แอร์พอร์ตลิงก์ จี้ตั๋วแมงมุม 20ก.พ.ทดสอบไม่ผ่านยกเลิก
Loading

แอร์พอร์ตลิงก์ จี้ตั๋วแมงมุม 20ก.พ.ทดสอบไม่ผ่านยกเลิก

วันที่ : 19 กุมภาพันธ์ 2563
"แอร์พอร์ตลิงก์" เร่งเอกชนพัฒนาระบบหัวอ่านตั๋วร่วมบัตรแมงมุม เตรียมทดสอบระบบ 20 ก.พ.นี้ หากไม่สำเร็จจ่อยกเลิกสัญญาเลิกจ้าง เอกชน
          "แอร์พอร์ตลิงก์" เร่งเอกชนพัฒนาระบบหัวอ่านตั๋วร่วมบัตรแมงมุม เตรียมทดสอบระบบ 20 ก.พ.นี้ หากไม่สำเร็จจ่อยกเลิกสัญญาเลิกจ้าง เอกชน

          นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้ อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม)  ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเร่งรัดให้เอกชนดำเนินการพัฒนาระบบหัวอ่าน เพื่อให้สามารถอ่านข้อมูลบัตรรถไฟฟ้าระบบอื่น นอกจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

          อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าให้เอกชนดำเนินการพัฒนาระบบหัวอ่านให้แล้วเสร็จทันกับแผนที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าจะให้สามารถใช้บริการตั๋วร่วมกันระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT, บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า BTS ได้ภายในเดือน มิ.ย.2563

          ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันเอกชนทำงานล่าช้าเกินอายุสัญญามาแล้ว 11 เดือน โดยก่อนหน้านี้มีการทดสอบระบบในห้องปฏิบัติการไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง ผลปรากฏว่ายังไม่สำเร็จ ไม่สามารถอ่านบัตรได้ และ เบื้องต้นได้ทราบว่าเอกชนจะทดสอบระบบอีกครั้งในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ภายในห้องปฏิบัติการ

          ดังนั้นบริษัทจะขอพิจารณาผลการทดสอบในครั้งนี้อีกรอบก่อน หากพบว่าทำสำเร็จก็จะทันให้บริการภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึง แต่หากการทดสอบระบบ ดังกล่าวไม่สำเร็จอีก บริษัทเตรียมเจรจาเรื่องการขอยกเลิกสัญญาว่าจ้างกับเอกชนรายดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ทางเอกชนมีสิทธิฟ้องกลับได้อยู่แล้ว แต่บริษัทก็สามารถโต้แย้งได้ว่าปฏิบัติตามหลักการระเบียบทุกอย่างถูกต้อง

          นายสุเทพ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการคำนวณค่าปรับการทำงานล่าช้าของเอกชน เบื้องต้นจะถูกปรับประมาณ 10% ของค่าว่าจ้าง แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้เริ่มปรับ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ระบบหัวอ่านดังกล่าวใช้งานได้ เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการผลักดันใช้ตั๋วร่วม อำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเชื่อมต่อ

          ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ถือบัตร Smart Pass ซึ่งใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์รวมประมาณ 4 แสนใบ สำหรับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในการพัฒนาระบบหัวอ่านบัตรโดยสาร คือบริษัท สมาร์ทเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจีน ชนะการประมูลโครงการ ติดตั้งซอฟต์แวร์และหัวอ่านระบบบัตรโดยสารร่วม หรือบัตรแมงมุม เนื่องจากเสนอเพียง 105 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาที่ 140 ล้านบาท

          ซึ่งในอนาคตบัตรแมงมุมจะรวมระบบเรือโดยสาร ทางด่วน  สถาบันการเงิน เชื่อมโยงบริการบัตรเดบิตกับบัตรแมงมุม เชื่อมฐานข้อมูลกับระบบเคลียร์ริงเฮ้าส์ และกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกด้วย
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ