกระทบต่อ ยอดขาย รวมถึงลูกค้าชาวจีนที่ซื้อห้องชุดยังไม่สามารถเข้ามารับโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่แนวโน้มลูกค้าจีน ไม่มีสัญญาณที่จะทิ้งห้องชุด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการเก็บเงินดาวน์ที่สูงถึง 30% และมีการทยอยโอนเงินมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาคอนโดมิเนียมในโซนสาทร สีลม ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

          "ในส่วนของโครงการคอนโดฯในโซนนี้ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้านั้น พบว่า กลุ่มของคนไทยไม่มีปัญหา แต่กลุ่มลูกค้าชาวจีน และฮ่องกงนั้น ตอนนี้ เรื่องการเปิดน่านฟ้า ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ละโครงการก็พยายามรักษาลูกค้า และจูงใจให้ลูกค้าโอนห้องชุด เช่น ฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปีแรก ยืดการโอนออกไป 3 เดือน แทนการยึดห้องชุด ซึ่งไม่เป็นผลดี จะทำให้สต๊อกในระบบเพิ่มขึ้นอีก หรือในบางโครงการ ลูกค้าจะโอนเงินมาครบ โดยให้ทางโครงการดำเนินการเรื่องการโอนห้องชุดไว้ก่อน และเมื่อมีการ เปิดน่านฟ้าแล้ว ก็อาจจะเข้ามาตรวจและเซ็นสัญญา ให้เรียบร้อย แต่ก็มีบางสำนักงานกรมที่ดินบางเขต ที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ผ่านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่บางเขตอาจทำไม่ได้ ลูกค้าต้องมาดำเนินการด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินพบว่า คอนโดฯในเส้นสาทร การถือครองของลูกค้าต่างชาติยังไม่เต็มเพดาน 49 เปอร์เซ็นต์"

          เปิด 3 ทำเลคอนโดฯ ลักชัวรีแพงที่สุดในยุค ศก.และโควิด

          นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธาน และผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงตลาดกลุ่มคอนโดฯ ระดับลักชัวรีว่า เป็นตลาด ที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะเป็นโครงการที่อยู่ในทำเลที่ถือว่าดีที่สุดใน Prime Central Bangkok (PCB) อีกทั้ง ที่ดินที่จะสามารถพัฒนาโครงการในลักษณะนี้แทบจะไม่มีแล้ว

          ลูกค้ากลุ่มลักชัวรี ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านกำลังซื้อ หรือสถานะทางการเงิน เพียงแต่มีเหตุผลในการเลือกซื้อมากขึ้น เช่น ราคาต่อตารางเมตรสูงมากแบบไม่มีเหตุผลก็อาจไม่ตัดสินใจซื้อ เงื่อนไขทางการเงิน หรือฟังก์ชันการใช้งานที่ยังไม่ตอบโจทย์ เป็นต้น และเป็นการซื้อที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือ Yield แต่เป็น การซื้อลงทุน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และเก็บเป็นทรัพย์สิน (Asset) ไว้ในอนาคต ที่จะมีมูลค่าเพิ่ม (Capital Gain) ในอนาคตอย่างแน่นอน

          สำหรับ 3 ทำเลคอนโดฯลักชัวรีที่น่าอยู่และแพงที่สุดในขณะนี้ ได้แก่

          1. ย่านวิทยุ-หลังสวน ปัจจุบันราคาเฉลี่ยของที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1,500,000-3,100,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาคอนโดฯเฉลี่ยอยู่ที่ 230,000-700,000 บาทต่อ ตร.ม.

          2. ย่านราชดำริ-สารสิน  ปัจจุบันราคาเฉลี่ยของที่ดินอยู่ที่ประมาณ 2,000,000-3,900,000 บาทต่อ ตารางวา ขณะที่ราคาคอนโดฯเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000-370,000 บาทต่อ ตร.ม.

          3. ย่านทองหล่อ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยของที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1,200,000-1,800,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาคอนโดฯเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000-430,000 บาทต่อตร.ม.

          "ปัจจุบันแปลงที่ดินที่สามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใน 3 ทำเลดังกล่าวมีอยู่อย่างจำกัด ราคาที่ดินต่อ ตารางวาสูงขึ้นแตะระดับ 2 ล้านบาทขึ้นไป ล่าสุดที่ดินบริเวณถนนสารสินใกล้กับ สวนลุมพินี ได้มีการซื้อขายในราคาที่เป็นสถิติสูงสุดที่ 3.9 ล้านบาทต่อตารางวา คาดว่าถ้ามีการพัฒนาเป็นโครงการคอนโดฯในรูปแบบขายขาด (Freehold) จะมีราคาขายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 450,000 บาทต่อ ตร.ม. และมีจำนวนยูนิตที่จำกัด"

          การซื้อขายที่ดินในย่าน PBD ปัจจุบัน มีที่ดินเหลืออยู่น้อยมากและเป็นที่ดินที่มีอยู่เฉพาะ ไม่สามารถหาได้จากที่อื่นอีกแล้ว ปัจจุบันราคาซื้อขายสูงถึงตารางวาละ 2-2.5 ล้านบาท แต่ราคาประเมินอยู่ที่ 1 ล้านบาท การซื้อขายและราคาที่ดินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวในอยู่ขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเบรกการลงทุนใหม่ ความต้องการใช้ที่ดินจึงลดลง หากเจ้าของที่ดินไม่จำเป็นต้องรีบขาย ก็จะไม่มีการปรับราคาลงมา หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นการให้เช่าระยะยาวแทน

          ทั้งนี้ ในย่าน PCB จะมีโครงการที่พัฒนาใน 2 แบบ คือ เช่าซื้อระยะยาว (Leasedhold) และแบบขายขาด (Freehold) โดยราคาซื้อขายต่อตร.ม.ของโครงการ ที่เป็น Leasedhold จะอยู่ในสัดส่วน 35-45% ของราคาที่เป็น Freehold อย่างไรก็ตาม ในบางโครงการที่เป็น Leasedhold ราคาขายต่อ ตร.ม.อาจสูงใกล้เคียงกับ Freehold แต่จะถูกทดแทนด้วยคุณภาพของวัสดุที่ใช้

          "ในสถานการณ์ขณะนี้ ทุกประเทศมีปัญหาเหมือนกันหมด ทำให้ไม่มีใครเอาเงินเข้ามาซื้อ เพราะต้อง แก้ปัญหาของตัวเองก่อน ภาคเศรษฐกิจและอสังหาฯ ทุกประเภทต้องหยุดชะงัก รอเวลาถึงจุดต่ำสุด คาด ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือไตรมาสแรกของปี 64 ซึ่ง เมื่อถึงเวลานั้น ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ของตัวเองในอนาคต ก็จะยังชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป ขณะที่กำลังซื้อต่างประเทศจะยังคงไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ ธนาคารก็ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะมีความกังวลกับภาวะหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น และตราบใดยังไม่มีวัคซีน ความกังวลก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง"

          อนึ่ง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม - กันยายน)(ข้อมูลล่าสุด) คนต่างด้าวถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จำนวน 9,427 หน่วยเพิ่มขึ้น 1.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันตก ภาคอื่น นอกจากนี้มีจำนวนหน่วยลดลง ทุกภาค โดยมีมูลค่า 35,987 ล้านบาท ลดลง 5.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          ทั้งนี้ คนต่างด้าวที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในประเทศไทย มากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน (มีสัดส่วนถึง 57.6%) รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ โดยจีนเป็นสัญชาติที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในประเทศไทย มากที่สุด ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2562 โดยมีจำนวน 5,430 หน่วย มูลค่า 20,117 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 3.7 ล้านบาท/หน่วย และมีพื้นที่ห้องชุดรวม 184,003 ตร.ม. หรือเฉลี่ย 24.4 ตร.ม./หน่วย

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตา คือ เรื่องของมาตรการรัฐบาลเกี่ยวกับการเปิดรับชาวต่างชาติเข้าไทย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในทั่วโลก ยังไม่สู้จะดี ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลก หรือกำลังซื้อจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนอสังหาฯในไทย ก็อาจจะชะลอ และแนวโน้มการลงทุนซื้ออสังหาฯ หรือการมีที่อยู่อาศัยในไทยของต่างด้าว กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาพิจารณาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่กว้างมากขึ้น ซึ่งอาจจะรวมถึงคอนโดฯในขนาดพื้นที่มาก โครงการแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ ของการดูแลและป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีคำถาม จะมั่นใจได้แค่จะไม่เกิดการระบาด โควิด-19 รอบสอง สุดท้ายบทสรุป ตราบใดยังไม่มีวัคซีน โลกทั้งใบก็อยู่ในความวิตกกับโควิด-19 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ