อาคม รื้อแผนมอเตอร์เวย์เบรกลงทุน 2.1ล้านล้าน
Loading

อาคม รื้อแผนมอเตอร์เวย์เบรกลงทุน 2.1ล้านล้าน

วันที่ : 27 ตุลาคม 2561
"คมนาคม" เบรก โปรเจคมอเตอร์เวย์ ทล.และ กทพ.รวม 21 สายทาง วงเงิน 2.1 ล้านล้านบาท สั่งเขย่า แผนใหม่เทียบเคียงแนวเส้นทาง กันปัญหา สร้างทางแข่งขัน พร้อมระบุการพัฒนาต้อง สนับสนุนขนส่งเชื่อมระบบรางเป็นหลัก
          "คมนาคม" เบรก โปรเจคมอเตอร์เวย์ ทล.และ กทพ.รวม 21 สายทาง วงเงิน 2.1 ล้านล้านบาท สั่งเขย่า แผนใหม่เทียบเคียงแนวเส้นทาง กันปัญหา สร้างทางแข่งขัน พร้อมระบุการพัฒนาต้อง สนับสนุนขนส่งเชื่อมระบบรางเป็นหลัก

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมการบูรณาการแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ของกรมทางหลวง (ทล.) และ แผนแม่บทพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้หารือแผนงานของทั้ง 2 หน่วยงาน และได้สั่งการให้กรมทางหลวงและ กทพ.ที่เป็นเจ้าของโครงการทางพิเศษต่างๆ ให้ทบทวนแผนพัฒนาระยะ 20 ปี โดยให้มุ่งเน้นสร้างทาง เพื่อสนับสนุนแนวเส้นทางระบบรางเป็นหลัก และต้องไม่เป็นแนวเส้นทางที่แข่งขันกันเอง รวมทั้งพิจารณาให้ชัดเจน ว่าจะเป็นแนวเส้นทาง 4 ช่องจราจร หรือ 6 ช่องจราจรช่วงใด

          "ทั้ง 2 หน่วยงานกลับไปทบทวนแผน ที่จะพัฒนาทั้งหมด แบ่งเป็นของ กรมทางหลวง 21 สายทาง วงเงิน 2.1 ล้านล้านบาท และแผนของ กทพ.ที่กำลังศึกษาอีก 6 เดือนจะแล้วเสร็จ รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปช่วยศึกษาบูรณาการ ผังโครงการภาพรวมทั่วประเทศ จัดลำดับ ความสำคัญของโครงการระยะ 10 ปีแรก10 ปีหลัง หรือโครงการใดมีความเป็นไปได้ ที่จะขยับออกไปช่วง 30 ปี"

          นายอาคม กล่าวว่า หลังจากนี้ การพัฒนาโครงการให้ดูจากความจำเป็นเร่งด่วนแก้ปัญหาการจราจรติดขัดก่อน และ หากพบว่าทั้ง 2 หน่วยงานมีผลการศึกษา คล้ายคลึงกัน ให้พิจารณาความเหมาะสม ในการลงทุน แนวเส้นทางใดที่สนับสนุนการเดินทางเชื่อมระบบรางได้ดีกว่า รวมทั้งใช้งบประมาณลงทุนน้อยที่สุด

          สำหรับโครงการเร่งด่วนที่มีความพร้อมพัฒนาให้เร่งดำเนินการตามแผน เช่น โครงการทางด่วนมาบตาพุด ขยายไปสู่ พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เข้าท่าเรือมาบตาพุด โครงการพระราม 3- ดาวคะนอง โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้าน ตะวันออก (E3) โครงการส่วนต่อขยายบูรพาวิถี เชื่อมถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และเส้นทางอีสเทิร์นซีบอร์ดชลบุรีนครราชสีมา-บุรีรัมย์

          ส่วนแนวเส้นทางทับซ้อนกันเบื้องต้น มี 3 เส้นทาง คือ ทางพิเศษสายฉลองรัช- นครนายก-สระบุรี (E5) ซ้ำซ้อนกับทางหลวง พิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ-สระบุรี (M62) ทางพิเศษสายอุดรรัถยาพระนครศรีอยุธยา (E6) ซ้ำซ้อนกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ-บางปะหัน (M53) และทางพิเศษ สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก-สมุทรสงคราม (E15) ซ้ำซ้อนกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพฯ-ปากท่อ (M82)

          นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ สั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานทบทวนแผน เพราะต้องการให้โครงการเกิดประโยชน์ในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร เชื่อมต่อมายัง รถไฟ โดยเฉพาะในเมืองอุตสาหกรรมการเชื่อมต่อระบบรางจะเป็นประโยชน์ลดต้นทุนในการขนส่งได้ อีกทั้งปัจจุบันระบบรางยังถือเป็นโครงข่ายคมนาคมหลัก ที่รัฐบาลสนับสนุน มีการพัฒนาโครงการค่อนข้างมาก และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรปรับแผนทางถนนให้เป็นส่วนสนับสนุนราง

          "ตอนนี้เบรกทุกแผนไว้ก่อน เพื่อ ไม่ให้โครงการพัฒนามาทับซ้อน โดยเฉพาะ ในพื้นที่อีสาน มีโครงการพัฒนาทางด่วนที่จะไปคู่ขนานกับรถไฟ เป็นแนวเส้นทาง ทับซ้อน และแข่งขันกันค่อนข้างเยอะ จึงต้องศึกษาใหม่ ส่วนโครงการที่ เหมาะสมอยู่แล้ว เช่น เส้นทางอีอีซี เชื่อมไปนครราชสีมาที่เป็นไปได้ แต่ต้อง ให้เวลาไปทบทวน"

          รายงานข่าวระบุว่า โครงการพัฒนาระยะ 20 ปีของ กทพ.มี 17 โครงการ เบื้องต้นระยะเร่งด่วนมี 5 โครงการ วงเงิน ลงทุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท อาทิ ทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ (Missing Link) มูลค่าลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท โครงการทางพิเศษสายกะทู้- ป่าตอง จ.ภูเก็ต มูลค่าลงทุน 14,000 ล้านบาท โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) และโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษ บูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี วงเงิน 3,000 ล้านบาท

          สั่งการให้กรมทางหลวงและ กทพ.เจ้าของโครงการทางพิเศษ ให้ทบทวนแผนพัฒนาระยะ 20 ปี โดยให้มุ่งเน้นสร้างทาง เพื่อสนับสนุนแนวเส้นทางระบบรางเป็นหลัก
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ