ซีพี พร้อมเซ็นไฮสปีดฯลุยระดมทุน-ตั้ง เอสพีวี
Loading

ซีพี พร้อมเซ็นไฮสปีดฯลุยระดมทุน-ตั้ง เอสพีวี

วันที่ : 3 มิถุนายน 2562
"ซีพี"ประกาศพร้อมลงนามไฮสปีดภายใน 15 มิ.ย.นี้ เร่งตั้ง เอสพีวี พร้อมเร่งระดมทุนพันธมิตร ยอมรับโครงการนี้ยาก ใช้งบประมาณสูง พร้อมชู "อีอีซี"เป็นต้นแบบไทยแลนด์ 4.0 ชี้ไฮสปีดจุดเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง แนะพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ยุค 5.0
          "ซีพี"ประกาศพร้อมลงนามไฮสปีดภายใน 15 มิ.ย.นี้ เร่งตั้ง เอสพีวี พร้อมเร่งระดมทุนพันธมิตร ยอมรับโครงการนี้ยาก ใช้งบประมาณสูง พร้อมชู "อีอีซี"เป็นต้นแบบไทยแลนด์ 4.0 ชี้ไฮสปีดจุดเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง  แนะพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ยุค 5.0

          รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ถูกกำหนด ให้มีการลงนามระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กับกิจการร่วมค้าบริษัท  เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ และแม้รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่ผ่านการพิจารณา แต่ทุกฝ่ายยืนยันความพร้อมในการลงนาม

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาหอการค้าไทย กล่าวภายในงาน ประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาคว่า ในขณะนี้ กลุ่มซีพีมีความพร้อมแล้วในการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ(เอสพีวี) เพื่อลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ ร.ฟ.ท.ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

          "ด้านเงินลงทุนยังอยู่ระหว่างการจัดหาและเร่งระดม ซึ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก เป็นงบประมาณจำนวนมาก" นายศุภชัย กล่าว

          รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ในการลงนามสัญญาร่วมลงทุน กลุ่มซีพีต้องตั้งเอสพีวี ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง การติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง การเดินและการบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง และการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์บริเวณสถานี

          ทั้งนี้ เอสพีวี จะต้องมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นมากกว่า 25% รวมทั้ง มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า  4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งก่อนเริ่มเดินรถต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท

          สำหรับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบผู้ร่วมถือหุ้น 4 กลุ่ม คือ 1.ซีพี 2.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และบมจ. ช.การช่าง  3.China Railway Construction Corporation Limited (จีน) และ 4.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์

          นายศุภชัย บรรยายพิเศษหัวข้อ Digital Transformation กับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคว่า อีอีซี จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการ ต่อยอด 4.0 ซึ่งจะสร้างเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในประเทศและภูมิภาค ซึ่งเปลี่ยนจากการขนส่งโดยรถยนต์เป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น ยกเว้นที่สหรัฐที่ให้สำคัญกับการบิน เพราะประเทศมีพื้นที่กว้าง

          "การพัฒนาแบบอีอีซีควรเกิดขึ้นในภาคอื่นของไทย โดยดึงเอาจุดแข็งของแต่ละภาคออกมาแล้วพัฒนาตามขีดความสามารถ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มี เส้นทางเชื่อมกับจีน รัฐบาลต้องวางนโยบายเพื่อผลักดันจุดแข็งนี้ ส่วนภาคใต้ที่ เชื่อมกับมาเลเซียหากรวมการพัฒนากับพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของมาเลเซียจะส่งผลให้มูลค่าจีดีพีเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่การพัฒนาคอคอดกระหรือโครงการแลนบริดจ์ จะส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการขนส่งมหาศาล"นายศุภชัย กล่าว

          ชี้สหรัฐ-จีนชิงผู้นำไซเบอร์

          นายศุภชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนความก้าวหน้า บริษัททรูฯ เปิดให้คนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันให้องค์กรปรับตัวได้ต่อเนื่อง แต่ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแรงและเร็ว ซึ่งใน ยุค 4.0 จะต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยง กระบวนการทำงานกับการสื่อสาร

          ทั้งนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ที่เก็บข้อมูลได้จำนวนมาก และพัฒนาจนคำนวณสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจแย่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสงครามไซเบอร์ เพื่อชิงการเป็นผู้นำข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี และเชื่อว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐทางไซเบอร์ด้วย โดยหวังว่าหลังจากนี้ การทำสงครามด้านเทคโนโลยีจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

          แนะไทยต่อยอดเข้าสู่ยุค 5.0

          นายศุภชัย กล่าวว่า ไทยต้องมี ความพร้อมด้านบุคลากร โดยมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน ที่ถูกต้องด้านเทคโนโลยีขึ้น โดยเฉพาะ ภาคเกษตรที่มีประชากร 40% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัว รับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้านเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อต่อยอดสู่ยุค 5.0 คือ การนำ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาจัดการข้อมูลที่มีมหาศาลที่มนุษย์จัดการไม่ได้ทั้งหมด

          ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าปี 2030 ออโตเมชั่น และเอไอ จะกระทบต่อแรงงานไทยมากถึง 30% ซึ่งสอดคล้องกับสถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี) และเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่ประเมินศักยภาพดิจิทัลอันดับ 1 คือ สหรัฐ รองลงมา คือ สิงคโปร์ ส่วนไทยอยู่อันดับ 39 ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ ขนาดเศรษฐกิจประเทศที่มีมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านไอที

          หอการค้ารับลูก"ดิจิทัล"

          นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว่า การเพิ่มมูลค่า สินค้าและบริการให้กับท้องถิ่นเป็นเรื่องที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยการผลักดันการนำดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์มาใช้ควบคู่กับการนำแนวคิดไทยเท่ เข้ามาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ สู่ท้องถิ่น

          ทั้งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือของ เครือข่าย ซึ่งในการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาคครั้งนี้ จะเป็นการระดม ความคิดเห็นจากสมาชิกในการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานระหว่างหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และ YEC หอการค้าจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5 ภาค ภายใต้ภาวะสถานการณ์การค้าโลกด้วย
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ