อสังหาฯแพกบิ๊กเอกชนขอ ดิสคัส ศูนย์โควิด
Loading

อสังหาฯแพกบิ๊กเอกชนขอ ดิสคัส ศูนย์โควิด

วันที่ : 29 มิถุนายน 2563
ภาคอสังหาฯ ชูมาตรการเปิดน่านฟ้า รับมือดีมานด์ท่องเที่ยว-คอนโดฯซึมยาว

          อสังหาริมทรัพย์

          แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลาย จนนำไปสู่ การปลดล็อกดาวน์เกี่ยวกับมาตรการบังคับ ในเฟสต่างๆต่อเนื่อง ขณะที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยืนยันไร้ผู้ป่วยในประเทศเกินกว่า 1 เดือน ซึ่งข่าวดีที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมปรับตัวดีขึ้น

          อย่างไรก็ตาม มรสุมจากพิษโควิด-19 ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก กำลังปะทุขึ้นมา อย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจีพีดี ได้หยุดชะงักลง เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังคงล็อกดาวน์ จากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ส่งออกติดลบลึกสุดในรอบ 10 ปี หดตัวถึง 22.5% ธุรกิจการ ท่องเที่ยวและบริการ ถูกกระทบเป็นอันดับแรก

          ซึ่งในความเป็นจริง ประชาชนต้องเตรียมตัว เตรียมใจรับมือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ หมดยาลง! เพราะนั่นจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติของการชำระหนี้ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดเป้า จีพีดี ปี 2563 ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยประเมินว่าไตรมาสสองปีนี้จะติดลบต่ำสุดในรอบปีถึงระดับ 2 หลัก

          ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 8-10% ดูเหมือนว่า สถานการณ์ของภาคอสังหาฯ เจอปัจจัยลบตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินปี 63 ติดลบ 10-15% จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศติดลบ 16.7% มาอยู่ที่ 311,719 หน่วย มูลค่าติดลบ 14.8% มูลค่าที่เป็นสภาพคล่องส่งถึงบริษัทอสังหาฯอยู่ที่ 746,206 ล้านบาท

          จี้ ธปท.ฉีดสภาพคล่องช่วยลูกหนี้ลด ดบ.ไม่ช่วย

          แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวยอมรับว่า ครึ่งปีหลัง สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่หากเมื่อใด ที่มีการผลิตวัคซีนมา ก็จะผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว แต่ถ้าวัคซีนไม่มา การฟื้นตัว จะเป็นรูปตัว U ทั้งนี้ หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ลงอีก ก็ไม่มีผล แต่อยากให้มองเรื่อง การอัดฉีดสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ เป็นประเด็นนี้มากกว่า

          "การที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องปันผล ก็อาจจะมองได้ว่า เพื่อให้ธนาคารสำรอง กรณีเกิดความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่อาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL และเงินที่เหลือ ธนาคารก็ต้องปล่อยสินเชื่อ เนื่องจาก ขณะนี้เงินท่วมแบงก์ และทาง ธปท.ต้องการให้ธนาคาร ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้เต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ ธปท.ทำ ถือว่าดี และยังเป็นการช่วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย ขณะนี้ ธุรกิจต้องการเม็ดเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจ ท่องเที่ยว เพราะยังไม่ฟื้นตัว" แหล่งข่าวกล่าว

          อสังหาฯ-กลุ่มเอกชนถกด่วน ศบค. เปิดน่านฟ้าเอเชีย ฟื้นท่องเที่ยว

          นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ (PF) กล่าวว่า ตอนนี้เราควรทำตลาดท่องเที่ยวกับคนไทยก่อน ขณะเดียวกัน ก็รอเปิดน่านฟ้า ถ้าเปิดก็ควรเปิดกับประเทศที่มี Active Case ที่ดี ซึ่งน่าจะเป็น ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศไทย อาจจะต้องเปิดเป็นโซนๆ ไป ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรป และสหรัฐฯ อาจจะมาพิจารณาช่วงท้ายๆ ซึ่งตอนนี้ควรจะเป็นการ ท่องเที่ยวแบบ "เอเชียเที่ยวเอเชีย" การจะข้ามไปเที่ยวประเทศยุโรปคงช้าลง คนไทยที่เคยออกไปนอกประเทศ ก็หันกลับมาเที่ยวในไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้มีประมาณ 10 กว่าล้านคน

          "ภาคเอกชนตอนนี้ ได้ร่วมมือกันในการยกระดับการท่องเที่ยว ล่าสุด บริษัทแกรนด์ แอสเสทฯ ใน เครือ PF ได้ผนึกกับ 7 ธุรกิจชั้นนำเพื่อสร้างสีสันให้กับภาคท่องเที่ยว สร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพ พร้อมดูแลนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ และเป็นครั้งแรกที่โรงแรมติดตั้งเครื่อง TytoCare เทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้นทันที โดยไม่ต้อง ไปโรงพยาบาล มีแพกเกจการเงินและบัตรเครดิตชั้นนำทั้ง เคทีซี และบัตรเครดิต JCB จากญี่ปุ่นเสริม โดยประเมินในครึ่งปีหลัง แนวโน้มการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แต่คงต้องรอการเปิดน่านฟ้าก่อน ซึ่งทางเราจะมีการ นำ 7 ภาคธุรกิจชั้นนำไปหารือกับรัฐบาล"

          ถัดมาในเฟสที่ 2 จะหลังเปิดน่านฟ้า ซึ่งกลุ่มโรงแรมของเราจะทำ แต่ต้องดูแลเรื่องโควิด-19 ไปด้วยกัน ได้แก่ เมื่อนักท่องเที่ยวลงถึงสนามบิน จะมีการดูแลตั้งแต่ ต้นทาง หากผลตรวจเป็นโควิด-19 จะถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่หากตรวจแล้วเป็นปกติ ก็เดินทางเข้าประเทศได้ และมีระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวผ่านระบบของ AIS เช่น ไปเที่ยวจตุจักร หรือไปเที่ยวข้างนอก ก็มีระบบติดตาม สามารถวัดผลได้เร็ว ขณะเดียวกันจะมีระบบเทคโนโลยี ตรวจผลที่รวดเร็วภายใน 1 นาที จากเดิมระบบโรงพยาบาลใช้เวลา 1 ชั่วโมง เราจะให้ตรวจเร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยการท่องเที่ยว ระบบติดตามตัวของ AIS ที่ไป ผนึกกำลังกับหัวเว่ย ในการคัดกรองได้ด้วย อาจจะใช้ซิมเฉพาะ

          "แคมเปญจาก 7 พันธมิตร จะทำให้พอร์ตธุรกิจโรงแรมของเราฟื้นตัว ซึ่งเราพร้อมเปิดบริการครบทุก โรงแรมในเครือภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะใช้ระบบในความร่วมมือครั้งนี้ ไปใช้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย เราควรอาศัยจังหวะนี้ เตรียมการท่องเที่ยวระยะยาวด้วย ประเทศไทยควรเป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ ฉะนั้น ควรใช้กระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดเร็วที่สุด ต้องมาผนึกกำลังระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพราะในแง่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ส่วนใหญ่จะเป็นทหารกับหมอ ภาคธุรกิจยังน้อยไป  แน่นอนที่สุดแล้ว เมื่อ เปิดน่านฟ้าแล้ว ตัวเลขของติดเชื้อโควิด-19 อาจจะไม่เป็นศูนย์ อาจจะมีบ้าง แต่เราติดตามได้ ป้องกันที่ดี เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าต่อไป การพูดคุยกับ ศบค.จะหยิบประเด็นเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย โดยนำโมเดล  7 พันธมิตรไปหารือกับมาตรการที่ทางภาคเอกชนได้ ดำเนินการ เราแพกธุรกิจชั้นนำไปพร้อมกัน ต้องการกระตุ้นการ ท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ"

          สำหรับประเด็นที่เราจะไป Discuss กับรัฐบาล มีเรื่องของการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม โดยดึงนัก ท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศไทย จะทำให้บรรยากาศของกรุงเทพฯมีความคึกคักมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจสายการบิน โรงแรม ก็ต้องทำ ด้วยการลดราคาลงเพื่อร่วมกระตุ้น

          "เราต้องลดราคาสายการบิน โรงแรม สินค้า กระตุ้นท่องเที่ยว ประเทศไทยต้องขึ้นมาเป็นผู้นำของเอเชีย คนจีนตอนนี้ ไปเที่ยวยุโรปไม่ได้ ก็มาเที่ยวเมืองไทย มาชอปปิ้งสินค้า เราต้องอาศัยจังหวะนี้ แก้ให้เร็วที่สุด"

          "ฮาบิแทท" แนะเน้นกระตุ้นดีมานด์ใน ปท.

          นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียมเพื่อการลงทุนของไทย และเป็นผู้ประกอบการที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในพัทยา เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การท่องเที่ยวมีความคึกคักมาก ซึ่งในส่วนของจังหวัดชลบุรี ทางบริษัทฯได้เปิดให้บริการโครงการครอสทู พัทยา โอเชียนเฟียร์ ที่ให้บริการในรูปแบบ "ไพรเวท พูลวิลล่า" ซึ่งได้รับความนิยม ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัว จำนวน 59 หลัง และเมื่อให้บริการมีอัตราการเข้าพัก 80-90% ทันที รวมถึงเปิดโรงแรม ครอสทู ไวบ์ พัทยา ซีเฟียร์ และผลจากโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวอาจไม่เลือกโรงแรม ที่มีขนาดใหญ่มากนัก เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่รับกระแส "Social Distancing" ในยุค New Normal (ความปกติรูปแบบใหม่) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ยังกังวล ต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงระบาดไปทั่วโลก

          "ตอนนี้ คนยังกังวลในเรื่องการใช้บริการสายการบิน ไม่อยากไปแตะสนามบิน แม้แต่การบินในประเทศ คนก็ห่วง เพราะก่อนจะปิดประเทศ ก็มีนักท่องเที่ยว ต่างชาติใช้บริการอยู่ ซึ่งในความคิดแล้ว ตลาดต่างประเทศในเชิงการท่องเที่ยวอาจจะต้องรอไปเป็นปี 2564 เพราะสถานการณ์โดยรวมของทั่วโลกยังไม่ดี แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็อาจใช้บริการบ้าง เพื่อไปดีลเรื่องกองทุนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ในส่วนในประเทศ หัวเมือง ท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ จะถูกเลือก เช่น หัวหิน พัทยา กาญจนบุรี เขาใหญ่ โดยอัตราการเข้าพักในระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ระดับนี้ไปอย่างน้อย 2 ถึง 3 เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่ชัดเจน กลายเป็นว่า หัวเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ พลิกจากวิกฤตเป็นโอกาส"

          "เอกชนหนุนเคลียร์กับ ศบค. ย้ำทุกอย่างถูกแช่แข็งไม่ได้!

          นายชนินทร์ กล่าวว่าทุกโรงแรมก็มีมาตรการป้องกัน ในการเปิดรับอินเตอร์เนชันแนลทัวริสต์ รับนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาเจรจาธุรกิจนั้น จะเป็นภาคของธุรกิจแล้ว การปิดน่านฟ้าทันที ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศจะขาดเลย แต่การท่องเที่ยวในประเทศ ยังไปได้อยู่ ซึ่งหากต้องการให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ เราอาจจะเปิดและ คัดกลุ่มนักธุรกิจเข้ามาก่อน และมีมาตรการในการรองรับ และภาครัฐเอาใจใส่ และเปิดน่านฟ้าให้บางกลุ่มเข้ามาก่อน ก็ดี ไม่งั้นธุรกิจหลายอย่างสะดุด

          "อย่างดีลของผมที่คุยกับทางญี่ปุ่น เดินหน้าไปเยอะ แต่พอเข้าสู่เดือนมีนาคม เกิดโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ซื้อ ผู้ลงทุน และกองทุนต่างๆ ที่จะเข้ามาทำโปรเจกต์ใหม่ๆ หยุดหมด แม้แต่ผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นของผม ดีลกันจนจบ พอเกิดโควิด ก็ให้ไปเริ่มใหม่ต้นปีหน้า ระมัดระวังสุดๆ ซึ่งในมุม หากมีเอกชนเข้าไปจอยกับทาง ศบค.น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เราต้องแชร์ในมุมของภาคธุรกิจ ประเทศต้อง ขับเคลื่อนไปได้ คนไม่ติดโควิดเลย แต่ทุกอย่างจะถูกแช่แข็งไม่ได้ ภาคธุรกิจจะต้องเดินหน้า ซึ่งถ้าเข้าสู่เดือนที่ 8 สิงหาคมยังไม่เปิด ภาคธุรกิจเหนื่อยแน่ ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรองรับอีกสเต็ป จะต้องหารือกับหมอที่จะให้ประเทศเดินหน้าได้ แต่ไร้ผู้ติดเชื้อโควิด เปิดทางนักธุรกิจก่อน แล้วนักท่องเที่ยวทั่วไปจะอยู่ในเฟสที่ 2 ที่จะเข้าไปดูแล ซึ่งน่าจะประมาณต้นปี 64 ค่อยมาว่ากัน" 

          หลังCOVID-19'คนจีน'อยากเที่ยวไทย 71% ดึงเม็ดเงินลงทุนพร็อพเพอร์ตี้

          "พลัสฯ" ชี้มาตรการรัฐ กระตุ้นการตัดสินใจให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ แต่ระยะยาว ยังน่าห่วง เหตุพิษโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ เกิดปัญหาการว่างงาน การลดเงินเดือน ส่งผลให้กำลังใช้จ่ายลดลง แต่ก็มีมุมเชิงบวก ท่องเที่ยวจะฟื้นตัว อิงผลสำรวจชาวจีนเลือกไทยอันดับ 1 อยากเดินทางเข้ามาสูงถึง 71% เผยหัวหินดีมานด์กลุ่มคนไทย กระทบน้อยกว่าพัทยา ภูเก็ต ลุ้น "จีน-ฮ่องกง" ฟื้น หนุนการลงทุน อสังหาฯในไทย

          นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย  รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์ และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐว่า ช่วยให้คนไทยตัดสินใจเที่ยวในประเทศมากขึ้น สามารถกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวได้แต่เป็นในระยะสั้น และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคกักตัวมาหลายเดือนและอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ แต่ในระยะยาว ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง คือ กำลังการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการลดเงินเดือน ที่เป็นผลกระทบมาจาก โควิด-19 อีกทั้งชาวต่างชาติ เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักในกลุ่มเมืองท่องเที่ยวนี้

          และเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมาพักผ่อนตามเมืองท่องเที่ยวเป็นระยะเวลานานขึ้น นั่นเพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวเหล่านั้นสามารถทำงานในลักษณะของ Remote Working ได้ จึงทำให้มีเวลาใช้ชีวิตในการพักผ่อนได้นานขึ้น จึงเกิดความต้องการพักอาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมมากขึ้น อสังหาริมทรัพย์จึงเข้ามามีบทบาทกับการท่องเที่ยวมากขึ้น

          พลัสฯ คาดว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ดีขึ้น (จากผลสำรวจของซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ และ เดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย พบว่าไทยยังเป็นอันดับ 1 ของเมืองท่องเที่ยวที่คนจีนอยากเดินทาง มาเที่ยวมากที่สุดหลังโควิด สูงถึง 71%) ขณะที่อสังหาฯ ในเมือง ท่องเที่ยว (หัวหิน พัทยา และภูเก็ต) จะคึกคักขึ้นหลังคลาย ล็อกดาวน์ ซึ่งการท่องเที่ยว มีส่วนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในเมือง ท่องเที่ยวโดยตรง

          คอนโดฯในพัทยาเสี่ยงล้นตลาด

          "การฟื้นตัวหลังโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ จะขึ้นอยู่กับ นักท่องเที่ยวหลักของแต่ละพื้นที่ว่า เป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มใด โดยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ หัวหิน พัทยา และภูเก็ตนั้น คิดว่า หัวหินจะกระทบน้อยที่สุด และฟื้นตัวได้ดีที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวหลักเป็นคนไทย แต่ในภูเก็ตกับพัทยา เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นกระทบมากกว่าและจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ของแต่ละประเทศของนักท่องเที่ยวหลักในพื้นที่นั้นๆ"

          โดยภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยา รอบสำรวจเดือนมีนาคม 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีคอนโดฯเปิดใหม่ 13 โครงการ จำนวนยูนิต 12,952 ยูนิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559-2561 ที่มีโครงการเปิดใหม่อยู่ที่ 7 โครงการต่อปี โดยเกือบ 90% ของจำนวนยูนิตทั้งโครงการที่เปิดขายใหม่ทั้งหมดในปี 62 อยู่ในจอมเทียน สัดส่วน 61% อยู่ใน segment ราคามากกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)

          อัตราการขายในรอบสำรวจนี้อยู่ที่ 40% จากจำนวนยูนิตที่มีเสนอขายในตลาดที่ 13,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นก่อนหน้าที่ 32% และถ้าดูยอดขายของ Segment ที่มียูนิตเปิดใหม่มากที่สุด คือ segment ราคามากกว่า 120,000 บาทต่อ ตร.ม. มีอัตราการขายอยู่ที่ 39% จากจำนวนยูนิตที่มีเสนอขายที่ 7,500 ยูนิต โดยลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 54%

          "หากดูจากจำนวนยูนิตจากโครงการเปิดใหม่ทั้งหมด และยอดขายของ segment ที่มีสัดส่วนในตลาดมากที่สุด รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19  มีความเห็นว่าอาจจะเกิดภาวะ supply ล้นตลาด และนักพัฒนาอสังหาฯจะต้องระวังในการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น"

          ยกระดับภูเก็ต สู่ Smart City ส่งผลดีภาคอสังหาฯ

          สำหรับการพัฒนาภูเก็ตนั้น พลัสฯมองว่า ในระยะยาว ถ้าการพัฒนา Smart City ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ คือ สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดึงนักลงทุนมาในพื้นที่ได้ และส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แบบยั่งยืน จะส่งผลดีต่อภาคอสังหาฯ เพราะเป็นการเพิ่มความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น แต่ในปัจจุบันเป็นช่วงเริ่มต้น และเป็นการทดลองเฉพาะบางพื้นที่ในภูเก็ตเท่านั้น

          "มีความเป็นไปได้ว่า การใช้ Technology ของ Smart City จะไปกระตุ้นให้ ผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการที่เอา Technology มาใช้เพื่อให้ลูกบ้าน มีความสะดวกสบายมากขึ้น และยังเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ"

          ลุ้น "จีน-ฮ่องกง" ฟื้น หนุนการลงทุนอสังหาฯไทย

          สำหรับตลาดต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนอสังหาฯในไทยหรือไม่นั้น นางสาวสุวรรณี อธิบายว่า "ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศของไทยอย่างเดียว แม้ว่าข้อได้เปรียบของไทยคือจัดการกับโควิด-19ได้ดี ซึ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือกับนักลงทุนต่างชาติ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศที่เป็น Demand หลัก อย่างจีน และฮ่องกง"

          อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาจเกิดขึ้นในกลุ่มคนไทยกันเองที่มีเงินเก็บ หรือมีแผนจะซื้ออสังหาฯอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ราคาได้ปรับลดลง และอสังหาฯที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความต้องการจากผู้บริโภคอยู่แล้ว ทำให้ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนที่มีเงินเก็บ เพื่อรอทำกำไรในอนาคต

          ส่วนระยะยาว ถ้าไทยไม่มีการระบาดรอบ 2 จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะโตกว่าเดิม เพราะคนต่างชาติจะรับรู้มากขึ้นว่าการแพทย์ไทยดี จุดนี้จะเพิ่ม Demand การเช่าจากต่างชาติมากขึ้นในอนาคต

          ลงทุนคอนโดฯปล่อยเช่า ต้องหาจุดแข็ง

          พลัสฯ ในฐานะผู้นำทางด้านการบริหารจัดการที่อยู่อาศัย มองว่าเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯหรือเมืองท่องเที่ยว ในยุคต่อจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่โครงการ ที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของลูกบ้าน ผ่านการขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญเชิงลึก ต่อยอดด้วย Property Technology ที่เป็นเครื่องมือ ที่สอดรับกับ New Normal ในทุกมิติของภาคอสังหาฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณา โครงการที่เราเลือกลงทุน และหลังจากโควิด-19 การแข่งขันในด้านราคาอาจจะเกิดขึ้นได้ .

          'ต้องมาผนึกกำลังระหว่างรัฐบาลและเอกชนเพราะในแง่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ส่วนใหญ่จะเป็นทหารกับหมอ ภาคธุรกิจยังน้อยไป'
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ