มาตรการรัฐ ดันอสังหาฯปี 62โต
Loading

มาตรการรัฐ ดันอสังหาฯปี 62โต

วันที่ : 18 ธันวาคม 2562
'ศูนย์ข้อมูล'ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯดันยอดโอนติดลบลดเหลือ 2.2% เท่านั้น จากเดิมคาดจะติดลบถึง 7.7% แถมฉุดซัพพลายในตลาดลดลง ส่วนยอดคนต่างด้าวถือครองคอนโดในไทยรอบ 9 เดือนยังเพิ่ม 1.8% แต่มูลค่าลด 5.8% จีนยังครองแชมป์แต่ราคาที่ซื้อต่อยูนิตถูกลง
          ติดลบแค่2.2%เท่านั้นจากคาดการณ์เดิม-7.7%

          ต่าวด้าวยังซื้อคอนโดไทย9ด.พุ่ง1.8%-จีนยืน1

          'ศูนย์ข้อมูล'ชี้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯดันยอดโอนติดลบลดเหลือ 2.2% เท่านั้น จากเดิมคาดจะติดลบถึง 7.7% แถมฉุดซัพพลายในตลาดลดลง ส่วนยอดคนต่างด้าวถือครองคอนโดในไทยรอบ 9 เดือนยังเพิ่ม 1.8% แต่มูลค่าลด 5.8% จีนยังครองแชมป์แต่ราคาที่ซื้อต่อยูนิตถูกลง

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีคนต่างด้าวถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศจำนวน 9,427 ยูนิต เพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันตก ขณะที่ภาคอื่นๆ จำนวนลดลงทุกภาค โดยมีมูลค่าประมาณ 35,987 ล้านบาท ลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ห้องชุดรวม 371,402 ตารางเมตร ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สำหรับต่างด้าวที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในไทยมากที่สุดคือ จีน 57.6% คือจำนวน 5,430 ยูนิต มูลค่า 20,147 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 3.7 ล้านบาทต่อยูนิตโดย 5 จังหวัดแรกที่จีนถือครองมากสุดคือ กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และภูเก็ต รองลงมาคือ รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ไต้หวัน และสิงคโปร์

          นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ที่อยู่อาศัยปี 2562 คาดว่าปีนี้จำนวนยูนิตที่มีการโอน (ยอดโอน) น่าจะติดลบลดลงเหลือ -0.6% มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศน่าจะติดลบ 2.2% น้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบที่ประมาณ 2.7-7.7% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ครอบคลุมบ้านระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และผลจากโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่ให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาทแก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

          "มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ยังช่วยให้เกิดการดูดซับที่อยู่อาศัยในสต๊อกในช่วงครึ่งปีหลังได้ไม่น้อยกว่า 71,000 ยูนิต และในปี 2563 คาดว่าจะมีบ้านขายใหม่ได้ถึงประมาณ 166,000 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในแต่ละครึ่งปีและส่งผลให้ซัพพลายที่อยู่อาศัยในปีหน้าจะลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบช่วงไม่มีมาตรการ" นายวิชัยกล่าว และว่า ส่วนประมาณการยูนิตเหลือขายใน กทม.และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2562 จะมีการประมาณ 149,000 ยูนิต และคาดว่า ณ สิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ 139,000 ยูนิต ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 6.7% ผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ในส่วนตลาดภูมิภาคนั้นคาดว่าจะมีจำนวนยูนิตเหลือขายในจังหวัดภูมิภาค 20 จังหวัดประมาณ 109,000 ยูนิต และคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีจำนวน 87,000 ยูนิตลดลง 20.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562

          นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนการเลื่อนการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 นั้นในระยะแรกจะมีผลกระทบในแง่จิตวิทยาบ้าง แต่ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมตัวไว้ในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมีการทำที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาไปให้เช่าเพื่อทำอย่างอื่นในระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเมื่อนำมาพัฒนาแล้วในอนาคตก็จะไม่ตุนแลนด์แบงก์ไว้อย่างในอดีตที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนทั่วไปนั้นอาจจะชะลอดูท่าที ถึงผลที่กระทบต่อการซื้อเพื่อการลงทุน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเทียบกับน้ำหนักผลตอบแทนที่ได้รับจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนเมื่อเทียบ กับภาษีที่จ่ายนั้นแล้วสุดท้ายเชื่อว่าประชาชนจะกลับมาซื้อเพื่อการลงทุนต่อไป
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ