แบงก์ชาติคุมเข้มเช่าซื้อ หวั่นซ้ำเติมผู้ประกอบการ เหตุศก.ไม่ฟื้น
Loading

แบงก์ชาติคุมเข้มเช่าซื้อ หวั่นซ้ำเติมผู้ประกอบการ เหตุศก.ไม่ฟื้น

วันที่ : 21 พฤษภาคม 2562
ศูนย์วิจัยเคแบงก์หวั่นแบงก์ชาติออกเกณฑ์เข้มงวดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซ้ำเติมผู้ประกอบธุรกิจให้แย่ไปกว่าเดิม หลังพบเศรษฐกิจไทยยังฟื้นไม่เต็มที่ แนะธปท.ขีดเส้นระดับภาระหนี้ต่อรายได้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันประชาชนก่อหนี้เกินกำลัง
          ศูนย์วิจัยเคแบงก์หวั่นแบงก์ชาติออกเกณฑ์เข้มงวดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซ้ำเติมผู้ประกอบธุรกิจให้แย่ไปกว่าเดิม หลังพบเศรษฐกิจไทยยังฟื้นไม่เต็มที่ แนะธปท.ขีดเส้นระดับภาระหนี้ต่อรายได้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันประชาชนก่อหนี้เกินกำลัง

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เครือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ภาระหนี้ของครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความเป็นห่วงโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็ว แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงไม่ออกแนวทางเข้มงวดมากนัก และยังไม่รู้ว่ามาตรการจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี หากดำเนินการดูแลเข้มงวดอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและทำให้ธุรกิจแย่ลง ซึ่งมองว่าธปท.จะเข้ามาดูแลเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) มากกว่า เนื่องจากสามารถควบคุมการก่อหนี้ได้ทุกประเภทสินเชื่อ

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธปท.ได้เข้าหารือกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องดูแลภาระหนี้ต่อรายได้มาสักระยะแล้ว ซึ่งอาจให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการกำหนดระดับการก่อหนี้ไม่ให้เกินเท่าใดต่อรายได้ จากปัจจุบันแต่ละธนาคารจะมีเกณฑ์ดูแลความเสี่ยงและปล่อยสินเชื่อเป็นของตนเอง รวมทั้งนิยามของแต่ละแห่งก็แตกต่างกันออกไป แต่มองว่าหากออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินกำลัง

          “ถ้าเข้มงวดเรื่องใดมากเกินไปในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ดี ก็จะทำให้แย่ลง แต่หลักการของการดูแลสินเชื่อรถยนต์ของธปท.มีเหตุผล อยู่ที่ช่วงเวลาที่จะออกมาเท่านั้น ซึ่งการคุมภาระหนี้ต่อรายได้ต่อคนเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาได้มีการปรึกษาหารือกันมาตลอด จะให้คุมทุกอย่างที่เป็นสินเชื่อ รวมทั้งสินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูง” นายเชาว์ กล่าว

          นายเชาว์ กล่าวอีกว่า สำหรับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกเติบโตไม่มากนัก ส่วนใหญ่จากธุรกิจรายใหญ่หลังจากสิ้นปี 2561 มีการคืนวงเงินกู้มาก และจะขยายตัวเร่งขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี แต่ขณะนี้มีสินเชื่อที่ขยายตัวดีคือรายย่อย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกจากมาตรการ LTV สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่นเดียวกับช่วงไตรมาส 2 ที่เป็นฤดูฝน ทำให้สินเชื่อชะลอเป็นปกติ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ยังรอความชัดเจนทางการเมืองในประเทศและปัจจัยต่างประเทศต่าง ๆ ที่ยังมีความเสี่ยง ทำให้สะท้อนการลงทุนที่จะชะลอตามไปด้วย

          นายธีรชาติ จิรจรัสพร ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า เตรียมเข้าพบเพื่อพูดคุยกับ ธปท.ถึงสถานการณ์สินเชื่อรถยนต์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยคนใหม่ หลังจากธปท.ได้พบสัญญาณการเร่งตัวของสินเชื่อ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

          ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรวม 2.44 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราเติบโต 19.22% จากปี 2560 เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดรถยนต์ โดยมียอดการจำหน่ายรถในปี 2561 จำนวน 1.03 ล้านคัน เติบโต 16.12% จากปี 2560 ครอบคลุมสินเชื่อรถยนต์ใหม่สัดส่วน 72% รถยนต์ใช้แล้ว 20% และสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ 8% แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินและบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 15 รายบริษัทลีสซิ่งของผู้ผลิตรถยนต์ 7 ราย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) 19 ราย

          ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2562 จะใกล้เคียงกับปีก่อนมาจากความต้องการเปลี่ยนรถยนต์ในโครงการรถคันแรก และการทำการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์จากการออกรถยนต์รุ่นใหม่และแคมเปญที่จูงใจ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่ต่ำกว่าคาด การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาระหนี้ของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นจนถึงไตรมาส 3 แต่ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อยังต้องคำนึงต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นภายใต้การบังคับใช้สัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ