อัดแพ็กเกจล้างพิษโควิด-19 อุ้มธุรกิจ-รากหญ้า4แสนล้าน
Loading

อัดแพ็กเกจล้างพิษโควิด-19 อุ้มธุรกิจ-รากหญ้า4แสนล้าน

วันที่ : 11 มีนาคม 2563
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบชุดมาตรการ ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1
          ครม.อนุมัติแพ็กเกจอัดเงินเข้าเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน เสริมสภาพคล่อง ภาคธุรกิจ 6 หมื่นล้าน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาตรการการเงิน การคลัง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ลดภาษีสารพัดรายการ อนุมัติงบฯกลาง 2 หมื่นล้าน อุ้มแรงงานถูกเลิกจ้าง สร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน กองทุนเพื่อการออมลดหย่อนภาษีได้อีก 2 แสนบาท

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบชุดมาตรการ "ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1" เป็นชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 4 แสนล้านบาท ยังไม่ได้ประเมินว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตสูงกว่า 0.5% ได้หรือไม่

          หากมีการประเมินสถานการณ์แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการ ชุดที่ 2 กระทรวงการคลังก็มีความพร้อม จะเป็นการดูแลในด้านมาตรการส่งออก ทั้งการเงินและภาษี และอาจจะช่วยประชาชนด้วย จะเป็นการแจกเงินหรือไม่นั้นจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

          ไฟเขียว 4 มาตรการเงินกู้

          สำหรับมาตรการที่ ครม.อนุมัตินั้น เป็นมาตรการการเงินและการคลัง ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินดอกเบี้ย 0.01% และสถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปี ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย วงเงิน สินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยซอฟต์โลน ให้กับธนาคารออมสินอีก 7,500 ล้านบาท

          2) มาตรการพักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย เสริมให้ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐ วงเงิน 150,000 ล้านบาท และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม ขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่ ธปท.ออกมาตรการตั้งแต่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และ 4) มาตรการสินเชื่อพิเศษ จากกองทุนประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม

          ลดภาษี คืนสภาพคล่อง

          นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ ประกอบการด้วยการลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% จากเดิมหักอยู่ที่ 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.มิ.ย. 2) ให้สิทธิ์ผู้ประกอบการที่ใช้ สินเชื่อซอฟต์โลน และจัดทำบัญชีเดียว สามารถนำรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 63 3) นายจ้างนำ รายจ่ายลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค. 63 และ 4) กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในประเทศที่ยื่นแบบภาษีออนไลน์ ภายใน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการ ยื่นแบบที่สรรพากร จะได้คืนภายใน 45 วัน

          นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการอื่น ๆ โดยให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลด-เลื่อนค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่เก็บจากภาคเอกชน, รวมทั้งมาตรการบรรเทาค่าน้ำและค่าไฟ โดย ครม.ได้ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน พิจารณาเงื่อนไขอย่างเหมาะสม, มาตรการลดเงินสมทบเข้าประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะไปพิจารณาในความเหมาะสมของระยะเวลาของมาตรการ ระหว่าง 3-6 เดือน

          และรวมถึงมาตรการสร้างความ เชื่อมั่นในระบบตลาดทุน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับประชาชนทั่วไปที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) โดยให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการชั่วคราวได้เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท จากเดิมให้ซื้อได้ 200,000 บาท ระยะถือครอง 10 ปี เข้าซื้อได้ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 63

          เท 2 หมื่นล้านเยียวยาเลิกจ้าง

          นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ได้พิจารณาเงินจากงบฯกลางจำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น กลุ่มเลิกจ้างงาน สถานประกอบการ รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

          สั่งเสนอโครงการใน 1 สัปดาห์

          ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ที่ ครม.ให้เงิน 20,000 ล้านบาทนั้น เพื่อตั้งเป็นกองกลางในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง เบื้องต้น ครม.ได้สั่งการให้แต่ละกระทรวงที่ต้องการเสนอโครงการออกมาดูแลเรื่องดังกล่าว ไปเตรียมโครงการมาเสนอสำนักงบประมาณ ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อนำเรียนเข้าสู่ ครม.พิจารณาต่อไป

          ทั้งนี้ ชุดมาตรการที่ ครม.อนุมัติไปนั้นจะเป็นการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ ระบบเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท หากพิจารณาจากมาตรการลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% จะช่วยเสริม สภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ถึง 60,000 ล้านบาท

          คืนค่ามิเตอร์ไฟฟ้า 3 หมื่นล้าน

          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แถลง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และเพื่อลดภาระการครองชีพของประชาชน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักที่ 1 ประเภทอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ขอคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าได้ โดยมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวม 21.5 ล้านราย เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท สามารถทยอยขอรับคืนได้ประมาณสิ้นเดือน มี.ค.