แบงก์ผวาหนี้เสียพุ่งเมินธปท.ผ่อนเกณฑ์LTV
Loading

แบงก์ผวาหนี้เสียพุ่งเมินธปท.ผ่อนเกณฑ์LTV

วันที่ : 23 มกราคม 2563
สัญญาณหนี้เสีย ยังเพิ่มต่อเนื่องส่งผลแบงก์ระมัด ระวังปล่อยกู้เพิ่ม ไร้ประโยชน์ แม้ธปท.จะผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้บ้าน เหตุแบงก์ให้สินเชื่ออเนกประสงค์เพิ่มเติมอยู่แล้ว
          หวั่นใช้ทุนเพิ่มกระทบกำไร

          สัญญาณหนี้เสีย ยังเพิ่มต่อเนื่องส่งผลแบงก์ระมัด ระวังปล่อยกู้เพิ่ม ไร้ประโยชน์ แม้ธปท.จะผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้บ้าน เหตุแบงก์ให้สินเชื่ออเนกประสงค์เพิ่มเติมอยู่แล้ว

          ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ผ่อนเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับการกู้ซื้อบ้านที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยบ้านหลังแรก นอกจากกู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกันแล้ว ยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง หรือซ่อมแซม ส่วนหลังที่ 2 แม้จะยังคงการวางหลักประกันไว้ที่ 10% และ 20% แต่ลดระยะเวลาการผ่อนลงเดิม เกินและไม่เกิน 3 ปีเหลือ 2 ปี ขณะที่ราคาบ้านที่เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ลดเงินดาวน์จากเดิม 20% เหลือ 10% สำหรับบ้านหลังแรก พร้อมทั้งผ่อนปรนน้ำหนักความเสี่ยงที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่มี LTV จาก 80% เป็น 90% สำหรับสินเชื่อมากกว่า 10 ล้านบาท

          นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโส ผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่จะให้สินเชื่ออเนกประสงค์เพิ่มเติมจากที่ LTV 100% อยู่แล้ว ดังนั้นในแง่การปรับเกณฑ์เพิ่มให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกกู้เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งหรือซ่อมแซมได้อีก 10% จึงไม่น่าจะช่วยให้ตลาดระบายสต๊อกอสังหาริมทรัพย์มากนัก แต่อาจจะช่วยได้ในแง่การผ่อนเกณฑ์บ้านหลังที่ 2 แทน แต่ไม่ทราบจำนวนของกลุ่มนี้ว่ามีเท่าไหร่ เพราะซีไอเอ็มบีไทยเน้นรีไฟแนนซ์ซึ่งพบว่า 30% ของลูกค้ารีไฟแนนซ์มีบ้าน 2 หลังขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมา ลูกค้ายื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์น้อยเพราะต้องวางเงินดาวน์เพิ่ม จึงเลือกอยู่ธนาคารเดิม

          ส่วนการลดน้ำหนักความเสี่ยง (RiskWeight) ปัจจุบันแยกเป็น 2 ส่วน เช่น LTV 90% น้ำหนักความเสี่ยงคิดเป็น 75% หรือ 35% เพราะธปท.กำหนดทางเลือกในการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตเป็น 2 วิธี ซึ่งธนาคารที่ใช้วิธี Standardized จะได้ประโยชน์จาก LTV ต่ำ และวิธี IRB: Internal Ratings-Based Approach ซึ่งธนาคารต้องตั้งสำรองมากกว่าวิธี Standardized เพราะเป็นวิธีคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตที่มีความซับซ้อนสะท้อนความเสี่ยงได้ดีกว่าวิธี SA อย่างไรก็ตามกรณีการปล่อยสินเชื่อที่มี LTV ต่ำกว่า 70% คุณภาพสินเชื่อมักจะดีกว่าการปล่อยสินเชื่อที่มี LTV 90% โดยปีหน้าเราจะไปใช้วิธี IRB ซึ่งเน้นคุณภาพลูกหนี้ และผู้กู้ที่มีความสามารถผ่อนชำระระยะยาวมากกว่าที่จะคำนึงเรื่องหลักประกัน

          "ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้น่าจะเสมอตัว เพราะมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเศรษฐกิจภาพรวมไม่ดี การส่งออกปรับลดเงินบาทแข็งค่า หนี้ครัวเรือนสูงและหนี้เอ็นพีแอลที่เริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อประกอบกับผู้ประกอบการชะลอแผนที่จะก่อสร้างแนวสูงในกรุงเทพฯ ส่วนแนวราบต้องซื้อชานเมืองและยังมีปัจจัยภายนอกอีก"

          นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อมีหลักประกันที่ความเสี่ยงต่ำ ทำให้ธนาคารยอมปล่อยสินเชื่อ แต่กรณีที่ใครปล่อยเกินจากที่ธปท.กำหนดก็ไม่นับเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) ซึ่งการผ่อนเกณฑ์น้ำหนักความเสี่ยงเป็น 35% จะช่วยให้ธนาคารใช้ทุนน้อยลง แต่สาระสำคัญอยู่ที่ธนาคารกลัวหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้ธนาคารต้องใช้ทุนและกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร

          นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (TMB analytics) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารในระบบมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 16-18% ซึ่งเพียงพออยู่แล้ว กรณีธปท.ลดน้ำหนักความเสี่ยงเป็น 35% สำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สินเชื่อที่มี LTV 90% แม้จะประหยัดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่หากนับรวมต้นทุนเงินฝากหรือหนี้เอ็นพีแอลที่น่าจะสูงเกินระดับ 3% ขณะที่โอกาสทำกำไรค่อนข้างบางแล้ว เชื่อว่า ทุกธนาคารยังระมัดระวังเช่นเดิม

          "แบงก์ส่วนใหญ่ จะใช้วิธี SA ในการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยง จึงเอื้อให้ทุกแบงก์มีภาระเงินกองทุนที่ลดลงและได้อานิสงส์จากการผ่อนเกณฑ์ครั้งนี้ แต่เชื่อว่า แบงก์ยังเข้มงวดปล่อยสินเชื่อจากทิศทางเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มอาคารชุดยังน่าห่วงกว่าแนวราบ โดยแนวโน้มตลาดยังแย่บวกเอ็นพีแอลที่เพิ่มเกือบทุกกลุ่ม ดังนั้นธปท.ผ่อนเกณฑ์ครั้งนี้ไม่ใช่ปลดล็อก"

          ธปท.เลือกคุมสินเชื่อที่มี LTV ได้ตรงจุด ซึ่งพบว่า สินเชื่อที่มี LTV 80% ขึ้นไปโดนมาตรการกระทบทำให้สินเชื่อหดตัว เห็นได้จากสินเชื่อที่มี LTV 80-90% ลดจาก 7.01 แสนล้านบาทเหลือ 5.81 แสนล้านบาทหรือลดลง 17% ขณะที่สินเชื่อที่มี LTV 90-100% ลดลง 12% จาก 9.16 แสนล้านบาท เหลือ 8.02 แสนล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม

          "การมี LTV ออกมาเป็นการเตือนตลาด ส่วนยอดสินเชื่อที่หดตัวนั้น เป็นผลจากวัฏจักรสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ขาลงและคุม LTV แต่เอ็นพีแอลที่เพิ่มมาจากวัฏจักรเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ขาลง ดังนั้นการที่ธปท.ส่งสัญญาณเป็นการเฝ้าระวังไม่บาดเจ็บมากกว่านี้"