กกร.หวั่นเศรษฐกิจสะดุด
Loading

กกร.หวั่นเศรษฐกิจสะดุด

วันที่ : 2 กรกฎาคม 2563
จี้แบงก์เพิ่มเวลาพักหนี้
   
          นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทยประจำเดือน ก.ค.ว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องการเมือง ที่เริ่มมีความขัดแย้ง รวมทั้งมีกระแสข่าวจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ต้องการให้ปรับ หรือให้ทีมปัจจุบันอยู่ต่อ เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ตามหลักการแล้ว บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต้องสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ไม่ติดขัด ดูแลปากท้องประชาชนได้

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เนื่องจากระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่า หากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่าง ๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลาย ๆ รอบ

          นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.มีมติปรับลดประมาณการการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 63 ทั้งปี-8% ถึง-5% จากครั้งก่อนคาดว่า-5% ถึง-3% การส่งออก คาด-10% ถึง-7% จากเดิมคาด-10% ถึง-5% และเงินเฟ้อคาด-1.5% ถึง-1% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก เนื่องจากประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศยังรุนแรง ทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับแรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และประเทศอื่น

          "กกร.ยอมรับมีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า ในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคช่วงเดือน มิ.ย. ที่ ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐ"

          อย่างไรก็ตามหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการพักต้นเงินพักดอกเบี้ย หรือเลื่อนชำระหนี้ออกไป 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุด ก.ย.-ต.ค.นี้ ทางธนาคารพาณิชย์ยินดีที่จะช่วยเหลือต่อเนื่อง หากลูกหนี้รายใดยังไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ หรือยังไม่มีเงินมาจ่ายคืน ก็ต้องมาคุยกันเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป เพราะธนาคารเข้าใจดีและเป็นไปตามสภาวะความเป็นจริงที่ลูกหนี้จะมีเงินมาจ่ายคืนด้อยลงไป เชื่อว่าแนวโน้มหนี้เสียเอ็นพีแอลในปีนี้จะมีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 3% ต่อสินเชื่อรวม แต่จะขอรอดูหลังจากหมดมาตรการพักหนี้ก่อนว่าจะเป็นเท่าไร โดยที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือแล้ว 16 ล้านราย เป็นเงิน 6.84 ล้านล้านบาท เป็นบุคคลธรรมดา 15 ล้านราย และเอสเอ็มอี 1.1 ล้านราย ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่จะเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ มองว่าธนาคารได้มีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้วซึ่งจะดูความสามารถชำระเงินลูกหนี้เป็นหลัก
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ