ลดค่าเช่าที่เขตศก.พิเศษ
Loading

ลดค่าเช่าที่เขตศก.พิเศษ

วันที่ : 19 กันยายน 2561
รื้อแผนบริหารที่ราชพัสดุดึงรายได้

น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เตรียมปรับวิธีการประเมินราคาที่ดินราชพัสดุที่นำมาสนับสนุนพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในจังหวัดนครพนม มุกดาหารและหนองคาย จากเดิมที่เคยประเมินเป็นรายบล็อก เป็นการประเมินตามรายแปลงตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ลดลงจากไร่ละ 2,400 บาท ต่อปี เหลือเพียง 1,800-2,100 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้นำพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดออกเปิดประมูลแต่ไม่มีคนสนใจ โดยจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 62 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 นี้

ส่วนที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแห่งอื่น ได้เปิดประมูลและมีโครงการลงทุนหลายแห่งแล้ว เช่น ที่ จังหวัดสระแก้ว เฟสแรก มีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดูแล ส่วนที่จังหวัดตราด มีบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ ขณะที่จังหวัดกาญจนบุรี มีโครงการลงทุน 400 ล้านบาท ในธุรกิจโลจิส ติกส์ จังหวัดตาก มีโครงการลงทุนอีก 400 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กรมธนารักษ์ได้ส่งพื้นที่ราชพัสดุให้สำนักงานอีอีซีไปบริหาร 7,000 ไร่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 6,500 ไร่ และเขตนวัตกรรม 759 ไร่ ซึ่งเป็นการมอบเอกสิทธิ์บริหารจัดการไปให้ทั้งหมด

นอกจากนี้กรมธนารักษ์ ยังเตรียมปรับแผนการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ทั้ง 10.45 ล้านไร่ทั่วประเทศใหม่ เพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,000 ล้านบาท โดยส่วนแรก ที่ราชพัสดุที่เปิดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนเช่าอยู่ขนาด 396,000 ไร่ สัดส่วน 4% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยจะพิจารณาว่า ถ้าสัญญาเดิมไม่เข้าฐานค่าเช่าที่เป็นจริง อาจมีการเจรจาขอทบทวนค่าเช่าให้เหมาะสม และส่วนที่ราชพัสดุที่ใช้ในส่วนราชการอีก 96% หรือประมาณ 10 ล้านไร่ หากพบว่านำที่ไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็จะเจรจาขอให้ยอมคืนพื้นที่กลับมายังกรมธนารักษ์เพื่อนำไปจัดทำประโยชน์ใหม่

ทั้งนี้ยืนยันว่า จะเน้นเข้าไปดูแลเฉพาะที่ราชพัสดุของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายใหญ่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่มีสัญญาอยู่และกำลังหมดสัญญาเท่านั้น ส่วนพื้นที่ราชสำหรับให้ประชาชนอยู่อาศัย หรือทำการเกษตร กรมธนารักษ์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อชาวบ้าน ส่วนแนวทางการขอคืนพื้นที่ราชพัสดุจากราชการ กำลังพิจารณารูปแบบการนำส่งคืน รวมถึงการชดเชยสิทธิประโยชน์ ผลตอบแทนให้บางส่วน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา

น.ส.อมรรัตน์ กล่าวถึง การบริหารจัดการทรัพย์สินที่ราชพัสดุแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ 62 ว่า จะเสนอโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนส่งหมอชิตให้ ครม.พิจารณา หลังจากเจรจากับภาคเอกชนเสร็จแล้ว โดยปรับรูปแบบการลงทุนจาก 18,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 26,000 ล้านบาท พื้นที่พัฒนา 7 แสนตร.ม.ในจำนวนนี้ชดเชยให้กับรัฐ 1.2 แสนตร.ม. พร้อมมอบผลตอบแทนเป็นเงินสด 600 ล้านบาท และทรัพย์สินอีก 2,400 ล้านบาท รวมเป็น 3,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถรองรับการเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอส อพาร์ตเมนต์

สำหรับรายได้ของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ 61 สามารถจัดเก็บได้ 11,342 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 7,400 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากค่าเช่าที่ดินจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน ) เกือบ 3,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงการพัฒนาหอชมเมือง 4,600 ล้านบาท ความสูง 459 เมตร ได้ทำสัญญาแล้ว ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี บริหารโครงการ 30 ปี โครงการร้อยชักสาม ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ส่งมอบที่ราชพัสดุและปรับสัญญาลงทุนกับเอกชน เวลาก่อสร้าง 6 ปี รวมกับสัญญาบริหารโครงการ 30 ปี เพื่อทำเป็นโรงแรมที่พักริมแม่น้ำเจ้าพระยาระดับหรู ขณะที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ เจรจาจบแล้วจะทำสัญญาได้ปี 62 โดยเปลี่ยนสัญญาจากลงทุนโรงแรมเป็นปรับปรุงพื้นที่ 6,000 ล้านบาท

 
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ