แบงก์เร่งรื้อเกณฑ์ ดบ.ผิดนัด ขอ3เดือนปรับไอที-ธปท.บี้เปิดเผยต้นทุน
Loading

แบงก์เร่งรื้อเกณฑ์ ดบ.ผิดนัด ขอ3เดือนปรับไอที-ธปท.บี้เปิดเผยต้นทุน

วันที่ : 13 กุมภาพันธ์ 2563
ธปท. ออกหนังสือเวียนแจ้งแบงก์เร่งปรับระบบไอที รองรับแนวทางคิดดอกเบี้ย ผิดนัดชำระแบบใหม่ ภายใน 1 พ.ค.นี้ สร้างมาตรฐานกลางตีกรอบ "คำนวณอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี-ตัดหนี้ เน้นลดเงินต้น" ฟากแบงก์ชี้กระทบ รายได้ค่าฟี "กสิกรไทย" ประเมิน รายได้วูบ 400 ล้านบาท "เกียรตินาคิน" เผยรายได้ค่าฟีเข้าข่ายได้รับผลกระทบ 3 ล้านบาทต่อเดือน ด้าน "ไทยพาณิชย์" ชี้สินเชื่อ 3 กลุ่ม "สินเชื่อเอสเอ็มอี- สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อที่อยู่อาศัย" กระทบมากสุด
          ธปท. ออกหนังสือเวียนแจ้งแบงก์เร่งปรับระบบไอที รองรับแนวทางคิดดอกเบี้ย ผิดนัดชำระแบบใหม่ ภายใน 1 พ.ค.นี้ สร้างมาตรฐานกลางตีกรอบ "คำนวณอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี-ตัดหนี้ เน้นลดเงินต้น" ฟากแบงก์ชี้กระทบ รายได้ค่าฟี "กสิกรไทย" ประเมิน รายได้วูบ 400 ล้านบาท "เกียรตินาคิน" เผยรายได้ค่าฟีเข้าข่ายได้รับผลกระทบ 3 ล้านบาทต่อเดือน ด้าน "ไทยพาณิชย์" ชี้สินเชื่อ 3 กลุ่ม "สินเชื่อเอสเอ็มอี- สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อที่อยู่อาศัย" กระทบมากสุด

          นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับปรุงการคิดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) และอัตราดอกเบี้ยตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และ ค่าปรับ ไถ่ถอนก่อนกำหนด (prepayment charge) จะกระทบมากที่สุด ซึ่งน่าจะทำให้รายได้ ค่าฟีของแบงก์หายไปราว 1% ของ รายได้ค่าฟีทั้งหมดที่อยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท หรือราว 400 ล้านบาท

          "รายได้กระทบอยู่แล้ว โดยเราไม่ได้ มองรายได้เหล่านี้เป็นรายได้หลักอยู่แล้ว แต่มีไว้เพื่อให้ลูกค้าได้ตระหนักถึง การชำระหนี้ตรงต่อเวลา" นายจงรักกล่าว

          นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ระบบไอทีเพื่อรองรับการปรับเกณฑ์ คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระใหม่มีความ ซับซ้อน จึงต้องใช้ระยะเวลา แต่น่าจะเร่งได้ ทันภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยรายได้ ค่าฟีของแบงก์ถูกกระทบไม่มาก เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดเล็ก และมีพอร์ต สินเชื่อที่เข้าข่ายไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้ที่เข้าข่ายประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ดี แม้ว่าไม่สูงมาก แต่ก็เป็นความท้าทายที่ธนาคารจะต้อง หารายได้อื่นมาชดเชย

          นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและค่าฟีใหม่ จะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าฟีของแบงก์แน่นอน ซึ่งตอนนี้แบงก์อยู่ระหว่าง การเก็บตัวเลขรายได้ที่หายไป

          "ค่าฟีส่วนที่กระทบเยอะ จะเป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งจะใช้ในกลุ่มสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระ เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนสินเชื่อรถยนต์ จะไม่มีผลกระทบ เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (fixed rate) ส่วนค่าปรับ ไถ่ถอนก่อนกำหนด ธนาคารไม่ได้คิด อยู่แล้ว จึงไม่น่ากระทบมากนัก"

          นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนเรื่อง ซักซ้อม การคิดค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงิน ได้ปรับระบบไอที รองรับการคิดดอกเบี้ย ผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 พ.ค.2563 นี้ อาทิ แนวทางการคำนวณแบบอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี (annualised percentage rate : APR) จากที่ปัจจุบันธนาคารจะใช้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับผู้กู้ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 2 แบบ คือ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ค่าฟีสูง หรือบางแห่งคิดดอกเบี้ยสูง แต่ค่าฟีต่ำ

          "ธปท.ต้องการให้ธนาคารคำนวณ APR ออกมาได้เลย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทราบต้นทุนที่ใช้บริการ สามารถเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ สำหรับใช้ในการตัดสินใจ" นางธัญญนิตย์ กล่าว

          ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระนั้น กำหนดแนวทางคือให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานเงินต้นของค่างวดที่ ลูกหนี้ผิดนัดชำระ (ทุกงวดที่ลูกหนี้ ผิดนัดชำระ) ตราบเท่าที่สัญญายังมีผลผูกพัน จนกว่าผู้ให้บริการจะบอกเลิกสัญญา ซึ่งการบอกเลิกสัญญาควรมีระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และกรณีลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ตามแนวทางนี้ด้วย

          โดย ธปท.ได้ขอให้ผู้ให้บริการสื่อสารให้พนักงานสาขารวมทั้ง call center ทราบโดยทั่วถึงและปฏิบัติให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน

          นอกจากนี้ ภายในกลางปี 2563 ธปท.จะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าฟีใหม่ให้ผู้ให้บริการนำไปใช้กับสินเชื่อที่มี การคิดดอกเบี้ยและค่าฟีที่มีการชำระ แบบรายงวดและสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่าแนวทางการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการ เรียกเก็บค่าฟีที่ออกมาค่อนข้างมีผลกระทบ ต่อรายได้ของธนาคาร แต่เป็นสิ่งที่ ธปท. ต้องการทำ ให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกค้า และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นไป แนวทางเดียวกันทุกธนาคาร

          "แบงก์ขอเวลา 3 เดือนในการปรับระบบไอทีใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หลักคิดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อแบงก์จะปรับระบบไอทีแล้ว จึงอยากให้ ธปท.ชี้แจงว่า จะต้องมีปรับอะไรเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาของหนังสือเวียนที่ออกมานี้ โดยในอนาคต ธปท.จะให้แบงก์นำหลักการนี้ ไปใช้ในสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย" นางธัญญนิตย์กล่าว
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ