ผวาต่างชาติฮุบลูกหนี้ไทย พุ่งเป้าโรงแรมเมืองภูเก็ต-พัทยา
Loading

ผวาต่างชาติฮุบลูกหนี้ไทย พุ่งเป้าโรงแรมเมืองภูเก็ต-พัทยา

วันที่ : 27 สิงหาคม 2563
ต่างชาติ หวังฮุบธุรกิจโรงเเรม-ท่องเที่ยว
          ธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยวเข้าตาจน เจอปัญหาขาดสภาพคล่องหนัก เจ้าหนี้แบงก์ต่างชาติสบช่องบีบ ยึดหลักประกัน เผยทุนต่างชาติเปิดเกมไล่ซื้อธุรกิจโรงแรมใกล้หมด ลมหายใจ "KTAM" เร่งศึกษาตั้งกองทรัสต์ซื้อ ธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ชี้เป็นแนวทาง ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีเงินหมุนเวียน วงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยววอน "คลัง-แบงก์ชาติ" ตั้ง กองทุนเข้าช่วย หวั่นทรัพย์สินหลุดมือไปอยู่กับ ต่างชาติ

          แบงก์จีนบีบยึดหลักประกัน

          แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้หลายฝ่าย มีความกังวลว่า ธุรกิจไทยที่ประสบผล กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสีย อาจจะถูกต่างชาติฉวยโอกาสเข้ามาฮุบกิจการไปเหมือนกับช่วงที่เกิดวิกฤตเมื่อปี 2540 โดยเฉพาะรอบนี้ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยดูแลตรงนี้ ด้วยการตั้งกองทุนขนาดใหญ่ระดับชาติ ขึ้นมา เพื่อเข้าไปรับซื้อหนี้มาไว้กับกองทุน เพื่อไม่ให้กิจการหลุดมือไปอยู่กับต่างชาติ

          "ตอนนี้มีกรณีลูกหนี้ 2 รายใหญ่ ๆ ที่มีเจ้าหนี้เป็นแบงก์จีน เป็นโครงการใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเสร็จยังไม่ทันเปิดโครงการก็จะกลายเป็นหนี้เสีย กับอีกรายเป็นธุรกิจธีมปาร์ก แหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต ที่มีการกู้เงินลงทุนขยายโครงการกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากไม่มีท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง แต่ทั้งสองรายประสบปัญหาลักษณะเดียวกันคือ แบงก์เจ้าหนี้ ไม่เปิดทางปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือ ลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้กำลังจะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และหากภาครัฐไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยก็คงหลุดไปเป็นของต่างชาติแน่"

          แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีดังกล่าวแบงก์มีแนวโน้มว่าต้องการจะยึดหลักประกันที่มีมูลค่าสูง มากกว่าจะช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ โดยแบงก์ไม่ยอมเจรจากับลูกหนี้ โดยที่ผ่านมาภาครัฐในระดับนโยบายมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือกันหลายครั้ง และมีการเสนอเรื่องไปให้ ธปท.พิจารณาช่วยเหลือ ในลักษณะเดียวกับที่ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) มาช่วยเหลือธุรกิจ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากภาครัฐ

          ทุนต่างชาติจ้องซื้อธุรกิจไทย

          ด้านนางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นความต้องการเข้ามาซื้อกิจการ จากที่ราคาทรัพย์สินปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจจากผลกระทบโควิด-19 ผ่านทั้งสถาบันในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เม็ดเงินส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนในประเทศค่อนข้างจำกัด

          ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์พบว่า มีลูกค้าหลายรายทั้งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง หรือได้รับผล กระทบทางอ้อม เข้ามาปรึกษาวิธีการจัดโครงสร้างธุรกิจในช่วงเวลานี้ อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งวิธีการระดมทุนไม่จำเป็นต้องตั้ง กองทรัสต์ โดยสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ

          "หลาย ๆ ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังมีความแข็งแกร่ง ก็เริ่มจัดทัพภายในเพื่อรอลงทุนในธุรกิจที่ยังมีศักยภาพเติบโต เพียงแต่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างโควิด-19" นางสาววีณากล่าว

          อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าดีลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจะยังไม่สามารถได้ข้อสรุปในปีนี้ เนื่องจากยังต้องรอดูสถานการณ์ของธุรกิจหลังจบมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อีกครั้ง

          ยักษ์ใหญ่ไล่ช้อนซื้อโรงแรม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เดซติเนชั่น กรุ๊ป จำกัด บริษัทเพื่อการลงทุนและบริหารโรงแรม ซึ่งมีประสบการณ์การเข้าซื้อโรงแรมแล้วนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าและขายกิจการในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ได้ตั้งบริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล จำกัด เพื่อเตรียมเข้าซื้อกิจการโรงแรมในประเทศไทย โดยร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST SEC และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด มีเป้าหมายระดมเงินทุนจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ภายใต้ชื่อ DESCAP1 Private Equity Trust มูลค่า 2,500 ล้านบาท

          นายเจมส์ แคพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและแคนาดา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง มา 2-3 ปีที่ผ่านมา และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนในธุรกิจโรงแรมของไทยเพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจโรงแรมเช่นเดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา

          สำหรับกองทุน DESCAP1 Private Equity Trust กลุ่มเป้าหมายผู้ลงทุน คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่สนใจลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดย DESCAP1 ซึ่งเป็นกองทุน แรกนี้มีมูลค่ารวม 2,500 ล้านบาท การระดมเงินดังกล่าวนี้มีเป้าหมายเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรมมาบริหารต่อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินทรัพย์เป็นหลัก มีระยะเวลาลงทุน 5 ปี และขยายเวลาลงทุนได้อีกไม่เกิน 2 ปี มีผลตอบแทนเป้าหมาย ที่ 15% ต่อปี

          โดยมีเป้าหมายเข้าซื้อกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาว ขนาด 200 ห้องพักขึ้นไป ที่อยู่ใน 4 เมืองท่องเที่ยวหลัก คือ กรุงเทพฯ, พัทยา, หัวหิน และภูเก็ต ตั้งเป้าลงทุน 12-15 แห่งในอีก 18 เดือนข้างหน้า

          KTAM ตั้งกองทรัสต์กว้านซื้อ

          ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือพันธมิตรเพื่อศึกษาการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อซื้อธุรกิจโรงแรมเข้ามา บริหารในพอร์ต ซึ่งเทรนด์ลักษณะนี้จะมีมากขึ้น และถือเป็นเรื่องที่ดีในการ เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจที่ไม่มีสภาพคล่อง แต่คงต้องเลือกซื้อโรงแรมที่มีความหลากหลายระดับรวมกันเข้ามาใส่ในพอร์ต เนื่องจากแต่ละเกรดจะดูแลทรัพย์สินไม่เหมือนกันและมาร์จิ้น ต่างกัน

          เสนอ ก.ล.ต.แก้ระเบียบลงทุน

          อย่างไรก็ดี การตั้งกองทรัสต์คงต้องใช้เวลาในการพิจารณาโครงสร้างที่เหมาะสมให้กับผู้ลงทุน เนื่องจากในระยะแรก การซื้อโรงแรมที่มีปัญหาจากผลกระทบ โควิด-19 อาจจะยังไม่มีรายได้เข้ามาทันที ซึ่งเรื่องนี้เคยเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า หากจะช่วยภาคธุรกิจในภาวะไม่ปกติ คงต้องแก้กฎระเบียบให้สามารถดำเนินการได้สะดวกขึ้น

          "เพราะตามระเบียบ ก.ล.ต.กำหนดไว้ว่า ทรัพย์สินกองทรัสต์เข้าไปลงทุนจะต้องมีรายได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่ขาดสภาพคล่อง เมื่อนำมาเข้าในกองก็จะลำบากในการหารายได้ช่วงแรก ๆ" นางชวินดากล่าว

          นางชวินดากล่าวด้วยว่า สำหรับการตั้งกองโรงแรมถ้าซื้อมาในราคาที่เหมาะสมก็อาจจะดีในอนาคต แต่ถ้าเกิดซื้อในราคาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดความผันผวนต่อรายได้ของกองทุนค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันต้องพิจารณาความต้องการในตลาดด้วย ซึ่งตอนนี้คาดการณ์ค่อนข้างลำบาก ขึ้นอยู่กับโครงสร้างการจัดตั้งกองทุน

          โอกาสลงทุนของคนมีเงิน

          นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจบริการบริหารความมั่งคั่ง ยังไม่เห็นการจัดตั้งกองทรัสต์ลักษณะนี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศเริ่มเห็นกองทรัสต์ในลักษณะที่ระดมทุนในธุรกิจที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 เช่น กองทุน Silver Lake ที่เข้าซื้อกิจการ SoftBank เป็นต้น

          "โดยคอนเซ็ปต์เราเชื่อว่ากองทรัสต์ประเภทนี้เกิดขึ้นได้ เพราะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากตัวธุรกิจเอง กองทุนลักษณะนี้ก็ถือเป็นโอกาสลงทุนสำหรับผู้ที่มีเงิน" นางสาวลลิตภัทรกล่าว

          ด้านนางสาวพิจิตตรา ไตรรัตนธาดา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่มีผู้สนใจตั้งกองทรัสต์เพื่อระดมทุนเข้าซื้อกิจการโรงแรม มองว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการจัดตั้งกองทรัสต์ ทรัพย์สินที่จะเข้าไปซื้อ ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีต้องเป็นบวก ซึ่งหากนับรวมงบฯปีนี้ของกลุ่มโรงแรมก็คาดว่าจะติดลบ จึงไม่สามารถจัดตั้งกองทรัสต์ได้

          "ช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายเข้ามาติดต่อเพื่อให้จัดตั้งกองทรัสต์ แต่ส่วนใหญ่ก็อยากขายได้ในราคาสูง ซึ่งในภาวะที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การระดมเม็ดเงินจำนวนมากจากนักลงทุนจึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงในภาวะตลาดเป็นขาลง การระดมทุนจำนวนมากก็เป็นไปได้ยาก และจากการสำรวจความต้องการ นักลงทุนพบว่า ลูกค้าไม่มีความต้องการลงทุนในกองทรัสต์โรงแรม เพราะกองทรัสต์ที่ธนาคารเตรียมตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 ก็ได้ชะลอแผนออกไปไม่มีกำหนด" นางสาวพิจิตตรากล่าว

          ขอแสน ล.ตั้งกองทุนท่องเที่ยว

          นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ไวรัส โควิด-19 สร้างผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในทุกเซ็กเตอร์ และมี ผู้ประกอบการราว 20-30% ได้ปิดกิจการถาวรและเลิกจ้างงานไปแล้ว เนื่องจากขาดสภาพคล่องไม่มีรายได้เข้าเป็นเวลา 6-7 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนตามนโยบายรัฐบาล

          ทาง สทท.จึงเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเดินต่อไป โดยโมเดลกองทุนนี้ทางภาคเอกชนเสนอว่า ให้รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่เดือดร้อน และไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน หรือหากผู้ประกอบการต้องการผู้ร่วมทุนเข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินก็ให้กองทุนเข้ามาร่วมลงทุนได้ เมื่อธุรกิจสามารถเดินต่อไป กองทุนก็ขายหุ้นคืน เป็นต้น

          "ตอนนี้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย แต่เชื่อว่าใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งบริษัท เพื่อไล่ซื้อกิจการที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องไปเพื่อรอวันขายต่อ หากรัฐบาลปล่อยให้เป็นเช่นนี้ก็เท่ากับ เปิดทางให้ทุนต่างชาติใช้โอกาสนี้ช้อนซื้อสินทรัพย์ดี ๆ ในราคาที่ต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นแล้วที่เข้ามาซื้อโรงแรมในราคา 2,000 ล้านบาท เอามาบริหารต่อ 2-3 ปี พอเศรษฐกิจดี เขาขายต่อในระดับราคาหลักหมื่นล้าน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ