สายสีแดงรวบพื้นที่3สถานีใหญ่ จูงใจ ค้าปลีก ชิงสัมปทาน20ปี
Loading

สายสีแดงรวบพื้นที่3สถานีใหญ่ จูงใจ ค้าปลีก ชิงสัมปทาน20ปี

วันที่ : 23 มกราคม 2563
งบฯสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" บานทะลุ 1 แสนล้าน มี.ค.นี้คมนาคมขอ ครม.ถมอีก 1.1 หมื่นล้าน เร่งปิดจ็อบโปรเจ็กต์ รับเปิดหวูด ม.ค.ปี'64
          งบฯสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" บานทะลุ 1 แสนล้าน มี.ค.นี้คมนาคมขอ ครม.ถมอีก 1.1 หมื่นล้าน เร่งปิดจ็อบโปรเจ็กต์ รับเปิดหวูด ม.ค.ปี'64 ด้านบอร์ดสั่ง ร.ฟ.ท.รวบพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 สถานี "บางซื่อ-ดอนเมือง-รังสิต" เปิดประมูลหาเอกชนรายเดียวบริหาร 15-20 ปี หลังเอกชนหวั่นขาดทุน ผู้โดยสารไม่มาตามนัด จับตากลุ่มเดอะมอลล์ เซ็นทรัล ปตท. ซีพี ออลล์ ชิงดำปักหมุดรับไฮสปีด เชื่อมสนามบินดอนเมือง

          นับถอยหลังรถไฟชานเมืองสาย สีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังเร่งสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม.ให้แล้วเสร็จเปิดบริการตลอดเส้นทางในเดือน ม.ค. 2564 แต่ยังมีปัญหาให้ต้องเร่งแก้เพื่อให้โครงการเป็นไปตามเป้าหมาย

          แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. วันที่ 16 ม.ค. 2563 อนุมัติปรับกรอบวงเงินเพิ่ม 11,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ทำให้งบฯลงทุนโครงการจากปัจจุบัน 95,222 ล้านบาท เพิ่มเป็น 106,222 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบรับรถไฟความเร็วสูง สร้างรางจาก 3 ราง เป็น 4 ราง แบบไม่ตรงกับหน้างาน ทำให้มีงานก่อสร้างเพิ่ม ผู้รับเหมาจึงขอชดเชยจากการขยายเวลา ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าภาษีนำเข้าขบวนรถ

          เท 6 พัน ล.ผุดสถานีบางซื่อ

          ที่เพิ่มมากสุด คือ สัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุงของกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (ซิโน-ไทยฯ และยูนิคฯ) 5,000-6,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงานสัญญาที่ 2 โครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และสัญญาที่ 3 ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ของกิจการร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม)

          จะเสนอกระทรวงคมนาคมและขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ เป็นต้น ให้ความเห็น ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน มี.ค.นี้ ต้องเร่งดำเนินการ เพราะตอนนี้เหลืองบฯจ่ายค่างวดงานก่อสร้างให้ผู้รับเหมาได้อีกแค่ 3 เดือนเท่านั้น

          ปัจจุบันงานโยธาทั้งโครงการเกือบจะเสร็จ 100% งานสัญญาที่ 1 สถานีกลางบางซื่อ คืบหน้า 96% เหลืองานตกแต่งภายใน สัญญาที่ 2 งานโยธาเสร็จไปแล้ว และสัญญาที่ 3 งานระบบยังล่าช้าจากแผน ต้องเร่งให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อทดสอบการเดินรถแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน จากปัจจุบันเริ่มมีการนำรถวิ่งทดสอบบนรางอย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้ว

          นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ จะเปิดทดลองเดินรถให้ประชาชนใช้บริการแบบไม่เก็บค่าโดยสาร และเปิดเต็มรูปแบบเดือน ม.ค. 2564 คาดว่า จะมีผู้ใช้บริการ 80,000-100,000 เที่ยวคน/วัน

          รวบ 3 สถานีดึงเอกชนพัฒนา

          "นอกจากนี้ ต้องเร่งเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการด้วย การประชุมบอร์ดที่ผ่านมาได้เสนอแผนพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ รองรับการเปิดม.ค. 2564 แต่บอร์ดให้ทบทวน อาจทำให้เปิดใช้พื้นที่ล่าช้าออกไป"

          โดยบอร์ดให้ทบทวนผลศึกษา รูปแบบการบริหารและพัฒนาสถานีบางซื่อ พื้นที่ 264,862 ตร.ม. ที่ ร.ฟ.ท.จะประมูลหาเอกชนบริหาร โดยรวมให้เป็นสัญญาเดียว และให้นำสถานีดอนเมือง และรังสิตมารวมด้วย เพื่อจูงใจเอกชน

          "หากประมูลเฉพาะบางซื่อจะมีต้นทุนสูง เสี่ยงขาดทุนและให้ทำประมาณการรายได้และต้นทุนใหม่ให้ชัดเจน"

          แบกขาดทุน 600 ล้าน 6 ปี

          แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ผลศึกษาเดิมระบุชัดรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายช่วง 5-6 ปีแรก นับจากวันเปิดบริการอาจต้องขาดทุน 500-600 ล้านบาท จึงให้จ้างที่ปรึกษาศึกษา โดยให้รวมสถานีดอนเมืองกับรังสิต บอร์ดเชื่อว่า การรวมพื้นที่ให้มากขึ้นจะจูงใจ เอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ศึกษาทั้ง 2 สถานีไว้แล้ว แต่รวม อยู่ในแผนหารายได้เชิงพาณิชย์ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง

          ผลศึกษาสถานีกลางบางซื่อเดิมแยกประมูล 4 สัญญาหลัก ได้แก่ 1.สัญญาบริหารพื้นที่ภายใน 5 ปี วงเงิน 600 ล้านบาท 2.สัญญาการบริหารพื้นที่จอดรถในสถานีกลางบางซื่อ 1,700 คัน เวลา 5 ปี วงเงิน 90 ล้านบาท 3.สัญญาการให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในและรอบสถานีรวม 13,208 ตร.ม. ระยะเวลา 10 ปี และ 4.สัญญาบริหารพื้นที่ สื่อโฆษณาในและรอบสถานีกลาง 2,000 ตร.ม. สัญญา 10 ปี

          ยักษ์ค้าปลีกเกาะติด

          จากการรับฟังความเห็นเอกชน (market sounding) เดือน พ.ค. 2562 ส่วนใหญ่ มองว่าสัญญา 10 ปี ยังไม่น่าสนใจ ควรขยายเวลาออกไป 15-20 ปี เพราะสถานีกลางบางซื่อมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง คาดว่า ปีแรกที่เปิดบริการจะขาดทุน 50 ล้านบาท (รายรับ 150 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 200 ล้านบาท) หลังจากนั้นหากเปิดบริการเต็มรูปแบบ ยอดขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท

          "เอกชนที่สนใจ เช่น บจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บจ.เดอะมอลล์กรุ๊ป, บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และ บจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) เป็นต้น นอกนั้น เป็นกลุ่มบริษัทรายกลาง รายเล็ก"

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนผลการศึกษา การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 8 สถานีของสายสีแดงที่ทำไว้เดิม ยังไม่ได้ศึกษาไปถึงการกำหนดอัตราค่าเช่า หรือมูลค่าการลงทุนที่เหมาะสม ในส่วนของสถานีดอนเมือง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ 13,478 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่นอกเขตโดยสาร (free area) 10,446 ตร.ม. ส่วนนี้จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งหมด และพื้นที่หลังเขตโดยสาร (paid area) 3,032 ตร.ม. มีเอกชนรายใหญ่ให้ความสนใจตั้งแต่การประชุมทดสอบความสนใจครั้งก่อน เช่น เดอะมอลล์ และเซ็นทรัล เนื่องจากเป็นสถานีร่วมระหว่างรถไฟสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และเป็นสถานีเชื่อมกับสนามบินดอนเมือง

          ส่วนสถานีรังสิต พื้นที่เชิงพาณิชย์ 6,400 ตร.ม. แบ่งเป็น free area 2,400 ตร.ม. และ paid area 4,000 ตร.ม. แม้จะเป็นสถานีปลายทางของรถไฟสาย สีแดง แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ มองว่าบริเวณรอบสถานียังเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และห่างจาก ถ.พหลโยธิน ที่เป็นถนนสายหลัก นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ คือ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ที่ห่างกัน 2 กม. บวกกับยังไม่มีระบบฟีดเดอร์ที่ดีในการเชื่อมต่อการเดินทาง
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ