รถไฟไทย-จีนดีเลย์ทั้งโครงการสร้าง 2 ปี ทำผลงานคืบหน้าแค่2%
Loading

รถไฟไทย-จีนดีเลย์ทั้งโครงการสร้าง 2 ปี ทำผลงานคืบหน้าแค่2%

วันที่ : 2 มีนาคม 2563
รถไฟไทย-จีนติดหล่มเวนคืนที่ดิน อีไอเอ ดีเลย์ทั้งโครงการ
          รถไฟไทย-จีนติดหล่มเวนคืนที่ดิน อีไอเอ ดีเลย์ทั้งโครงการ ลุยตอกเข็ม สร้าง 2 สัญญา 2 ปี คืบหน้า 2% จับตาขยายเวลา "ซีวิล" สร้างช่วงสีคิ้ว-กุดจิก รอเซ็น 12 สัญญา มูลค่า 8.9 หมื่นล้าน ชงบอร์ดอนุมัติ 7 สัญญา เวนคืน 500 ไร่ ผุดศูนย์ซ่อมเชียงรากน้อย เคลียร์ ซี.พี.ออกเงิน 4 พันล้าน สร้างโครงสร้างและฐานรากให้ก่อน แก้ปัญหา พื้นที่ทับซ้อนบางซื่อ-ดอนเมือง ขยับเป้า เปิดเป็นปี'68

          แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ร่วมกับรัฐบาลจีน ภาพรวมทั้งโครงการแบ่งสร้าง 14 สัญญา คืบหน้าแล้ว 2% จากเริ่มสร้างแล้ว 2 สัญญา นับจากปี 2560-2561

          ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. คืบหน้า 78% จะเสร็จเดือน ก.ย.นี้ เลื่อนจากเดิมเดือน พ.ค.นี้ และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก 11 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ก่อสร้าง 3,114 ล้านบาท คืบหน้า 13% ยังล่าช้า 13% ติดส่งมอบพื้นที่ รอประเมินว่าจะสร้างเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ตามสัญญาหรือไม่ หากไม่ทันจะต้องขอขยายเวลาออกไปอีก

          "งานรอเซ็นสัญญาคิดเป็นวงเงิน 89,039 ล้านบาท รอประมูล 2 สัญญา รอบอร์ดอนุมัติ 7 สัญญา บอร์ดอนุมัติแล้ว 3 สัญญา แต่จะเซ็นสัญญายังไม่ได้ รอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ได้รับอนุมัติก่อน ถึงจะเริ่มเวนคืนและก่อสร้างได้ทั้งโครงการ"

          สำหรับ 3 สัญญาที่ ผ่านบอร์ดแล้ว ได้แก่ ช่วงดอนเมือง-นวนคร ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด วงเงิน 8,626 ล้านบาท ช่วงนวนคร-บ้านโพ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) วงเงิน 11,525 ล้านบาท และช่วงพระแก้ว- สระบุรี ของบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 9,429 ล้านบาท

          รอเสนอให้บอร์ดอนุมัติ 7 สัญญา ที่พร้อมเสนอได้ก่อน 4 สัญญา ได้แก่ ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ของ บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง 9,838 ล้านบาท, ช่วงโคกกรวด- นครราชสีมา ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK วงเงิน 7,750 ล้านบาท, ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 9,913 ล้านบาท และช่วงสระบุรี-แก่งคอย ของ บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง  8,560 ล้านบาท

          อีก 3 สัญญา รอให้ผู้ว่าการอนุมัติ ได้แก่ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก- บันไดม้า ของบจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง 9,330 ล้านบาท, งานอุโมงค์ (มวกเหล็กและ ลำตะคอง) ของบมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ 4,279.328 ล้านบาท และช่วงลำตะคองสีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ของ บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) 9,788 ล้านบาท

          ล่าสุด ร.ฟ.ท.รับฟังความคิดเห็นร่างทีโออาร์ประมูลงานศูนย์ซ่อมบำรุง เชียงรากน้อย วงเงิน 7,667 ล้านบาท หากไม่มีการร้องเรียนคาดว่าจะเปิดให้ซื้อทีโออาร์อีก 2 เดือนข้างหน้า หรือเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งส่วนนี้จะมีเวนคืนที่ดิน 500 ไร่ ก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย ทางรถไฟ ระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุง รวมถนนต่อเชื่อม อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร ก่อสร้างถนน งานระบบระบายน้ำ รื้อย้าย ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

          ยังเหลือประมูลช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของกลุ่ม ซี.พี. ได้หารือแล้วซี.พี.จะต้องลงทุนสร้างฐานรากและโครงสร้าง 4,009 ล้านบาทให้ก่อน ซึ่งรถไฟไทย-จีนจะอยู่ด้านบน ส่วนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จะอยู่ชั้น 3

          จากความล่าช้าของโครงการ คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2568 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงานสัญญา 2.3 งานวางราง ระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ 50,633 ล้านบาท ซึ่งเลื่อนประชุมร่วมฝ่ายจีนออกไปไม่มีกำหนดจากปัญหาโควิด-19
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ