ชงหมอชิต6.2หมื่นล.เข้าครม. ดึงบิ๊กอสังหาร่วมสร้างมิกซ์ยูส 7 แสนตร.ม.
Loading

ชงหมอชิต6.2หมื่นล.เข้าครม. ดึงบิ๊กอสังหาร่วมสร้างมิกซ์ยูส 7 แสนตร.ม.

วันที่ : 4 กันยายน 2561
คลังชงโครงการหมอชิต 2.6 หมื่นล้านเข้าครม. ด้านบางกอก เทอร์มินอล พร้อมดึงพันธมิตรยักษ์ใหญ่อสังหาฯ เข้าร่วมทุน ก่อสร้างมิกซ์ยูสกว่า7แสนตร.ม.พร้อมจ่ายค่าฐานรากให้ธนารักษ์ 1 พันล้าน ส่วนโครงการร้อยชักสามจ่อคิวเข้าครม.รายต่อไป

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตเดิม มูลค่าการก่อสร้าง 2.6 หมื่นล้านบาท ได้เสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนลงนามในสัญญากับเจ้าของสัมปทานรายเดิม คือ บริษัท บางกอก เทอร์มินอล จำกัด

สำหรับโครงการนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 63 ไร่ ตรงข้ามสวนจตุจักร รูปแบบโครงการเป็นมิกซ์ยูส7แสนตารางเมตร ประกอบด้วย โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ช็อปปิ้ง ศูนย์การประชุม ออฟฟิศบิลดิ้ง ส่วนอาคารที่จอดรถและอาคารสำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่จะอยู่บนอาคารจอดแล้วจรของรถไฟฟ้าบีทีเอสรวม1.2หมื่นตารางเมตร มูลค่า2.6หมื่นล้านบาท จากเดิม1.8หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต กรมฯ ได้เตรียมเสนอร่างเพิ่มเติมในส่วนของคดีความค่าโง่ที่กรมธนารักษ์ชำระค่าชดเชยงานก่อสร้างค่าฐานรากให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือBTSCผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน1,097 ล้านบาทไปก่อนหน้านี้ เข้าไปในสัญญาด้วย โดยบางกอก เทอร์มินอล เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งมีการเจรจากันว่าหากได้ดำเนินการต่อ บริษัทจะยอมจ่ายชดเชยงานก่อสร้างฐานรากกว่า1พันล้านบาทให้แก่กรมธนารักษ์

ส่วนโครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสามอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบร่างสัญญาจากอัยการสูงสุด คาดว่าจะเรียบร้อยภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนเสนอเข้าครม.เพื่อขอความเห็นชอบและลงนามกับ บมจ.ยู ซิตี้ หรือ U ต่อไป

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการตามมาตรา43ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้เห็นชอบแล้ว โดยมีการเพิ่มอายุสัญญาเช่า จากเดิม30ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง2ปี และสัญญาเช่า28ปี มาเป็น36ปี โดยก่อสร้าง6ปี และสัญญาเช่า30ปีมูลค่าของโครงการเพิ่มขึ้นจาก700ล้านบาท มาเป็น1.2พันล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัท บางกอก เทอร์มินอล อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรในวงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้าร่วมลงทุนหลายราย ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า บริษัท สิงห์ เอสเตท หรือ S ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของ S ออกมาเปิดเผยถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม (มิกซ์ยูส) ที่กล่าวกันว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะทยอยเปิดมากขึ้นอาจเข้าสู่ภาวะล้นตลาดว่า โครงการมิกซ์ยูสยังมีการเติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับสูงขึ้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์จึงจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นมากขึ้น

และไม่คิดว่าโครงการมิกซ์ยูสจะล้นตลาด แต่มองว่าอาคารสำนักงานน่าจะอยู่ในภาวะที่ล้นตลาดมากกว่า

 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ