พิษโควิด-19 ซัดอสังหาฯปี 63 หดตัว 27% คาดใช้เวลาฟื้นตัว 4-5 ปี
Loading

พิษโควิด-19 ซัดอสังหาฯปี 63 หดตัว 27% คาดใช้เวลาฟื้นตัว 4-5 ปี

วันที่ : 16 กรกฎาคม 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ชี้ พิษโควิด ฉุด ความเชื่อมั่นอสังหาฯ วูบ
          อสังหาริมทรัพย์

          ประเมินพิษโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจปี 63 ทรุดหนัก คาดจีดีพีติดลบ 8.8-12 % หากไม่มีการระบาดรอบสอง ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยประเมิน อสังหาฯติดลบ 27% คาด ใช้เวลาฟื้นตัวอีก 4-5 ปี ด้านศูนย์ข้อมูลเตรียมประเมินสถานการณ์ใหม่ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดต่ำกว่าค่ากลางติดต่อกัน 5 ไตรมาส

          วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งได้ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก โดยในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการ ตัดสินใจซื้อเป็นลำดับแรกๆ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้มีแนวโน้มหดตัว 27% เหลือเพียง 4.2 แสนล้านบาท จากโควิด-19 คาดมียูนิตเปิดใหม่เพียง 72,000 ยูนิต ลดลงเกือบ 40% โดยต้องใช้เวลา 4-5 ปี ที่ตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วง ก่อนเกิดโควิด-19

          ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ถูกบั่นทอนอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้บริโภคไทยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะ หดตัวอย่างรุนแรง (Deep Recession) ถึง 8.8% กรณีที่ไม่มีการระบาดรอบ 2 แต่หากมีการระบาดระลอก 2 ก็เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงกว่านี้ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรค คาดว่าจะสามารถผลิตและนำมาใช้กับคนได้ในปี 2564

          ยอดพรีเซลโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ปรับ ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการ LTV นอกจากนี้ผู้บริโภคต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ทำให้ไม่สามารถซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไทยได้ ส่งผลให้ยอดจองเปิดใหม่ (Pre-sale) ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 20% ในไตรมาสที่ 4/2562 มาอยู่ที่ 15% ในไตรมาสที่ 1/2563 และมีโอกาสลดต่ำลงเหลือ 12% ในไตรมาสที่ 2/2563

          โดยประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ มูลค่าลดลง 27% จาก 5.7 แสน ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 4.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 2.4 แสนล้านบาท ติดลบ 24% ส่วนคอนโดมิเนียม 1.8 แสนล้านบาท ติดลบ 30% ส่งผลให้สต๊อกเหลือขายในภาพรวม มีโอกาสขยายตัว 5% ขึ้นไปแตะ 185,000 ยูนิต โดยทำเลที่มีที่อยู่อาศัย เหลือขายมากที่สุด 3 อันดับแรก แยกตามประเภท ได้แก่ คอนโดมิเนียม ทำเลใจกลางเมืองราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 10,700 ยูนิต บางนา ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เหลือขาย 9,800 ยูนิต พระราม 2 ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เหลือขาย 6,900 ยูนิต

          บ้านเดี่ยว ทำเลนนทบุรี-บางบัวทอง ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 7,000 ยูนิต รองลงมาย่านรังสิตปทุมธานี ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 5,100 ยูนิต อันดับ 3 ย่านบางนา ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 3,700 ยูนิต บ้านแฝด อันดับ 1 คือย่านนนทบุรี-บางบัวทอง ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 4,200 ยูนิต รองลงมา รังสิต-ปทุมธานี ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 2,200 ยูนิต และย่านพระราม 2 ราคา 3-10 ล้านบาท เหลือขาย 1,600 ยูนิต ส่วนทาวน์เฮาส์ เหลือขายมากที่สุดระดับ ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ย่านรังสิต-ปทุมธานี เหลือขาย 11,700 ยูนิต รองลงมาย่าน นนทบุรี-บางบัวทอง ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เหลือขาย 11,600 ยูนิต และย่านบางนา ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เหลือขาย 7,700 ยูนิต

          แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะปรับลดการเปิดโครงการใหม่ลงเกือบ 40% จากการประกาศแผนลงทุนในช่วงต้นปีที่จำนวน 195,500 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 139,100 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 56,400 ล้านบาท ปัจจุบัน ปรับแผนลดเหลือ 137,800 ล้านบาท และให้น้ำหนักกับการลงทุนโครงการแนวราบจำนวน 137,800 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 21,000 ล้านบาท

          "โควิด-19 ทำให้ความตั้งใจซื้อที่อยู่อาศัยหายไปราว 1 ใน 3 โดย 80% ของผู้บริโภคเลื่อนการซื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับ สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการลงทุนใน อสังหาฯขณะนี้ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก ซึ่งทางออกของ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การเลื่อนการก่อสร้างออกไป รอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและคาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ถึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19"

          ผู้บริโภคหันซื้ออสังหาฯผ่านออนไลน์

          นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ยังพบ 3 พฤติกรรมหลักๆ ของผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร (New Normal) ได้แก่ เปลี่ยนช่องทางการซื้อที่อยู่อาศัยผ่านทางออนไลน์ โดยในช่วงเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 40% ทำให้กลายเป็นช่องทางหลักของผู้พัฒนาฯ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยยอมอยู่ไกลกว่าเดิม เพื่อรองรับกิจวัตรประจำวัน ที่ต้องใช้เวลาในที่อยู่อาศัยนานขึ้น เช่น การ Work From Home และสุดท้ายผู้บริโภคหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางแบบมีพื้นที่ส่วนตัว เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

          "ผู้พัฒนาอสังหาฯ ควรพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ การนำเทคโนโลยี Virtual Visits มาสนับสนุนการซื้อ อสังหาฯ ผ่านทางออนไลน์ โดยสามารถชมโครงการได้อย่างเสมือนจริง ปรับแผนมาพัฒนาบ้านแนวราบมากขึ้น เช่น บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าคอนโดมิเนียม ออกแบบคอนโดมิเนียมในบางทำเล ให้มีห้อง One Bed Plus แทน Studio มากขึ้น ตลอดจนการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางใหม่ให้สามารถ นั่งแยกกัน และติดตั้งอุปกรณ์ Touchless เพื่อลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะสัมผัสกันให้น้อยที่สุด"

          ศูนย์ข้อมูลฯจ่อปรับประมาณการอสังหาฯใหม่

          ด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แม้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อที่อยู่อาศัยใน ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมานับว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจริงๆ มีงานค่อนข้างมั่นคง กลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และกลุ่มที่ต้องการลงทุนระยะยาว เนื่องจากราคาปรับ ลดลงมากประกอบกับแคมเปญแจกแถมอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการเพิ่มให้ นอกจากนี้ยังพบว่าจากการที่ถูกล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้กลุ่มที่เดิมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ หลายเจเนอเรชัน มาซื้อบ้านแยกครอบครัว เพื่อไม่ให้ อยู่กันแออัดจนเกินไป ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ไม่มากนัก หรือกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน เชื่อว่ากลุ่มนี้อาจได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารยาก

          จากแนวโน้มของกลุ่มผู้ซื้อบ้านในช่วงนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้เชื่อว่าหากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการ LTV จะทำให้มีการซื้อบ้านหลังที่ 3 ที่ 4 มากขึ้น เพราะไม่มีเงื่อนไข และหากมีส่วนลดด้านภาษีต่างๆ เพิ่มเติมจะทำให้กลุ่มนี้หันมาซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันต่ำมาก ประกอบกับการ ทำแคมเปญลดราคาบ้านลงอย่างมาก ทำให้กลุ่มนี้ต้องการโยกเงินไปลงทุนซื้อบ้านแทน

          "การที่ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าเพื่อเร่งระบายสต๊อก สร้างกระแสเงินสดเป็นการบริหารสภาพคล่อง อย่างหนึ่ง หากขายได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีเงินมากลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ หากขายไม่ได้จะยิ่งเป็น ความเสี่ยงเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง สินค้าที่ลดราคาในปัจจุบัน มักจะไม่ได้ลดเท่ากันทั้งหมดทุกยูนิต ส่วนใหญ่ยูนิต ที่ลดเยอะมักมีข้อด้อย อาทิ ห้องไม่ดี ตำแหน่งหรือ ทำเลไม่ดี ตามหลักการดีมานด์ ซัปพลาย เมื่อสินค้าเยอะก็ต้องลดราคา เมื่อราคาอยู่ในระดับที่ผู้บริโภครับได้ หรือน่าสนใจเค้าก็จะซื้อ เป็นกลไกตลาด นอกจากนี้ สินค้าที่นำมาลดส่วนใหญ่เป็นหน่วยเหลือขายภายในโครงการที่เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย 10-30% ซึ่งเป็น กำไรแล้ว ผู้ประกอบการได้ขายทุนคืนไปแล้ว การลดราคาจึงไม่กระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก" ดร.วิชัย กล่าว

          ดร.วิชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 แนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะต้องจับตามอง อย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งเป็นกำลังซื้อที่อั้นมาจากช่วงล็อกดาวน์ทำให้ยอดขายของ ผู้ประกอบการหลายรายปรับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องมาลุ้นว่ากลุ่มคนที่กำลังซื้อจะถูกดูดซับออกไปหมดตั้งแต่ไตรมาส 2 แล้วหรือไม่ เพราะกำลังซื้อใหม่เชื่อว่าจะหาได้ยากมากขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจ อาจทำให้แนวโน้มในครึ่งปีหลังอาจจะ ไม่ได้ดีอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯเตรียมปรับประมาณการตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ใหม่อีกครั้ง

          นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลฯ ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ- ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ณ ไตรมาส 2 ปี 2563 พบว่าดัชนียังคงลดลงต่ำกว่า ค่ากลางที่ 50.0 โดยมีค่าเท่ากับ 42.6 แต่มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.2 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ลดต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 ติดต่อกัน 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งมีการประกาศใช้มาตรการ Macroprudential ของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมี มุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ดัชนีก็ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0  โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรายกลางและรายย่อยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก

          เมื่อแยกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 45.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 แต่ยังคง ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ขณะที่ผู้ประกอบการ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 38.0 ล ดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 และ ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น และรัฐบาลได้ออกมาตรการ ต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบที่สองของเชื้อ COVID-19

          ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 57.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.8 แต่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.4

          อานิสงส์โละสต๊อกดันยอดปล่อยสินเชื่อพุ่ง

          นายพจนารถ แสงพฤกษ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางการซื้อขายที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2563 น่าจะปรับตัว ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ครึ่งปีแรกภาพการปล่อยสินเชื่อถือว่าดีเกิน ความคาดหมาย แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ยุติลง โดยในครึ่งปีแรกธนาคารสามารถปล่อย สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ไปแล้วจำนวน 44,964 ล้านบาท เติบโต 14.08% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 สูงที่สุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ ครึ่งปีแรกปล่อยไปประมาณ 6,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 12,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการปรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งหมด ทำให้ง่ายและรวดเร็ว มีความคล่องตัวขึ้น

          แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะไม่ได้ออกแคมเปญในการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ อาทิ การลดดอกเบี้ยเพราะในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่ำอยู่แล้วจึงไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มากนัก แต่กลับมียอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งยังมาจากการเร่งระบายสต๊อกด้วยการลดราคา ออกแคมเปญแรงๆเพื่อกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อตัดสินใจซื้อบ้าน ซึ่งธนาคารได้รับอานิสงส์ ดังกล่าวไปด้วย จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ธนาคารเชื่อว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2563 ได้จำนวน 81,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

          ส่วนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของกลุ่มอาชีพเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง เช่น กลุ่มท่องเที่ยว พนักงานโรงแรม สายการบิน ซึ่งได้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงพิจารณาปล่อยสินเชื่อจากรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก ส่วนการปฏิเสธสินเชื่อยังอยู่ในระดับทรงตัวประมาณ 30% ไม่ต่างจากช่วงเวลาปกติมากนัก ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอ ขอวงเงินกู้สูงเกินไป

          ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในช่วงครึ่งปีแรกปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 4.8% ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองไว้หมดแล้ว และเชื่อมั่นว่า จะสามารถควบคุมไม่ให้เกินระดับ 5% ได้ อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้คุณภาพหนี้ด้อยลงไปมาเพียงใดนั้นยังไม่สามารถประเมินได้มากนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงของการพักชำระหนี้ ซึ่งธนาคาร ได้ต่ออายุไปจนถึงสิ้นปี โดยมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ พักชำระหนี้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.8 แสนล้านบาท หรือ 5.6 แสนราย

          ทั้งนี้จากรายงานการวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เครื่องชี้กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ปรับลดลงตามสภาพปัจจัยแวดล้อม โดยอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 เฉลี่ยหดตัวประมาณ 75% (YoY) ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปรับลดลง 3.4% (YoY) จากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก รวมถึงแผนกิจกรรมการตลาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเดิมการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในประเทศ ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่แล้วจากกำลังซื้อที่เปราะบาง ประเด็นมาตรการและกฎระเบียบด้านภาษี ทั้งมาตรการ LTV และกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการซื้อขายที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2563 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยยังพอมีปัจจัยด้านบวกอย่างมาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท (สิ้นสุด 24 ธ.ค. 63) และแคมเปญกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจที่กระทบภาคธุรกิจและกำลังซื้อครัวเรือนเป็นวงกว้าง ทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2563 คงยากจะพลิกเป็นบวก โดยคาดว่าจะมีจำนวน 62,000-67,000 หน่วย หรือหดตัว 37.9% ถึงหดตัว 32.9% จากปีก่อน

          ดังนั้น ภายใต้ภาพความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง ผู้ประกอบการหลายรายจึงมีการปรับลดการลงทุนและรอจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่า อาจจะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อแนวโน้มผลประกอบการทางธุรกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าในพอร์ตของผู้ประกอบการให้มีเสถียรภาพ ภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดมีที่อยู่อาศัยรอขายสะสมเหลืออยู่จำนวนมากโดยทั้งปี 2563 คาดว่าการลงทุนโครงการ ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีจำนวนประมาณ 68,000-72,000 หน่วย ลดลง 42.8% ถึงลดลง 39.5% จากปีก่อน