ขอนแก่น-เชียงใหม่ ฟิน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ
Loading

ขอนแก่น-เชียงใหม่ ฟิน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

วันที่ : 3 มกราคม 2562
ในปี 2562 ชาวกรุงเทพฯยังต้องเผชิญสภาพปัญหาจราจรติดขัดอย่างต่อเนื่องผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ถือว่าเบาลงบ้างเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสำคัญส่วน ต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-ลำลูกกา-คูคต) คืนพื้นที่จราจรแล้ว เหลือก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่พาดผ่านถนนรามอินทรา และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ผ่านถนนลาดพร้าว เช่นเดียวกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ในถนนรามคำแหง
          ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง

          ในปี 2562 ชาวกรุงเทพฯยังต้องเผชิญสภาพปัญหาจราจรติดขัดอย่างต่อเนื่องผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ถือว่าเบาลงบ้างเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสำคัญส่วน ต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-ลำลูกกา-คูคต) คืนพื้นที่จราจรแล้ว เหลือก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่พาดผ่านถนนรามอินทรา และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ผ่านถนนลาดพร้าว เช่นเดียวกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ในถนนรามคำแหง

          จังหวัดหัวเมืองใหญ่เดินหน้าแก้ปัญหาจราจรด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าตามโมเดลกรุงเทพฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้บริหารโครงการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ทำหน้าที่ศึกษาระบบ ผลการศึกษาเห็นว่าควรมีระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าแล้วใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และ พิษณุโลก รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มอีก 1 จังหวัด คืออุดรธานี

          "ภูเก็ต"กลัวแชร์เลนอันตราย

          จ.ภูเก็ต มีตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ทุกปี ขาดระบบขนส่งสาธารณะจากสนามบินภูเก็ตไปยังแหล่งท่องเที่ยวและเข้าสู่ตัวเมือง ผลการศึกษาและการสอบถามความคิดเห็นประชาชน เลือกใช้รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ภูเก็ต ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ได้สั่งการให้เร่งรัดโครงการเปิดให้เอกชนร่วมทุนระยะเร่งด่วน (PPPFast Track) ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ภายใต้งบประมาณ 30,155 ล้านบาท ระยะทาง 41.7 กม. นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดประมูลโครงการต่อไปขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ศึกษาแนวเส้นทางและแผนร่วมทุนภาคเอกชนไว้หมดแล้วแต่ติดปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ทำให้มีแนวโน้มต้องปรับแนวเส้นทางบางจุดจากเดิมที่ติดตั้งระบบรางบนทางหลวงเปลี่ยนมาเป็นก่อสร้างทางยกระดับสลับกับวิ่งบนพื้นดิน

          จากข้อกังวลของกรมทางหลวง (ทล.) เรื่องความปลอดภัยระหว่างสร้างที่ต้องใช้พื้นผิวถนนร่วมกับรถยนต์ รวมทั้งเรื่องปัญหาจราจรเพราะภูเก็ตมีการจราจรคับคั่งอย่างมาก ถนนเจ้าฟ้าตะวันออกที่จะก่อสร้างแทรมภูเก็ตปริมาณรถค่อนข้างสูง 60,000-80,000 คันต่อวัน ต้องเดินถอยหลังกลับไปศึกษารูปแบบการก่อสร้างกันใหม่

          "เชียงใหม่"เร่งศึกษาร่วมทุน

          จ.เชียงใหม่ต้องรับมือกับปริมาณรถเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาจราจรช่วงเร่งด่วนขณะเดียวกันเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับ ได้ข้อยุติแล้วว่าเชียงใหม่จะสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือเรียกสั้น ๆ ว่า "แทรม" ระหว่างนี้ รฟม.อยู่ระหว่างหาบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาแนวทางร่วมทุน คาดว่าใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนก่อนเสนอ ครม.อนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย. 2562 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประมูล และก่อสร้างได้ภายในปีเดียวกันนี้

          โครงการแทรมเชียงใหม่มี 3 เส้นทางหลักรวมระยะทาง 34.93 กม. มูลค่าการลงทุนรวม 95,321.66 ล้านบาทเกือบแสนล้าน ประกอบด้วย 1.สายสีแดง (รพ.นครพิงค์-บิ๊กซีหางดง) 12 สถานี 12.54 กม. 2.สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ห้างพรอมเมนาดา) 13 สถานี 10.47 กม. และ 3.สายสีเขียว (แยกรวมโชค-สนาม บินเชียงใหม่) 10 สถานี 11.92 กม. โดยจะนำร่องสายสีแดง ก่อนมีทางวิ่งระดับดิน (เขตชานเมืองวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ บางส่วน) ผสมกับใต้ดิน (เขตเมือง) เริ่มต้นจาก รพ.นครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการเชียงใหม่และสนามกีฬา 700 ปีต่อไปศูนย์ ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่และเริ่มใช้ทางวิ่ง ใต้ดินบริเวณแยกข่วงสิงห์สู่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่เมื่อพ้นเขตท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่จะกลับขึ้นใช้ทางวิ่งบนดินสิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)

          "โคราช"ย้าวยาว 50 กม.

          สำหรับ จ.นครราชสีมา ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่งจะเริ่มต้นหลัง สนข.ศึกษาความเติบโตของสภาพเมืองที่ต้องมีระบบขนส่งสาธารณะ ...ข้อศึกษาเบื้องต้นกำหนดให้โครงการรถไฟฟ้ารางเบานครราชสีมา ระยะทางรวม 50.09 กม. มี 3 แนวเส้นทาง คือ 1.สายสีเขียวช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กม. 2.สายสีส้มช่วงแยก ประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม.และ 3.สายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้าน นารีสวัสดิ์ 7.14 กม. และส่วนต่อขยาย ช่วงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ 4.48 กม.มี 22 สถานี โดยนำร่องก่อสร้างสายสีเขียวเป็นอันดับแรก...เมื่อเร็ว ๆ นี้ ครม.ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา พ.ศ. ...แล้ว

          เอกชนจองสร้าง"ขอนแก่น"

          โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่น เดินทางมาถึงขั้นเตรียมเปิดประมูลแล้ว รอเพียงให้กระทรวงคมนาคมอนุมัติเบื้องต้นคาดว่าไม่เกินเดือน ก.พ. 2562 จะเริ่มประมูลและเริ่มก่อสร้างโครงการได้ทันทีภายในปี 2562 ล่าสุดภาคเอกชนบริษัท ช ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) (CHO) ออกมาให้ข่าวแล้วว่าสนใจร่วมประมูลเบื้องต้นบริษัทเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการผลิตรถไฟฟ้าในขอนแก่นแล้วทั้งโรงงาน และการเจรจาชิ้นส่วนกับต่างประเทศ

          คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ได้เห็นชอบให้ จ.ขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 โดยอนุมัติให้พัฒนานำร่องเส้นทางสายสีแดงช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กม.มูลค่าลงทุน ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เป็นหน่วยงานกลางขับเคลื่อนโครงการพร้อมทั้งนำผลการศึกษาโครงการไปเจรจาเรื่องแหล่งเงินกู้ โดยก่อนหน้านี้ KKTS ได้ให้เอกชนยื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายปี 60 แต่ชะลอการเปิดซองข้อเสนอไว้เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารโครงการพบว่าการเปิดขายซองครั้งดังกล่าว มีเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อซองมากกว่า 10 ราย และมีเอกชนยื่นซองประมูลสัญญาละ 1 ราย

          "อุดรธานี"ได้แค่รถเมล์ไฟฟ้า

          อย่างไรก็ตาม ชาวอุดรธานี ต้องอกหัก เมื่อ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผอ.สนข. เปิดเผยความคืบหน้า ผลการศึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขต เมืองอุดรธานี พบว่าแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะเมืองอุดรธานีมี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 70.4 กม.ใช้ระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถเมล์ไฟฟ้า) ทั้งหมดเนื่องจากเหมาะสมกับปริมาณการ เดินทางของประชาชน และใช้วงเงินลงทุนไม่มากคาดว่าสรุปผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2562 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

          ขอบข่ายเส้นทางรถเมล์ไฟฟ้า 6 สาย ประกอบด้วย 1.สายสีแดงจากยูดีทาวน์-ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี 11.1 กม. 2.สายสีน้ำเงิน โกลบอลเฮ้าส์บ้านตาด-สวนสาธารณะหนองแด 13.9 กม. 3.สายสีเขียวศาลแรงงานภาค 4 (ทล.22)-ทางแยกถนนโภคานุสรณ์ตัดกับถนน โพศรี 13.1 กม. 4.สายสีส้มจากสถานีรถไฟอุดรธานีวนกลับมาสิ้นสุดที่สถานีรถไฟอุดรธานี 9.8 กม. 5.สายสีชมพูมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาวิทยา เขตอุดรธานี-แยกถนนอดุลยเดชตัดกับถนนโพนพิสัย 9.6 กม. และ 6.สายสีเหลืองแยกบ้านเลื่อม (จุดตัดถนนโพศรีกับทางเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันตก)-แยกบ้านจั่น 12.9 กม.โดยจะนำร่องในสายสีแดงจากยูดีทาวน์-ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีก่อน คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีเปิดบริการได้

          เบื้องต้นเทศบาลนครอุดรธานีให้ความสนใจร่วมลงทุนกับบริษัทอุดรธานีพัฒนาเมืองจำกัด อนาคตบางเส้นทางปรับเปลี่ยนระบบมาเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ได้

          คนต่างจังหวัดยังรอคอยอย่างมีความหวังที่ฝันอยากจะนั่งรถไฟฟ้าเหมือนคนกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและจูงใจให้คนหันมาใช้แทนรถยนต์ส่วนตัวลดปัญหารถติด ซึ่งจังหวัดไหนจะได้นั่งก่อนนั่งหลังต้องรอลุ้นต่อไป
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ