สั่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติ
Loading

สั่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติ

วันที่ : 29 กุมภาพันธ์ 2563
ธปท.ประเมินโควิด-19กระทบแรง ป่วนทั้งปีเศรษฐกิจมีสิทธิต่ำ1%
     
          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการติดตามสถานการณ์ต่างๆทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไปทำให้มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกหนี้ให้ครบทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป

          ธปท.จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงินกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทรวมทั้งลูกหนี้ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงรุก โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งผู้ที่เป็นหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และผู้เริ่มมีปัญหาในการชำระสินเชื่อ เช่น การให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมทั้งผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ในอัตราต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่กำหนด เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี ระหว่าง 1 ม.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564 ทั้งนี้ สามารถติดตามมาตรการของแต่ละสถาบันการเงินผ่านเว็บไซต์

          ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ.มากขึ้นกว่าในเดือน ม.ค. ซึ่งยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนการส่งออกจะกระทบมากสุดในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง จากความต้องการในจีนที่จะลดลงมาก ขณะที่ในภาคการท่องเที่ยว ในขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดเดือน ก.พ.แต่การขยายตัวของการท่องเที่ยวลดลงไปแล้ว 45%

          ทั้งนี้ หากพิจารณาผลกระทบในกรณีฐานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธปท.คาดว่าจะเกิดต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน โดยหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ไตรมาสแรกจะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยต่ำสุด และเดือน ก.พ.น่าจะเป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยลงลึกที่สุดในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าการแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไร รวมทั้งติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการใช้งบประมาณของรัฐ โดยหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดต่อเนื่องทั้งปี ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะต่ำกว่า 1% ได้