เห็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 แล้ว
Loading

เห็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 แล้ว

วันที่ : 1 กรกฎาคม 2563
แบงก์ชาติชี้ติดลบ 10-20% ปัจจัยเสี่ยงเพียบ

          แบงก์ชาติ ระบุ จีดีพีไตรมาสที่ 2 ติดลบต่ำสุด 10% กว่าๆ แต่ไม่ถึง 20% จะเริ่มเห็นแสงสว่างหลังปลดล็อกดาวน์ตั้งแต่ไตรมาส 3 ขึ้นไปเศรษฐกิจจะดีขึ้นขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเพียบตั้งแต่การระบาดโควิด-19 รอบสองความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ การผิดนัดชำระในตลาดตราสารหนี้ และเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทย ในเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ของการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือนนี้ยังหดตัวสูงต่อเนื่อง แม้จะมีบางกิจการที่เริ่มให้กลับมาเปิดได้บ้างแล้วโดยภาคที่กระทบหนักที่สุดยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหดตัว 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อนจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ การส่งออกติดลบ 23.6% ขณะที่การนำเข้าติดลบ 34.2% สะท้อนกำลังซื้อที่หดตัวทั้งในและต่างประเทศ แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลบริการขาดดุล 3,200 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 100 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าสมดุล

          สำหรับเศรษฐกิจในประเทศการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในเดือนนี้หดตัวเท่ากันที่ 12.5% เทียบระยะเดียวกันปีก่อน รายได้เกษตรกรหดตัว 4.3% โดยกำลังซื้อที่ลดลงได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.ปรับตัวลดลงแรงที่ 23.2% และอาจจะอยู่ในระดับที่ติดลบมากๆ ต่อเนื่องจากจำนวนสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตัวที่ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจคือ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวในระดับทรงตัวโดยมีเงินเยียวยาและฟื้นฟูที่เข้ามาพยุงการใช้จ่ายในระดับหนึ่ง

          "ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเดือน พ.ค.เป็นเดือนที่เศรษฐกิจลงต่ำที่สุดแล้ว แต่พูดได้ว่าไตรมาสที่ 2 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจอยู่ในจุดต่ำสุดแน่นอน โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 2 การขยายตัวจะติดลบอยู่ที่ 10% กว่าๆ แต่ไม่ติดลบถึง 20% อย่างแน่นอน และอย่างไรก็ตามเราก็เริ่มเห็นแสงสว่างมากขึ้นแล้วในช่วงเดือนนี้และคงต้องดูต่อในเดือน มิ.ย.อีกเดือนว่าเป็นแสงสว่างที่แท้จริงหรือไม่"

          ทั้งนี้การทยอยคลายล็อกดาวน์ในหลายๆ กิจการในเดือน พ.ค.ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหลายตัวดีขึ้นแต่ก็มีบางตัวที่ยังคงติดลบเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจนในเดือน มิ.ย.อีกเดือนหนึ่งแต่การที่เริ่มเห็นการซื้อสินค้าไม่คงทนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเยียวยาที่ประชาชนได้รับในเดือน พ.ค.เริ่มเห็นทิศทางการส่งออกและการผลิตในภาครถยนต์ที่ดีขึ้นหลังหลายโรงงานเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.เห็นทิศทางการผ่อนคลายด้านการท่องเที่ยวที่จะดีขึ้นในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป

          รวมทั้งเห็นความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและทำธุรกิจที่ดีขึ้น ทำให้มองว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวขึ้นยังหดตัว แต่หดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ 2 ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ดีกว่าไตรมาสที่ 3 และดีขึ้นไปเรื่อยๆ โดย ธปท.มองว่า จำนวนเงินที่รัฐใช้ในการฟื้นฟูเยียวยาเพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้แต่ต้องใช้ให้ตรงจุดเท่านั้น

          สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ การตกงานของแรงงานไทยที่คาดว่าจะมีการปลดคนงานต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 จุดที่สำคัญคือภาวะโควิด-19 ทำให้ไม่มีการสำรวจคนว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติตามปกติทำให้ไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริง โดยตัวเลขที่ ธปท.ใช้ในขณะนี้พิจารณาจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 330,000 คน และมีผู้ถูกเลิกจ้างในเดือนเดียวกัน 110,000 คน อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงตัวเลขที่สะท้อนการจ้างงานในระบบ โดยยังไม่ได้สะท้อนคนนอกระบบที่ตกงานในขณะนี้ จึงอยากให้รัฐเข้าไปดูแลเพิ่มเติม และวันนี้ถือเป็นเรื่องดีที่รับทราบว่าส่วนหนึ่งในงบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท ของรัฐเน้นที่จะเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น

          ความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากเศรษฐกิจโลกที่อาจจะไม่ฟื้นตัวตามคาด หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเศรษฐกิจโลกถึงจุดต่ำสุดแล้ว จึงคาดว่าในไตรมาสที่ 3 กำลังซื้อทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แต่หากมีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่รุนแรงจนประเทศหลักๆต้องปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง การฟื้นตัวที่คาดก็ไม่เกิดขึ้นรวมทั้งประเด็นความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นของจีนและสหรัฐฯ

          รวมทั้งยังต้องติดตามความสามารถในการชำระคืนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเพราะหากชำระหนี้ไม่ได้อาจจะกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกมาก ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทตั้งแต่เดือน มิ.ย.จากผลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่กระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ