เซ็นสัญญา โมโนเรล 2สายแรกในไทย รฟม.แบ่งเค้ก!สัมปทานแสนล.
Loading

เซ็นสัญญา โมโนเรล 2สายแรกในไทย รฟม.แบ่งเค้ก!สัมปทานแสนล.

วันที่ : 16 มิถุนายน 2560
เซ็นสัญญา โมโนเรล 2สายแรกในไทย รฟม.แบ่งเค้ก!สัมปทานแสนล.

เริ่มแล้วรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย รฟม.เซ็นสัญญาให้เค้ก สัมปทานกว่าแสนล้านกลุ่มบีเอสอาร์ จอยท์เวนเจอร์ ที่มีบีทีเอสเป็นโต้โผ วันนี้ เพิ่มรถไฟฟ้าหลากสีเมืองกรุง สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง รวมระยะทาง 64 กม. ได้เห็นการก่อสร้างเร็ว ๆ นี้ สูงแค่ 7 เมตร วิ่งเกาะรางกลางถนน ตำรวจหวั่นรามอินทรา-ลาดพร้าวแจ้งวัฒนะ อัมพาตหนักถูกขุดพรุน กำชับผู้รับเหมาลดผลกระทบประชาชน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 12.00 น. วันที่ 16 มิ.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธี ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของไทย ระหว่าง นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (กลยุทธ์และแผน) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม.กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่มบีเอส อาร์ จอยท์ เวนเจอร์ ) นำโดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว

นายธีรพันธ์ กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาโครงการถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแครายมีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 54,000 ล้านบาท และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. วงเงิน 52,000 ล้านบาทแล้ว จะให้ผู้รับสัมปทานก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี 3 เดือน รวมเดินรถอีก 26 ปี 9 เดือน เป็น 30 ปี วางแผนการก่อสร้างโดยเริ่มจากการสำรวจชั้นดินเพื่อนำมาออกแบบการก่อสร้าง เนื่องจากทั้ง 2 โครงการอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวด้านสภาพการจราจรทั้งถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนลาดพร้าว โดยประชาชนจะเริ่มเห็นการก่อสร้างชัดเจนในปลายปีนี้ แล้วเสร็จเปิดให้บริการภายในปี 63 ค่าโดยสารแต่ละสายเริ่มต้นที่ 14-42 บาท คาดว่าจะมีผู้โดยสารทั้ง 2 เส้นทางรวมประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน ดังนั้นช่วงก่อสร้างขอให้ประชาชนอดทนรอรถไฟฟ้าหลากสีในอนาคตที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกสบายและช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า หน้าตาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองจะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว คือวิ่งคร่อมรางคู่หรือวิ่งเกาะกับตัวรางรถไฟฟ้า มีเสาโครงสร้างเล็กเพราะเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา บรรจุคนได้น้อยกว่าและใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่า สูงจากพื้นที่ตั้งแต่ 7 เมตร ความเร็วประมาณ 80 กม.ต่อชม. แตกต่างจากระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือเฮพวี่เรล 2 ราง (Heavy Rail Transit) ในสายสีน้ำเงินส่วนแรก (หัวลำโพง-บางซื่อ) สายสีม่วง (เตาปูน-บางซื่อ) และสายสีเขียวส่วนแรกหรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่จะเห็นโครงสร้างขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 16 เมตร มีฐานรากรับรางทำให้มองไม่เห็นการวิ่งคร่อมราง แต่ใช้ความเร็วพอ ๆ กัน

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผบช.น. กล่าวว่า ก่อนลงพื้นที่จะให้ผู้รับเหมาเสนอแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างเช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) บนถนนพหลโยธิน ยอมรับว่ารู้สึกเป็นกังวลกับปัญหารถติดอย่างหนักบนถนนรามอินทรา ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนลาดพร้าว โดยเฉพาะรามอินทราและลาดพร้าว เนื่องจากมีปริมาณการจราจรสูง ถนนรามอินทราเป็นทางตรงยาวแม้แยกไฟแดงน้อย แต่ปัจจุบันมีปัญหารถตู้สาธารณะจอดรับผู้โดยสารค่อนข้างมากทำให้รถชะลอตัวและติดสะสม ถนนลาดพร้าวปัจจุบันมีปัญหามากอยู่แล้ว ต้องประสานพื้นที่รอยต่อช่วยระบายรถเป็นทอด ๆ แต่จะพยายามหาแนวทางในการลดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

สำหรับแนวเส้นทางสายสีชมพูมี 30 สถานี เริ่มจากจุดเชื่อมต่อสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแครายไปตามถนนติวานนท์ถึงห้าแยกปากเกร็ดจากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

จากนั้นวิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวาจึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า บรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมี 25 สถานี เริ่มจากแยกรัชโยธิน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต วิ่งผ่านศาลอาญาจนถึงสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งตามถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์มีจุดปลายทางบริเวณแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จากนั้นวิ่งทางแยกต่างระดับพระราม 9 วิ่งไปตามถนนศรีนครินทร์เลี้ยวขวาสู่ถนนเทพารักษ์มีจุดปลายทางที่สำโรงเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ