ชงรัฐตั้งธนาคารที่ดิน
Loading

ชงรัฐตั้งธนาคารที่ดิน

วันที่ : 19 กุมภาพันธ์ 2561
ชงรัฐตั้งธนาคารที่ดิน

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ชงกระทรวงการคลังตั้งธนาคารที่ดิน กว้านซื้อที่ดินเอง รองรับลงทุนอีอีซี เมกะโปรเจกต์ การขยายเมือง หวังสกัด นายทุนเก็งกำไร ชี้ทำกองทุนออกขายมีกำไรแน่เพราะราคาที่พุ่งกระฉูด ด้านคลังรับลูกพร้อมศึกษาชูสัตหีบโมเดล แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอาชีวะ 5 หมื่นคน

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ได้เสนอแนวคิดให้กระทรวงการคลังจัดทำธนาคารที่ดิน หรือแลนด์แบงก์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการที่ดินในเชิงพาณิชย์รองรับการขยายตัวของเมือง รวมถึงให้มีที่ดินเพียงพอรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีอีซี หรือโครงการอื่นๆ ในอนาคต ตลอดจนเป็นการป้องกันการเก็งกำไรที่ดินของนายทุนที่เข้าไปซื้อที่ดินล่วงหน้าได้ด้วย

"ตอนนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องที่ดินมาก คิดอยากจะสร้างอะไร พัฒนาอะไรก็มีอุปสรรคหาที่ดินสำหรับก่อสร้างไม่ได้ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็มีการสร้างแลนด์แบงก์ขึ้นมา โดยเข้าไปลงทุนซื้อที่ดินมาไว้เพื่อลงทุนพัฒนาเอง หรือเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาเช่าบางส่วนเพื่อพัฒนาในรูปแบบเชิงพาณิชย์ และบางส่วน ก็อาจใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม ซึ่งมองว่ามีโอกาสมาก เพราะปกติที่ดินจะราคาขึ้นตลอด อย่างประเทศจีนก็ขึ้นมาถึง 20 เท่า ดีกว่าปล่อยไปให้นายทุนได้ประโยชน์จากการเก็งกำไร ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการเก็งกำไรที่ดิน อย่างในโครงการอีอีซีที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจ 22 แห่ง ก็จะเน้นการพัฒนาในพื้นที่นิคมเดิมเป็นหลัก ไม่ได้ไปสร้างนิคมใหม่ให้คนมาเก็งกำไร" คณิศ กล่าว

ทั้งนี้ การทำแลนด์แบงก์สามารถทำได้เลย ไม่ติดขัดขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะสามารถให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกรมธนารักษ์ ทำได้ในรูปแบบกองทุนระยะยาวออกขายให้นักลงทุน เช่น ให้ผลตอบแทน 5% ก็ถือว่าทำได้เพราะเชื่อว่าราคาที่ดินจะขึ้นได้สูงกว่านั้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินที่ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยหากมีการขายต่อก็จะต้องเสียภาษีเพิ่ม

ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานสายช่างในพื้นที่อีอีซี ประเมินว่ามี 5 หมื่นคน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค 12 แห่งใน จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จัดทำโครงการสัตหีบโมเดล นำบริษัทเอกชนเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรกับสถาบันการศึกษา พร้อมทั้งออกค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาเรียนฟรี มีงานทำ ซึ่งคาดว่าจะผลิตแรงงานป้อนอุตสาหกรรมในอีอีซีได้เพิ่มจากปีละ 300 คน เป็น 6,000 คน นอกจากนี้ ยังใช้มาตรา 44 เพิ่มความรวดเร็วในการจัดทำหลักสูตรการเรียนใหม่ใน 2 เดือน และอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญมาสอนเด็กนักเรียนได้

คณิศ กล่าวว่า ภาพรวมในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้เกินกว่า 4% แต่ในครึ่งปีหลังเมื่อผ่าน พ.ร.บ.อีอีซี จะขยายตัวเกิน 5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ รวมถึงการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่คาดว่าจะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ 3 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น รวมถึง ประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พร้อมรับข้อเสนอของเลขาฯ อีอีซีไปศึกษา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังมีการจัดทำกฎหมายธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร โดยจะเน้นการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรอยู่ ซึ่งจะไปดูว่ากฎหมายสามารถเปิดให้ธนาคารที่ดินนี้ทำที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ รวมถึงแนวทางการจัดการทำกองทุนก็จะเข้าไปพิจารณาเช่นกัน

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ