หุ้นอสังหาฯยิ้มรับ"บ้านดี มีดาวน์" สบช่องเร่งระบายสต๊อกในมือ
Loading

หุ้นอสังหาฯยิ้มรับ"บ้านดี มีดาวน์" สบช่องเร่งระบายสต๊อกในมือ

วันที่ : 2 ธันวาคม 2562
ผู้ประกอบการอสังหาฯ เฮ!! หลังรัฐออกมาตรการหนุน ลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ช่วยผ่อนดาวน์รายละ 5 หมื่นบาท เป็นโอกาสระบายสต๊อกโครงการในมือ ผู้บริหารแบงก์เห็นพ้อง ถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่เคยมี
          ตลาดเงิน

          ตลาดทุน

          ผู้ประกอบการอสังหาฯ เฮ!! หลังรัฐออกมาตรการหนุน ลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ช่วยผ่อนดาวน์รายละ 5 หมื่นบาท  เป็นโอกาสระบายสต๊อกโครงการในมือ ผู้บริหารแบงก์เห็นพ้อง ถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่เคยมี หลังออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองไปก่อนหน้า  เชื่อโครงการเงินดีมีดาวน์ จะช่วยทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

          ทันทีที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังประกาศมาตรการ ลดภาระในการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ "บ้านดีมีดาวน์"  ด้วยการสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อปี ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจำกัดให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 รายนั้น เชื่อได้เลยว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ เป็นกลุ่มแรกที่ได้เฮก่อนใคร เพราะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ น่าจะอยู่ที่ผู้ประกอบการมากกว่าประชาชน เพราะคนรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือน จำนวน 1 แสนราย หากใช้สิทธิเต็มจำนวน ก็ระบายได้ถึงแสนยูนิต ดังนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ว่า บ้านดีมีดาวน์ ควรจะเป็นโครงการไว้ให้อสังหาฯ ระบายสต๊อกในช่วงปลายปีมากกว่า

          ขณะที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลก็เริ่มทยอยออกโครงการในระนาบเดียวกัน ทั้งการให้ธนาคารรัฐออกโปรโมชัน อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น เช่นธนาคารออมสิน ที่ออก สินเชื่อผ่อนยาวได้ถึง 40 ปี อัตราดอกเบี้ยแสนต่ำ และล่าสุดก็ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB  ที่ออกโปรเจกต์สินเชื่อหนุนโครงการ "บ้านดี มีดาวน์" อีกระลอก จัดแคมเปญเสริมด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยปีแรก 0.50% ต่อปี หรือเฉลี่ย 3 ปี เพียง 2.50% แถมยังฟรีค่าธรรมเนียมประเมินราคา และค่าธรรมเนียมยื่นกู้ และลูกค้า 1,000 รายแรกที่ได้รับอนุมัติ ธนาคารยังช่วยผ่อนให้อีก 5,500 บาท

          โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ยอมรับว่า มาตรการบ้านดีมีดาวน์ เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการระบายสต๊อก ที่ปัจจุบันมีอยู่ 270,000 ยูนิต เพราะมองว่าหากผู้ประกอบการสามารถระบายสินค้าได้ จะทำให้ผู้ประกอบการเดินหน้าลงทุนใหม่ในปี 2563 และจะมีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าไม่ได้ช่วยให้ประชาชนแค่มีบ้านอย่างเดียว

          สำหรับมาตรการ จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วม โครงการในเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com ได้ตั้งแต่ 11 ธันวาคมนี้-31 มีนาคม 2563 โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00 น. และจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนอง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562-31 มีนาคม 2563  ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ทุกอย่างตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่จะรับข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ ก็จะโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนไว้ภายใน 2 วันทำการ

          อสังหาฯ ยิ้ม ช่วยระบายสต๊อก-เพิ่มกาลังซื้อ

          ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยจ่ายเงินดาวน์ 5 หมื่นบาท ถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่เคยทำมาเลยทีเดียว หลังจากก่อนหน้าก็เพิ่งจะออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองไป ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เชื่อว่า โครงการเงินดีมีดาวน์ จะช่วยทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น และจะช่วยระบายสต็อกช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ถึงไตรมาส 1/63 เพราะหากจำกันได้ดี ก่อนหน้านี้ทั้งบรรดากูรู ในแวดวงอสังหาฯ รวมไปถึงโบรกเกอร์หลายแห่งต่างประเมินว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ไม่น่าจะดีนัก โดยจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อนหน้านี้ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งยังติดข้อจำกัดจากการออกมาตรการคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ LTV

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เปิดเผยว่า มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดตั้งแต่รัฐออกมาตรการกระตุ้นมา ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะจะทำให้บริษัทสามารถระบายสต๊อกได้มากขึ้น จากที่ผ่านมามาตรการ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองจาก 3% เหลือ 0.02% สามารถช่วยเร่งการระบายสต๊อกโครงการในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทได้ แต่ปัจจุบันที่อยู่อาศัยที่ราคา ไม่เกิน 3 ล้านบาทของบริษัท มีอยู่ 50% ของยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม ยังชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ส่วนแนวราบยังมีการเติบโตที่ดีอยู่

          "เป็นมาตรการที่ถือว่าดีที่สุด และช่วยเร่งให้คนตัดสินใจเร็วขึ้น แต่ตัวที่จะช่วยจริงๆ คือ เศรษฐกิจต้องมีเสถียรภาพ ทำให้คนมีกำลังซื้อ ส่งเสริมบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย โดยก่อนหน้านี้คนได้ชะลอการตัดสินออกไป เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของประชาชน แต่หลังจากรัฐบาลออกมาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ ยอดขาย หรือ การระบายสต๊อกทำได้เพิ่มขึ้น และ จะทำให้ยอดขายในไตรมาส 4/625 และ ไตรมาส 1/63 เพิ่มสูงขึ้น โดยอาจทำสถิติสูงสุดของปีได้" นายไตรเตชะ กล่าว นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการมีส่วนช่วยเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการจัด กิจกรรมส่งเสริมทางการตลาด เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอน และ จดจำนองอยู่แล้ว ซึ่งสามารถระบายสต๊อกได้ประมาณ 30% จากยอดขาย รอโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ที่มีอยู่ 20,000 ล้านบาท และ หากรวมกับมาตรการใหม่เชื่อว่าจะสามารถระบายสต๊อกได้เพิ่มขึ้น 4-5%

          AP-SPALI-PSH-QH-LH

          รับอานิสงส์ 'บ้านดี มีดาวน์'

          บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า การออกมาตรการส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ถือเป็นเรื่อง Surprise ตลาดฯ และสร้าง Sentiment บวกต่อกลุ่มอสังหาฯ ทำให้เกิดการระบายสต๊อกสินค้า คงเหลือในจำนวน 1 แสนยูนิต (ตามการใช้สิทธิเต็มจำนวน 1 แสนราย) โดยเฉพาะในกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5-6 ล้านบาท (พิจารณาจากฐานเงินเดือน 1 แสนบาทต่อเดือน สามารถกู้ได้ 30-40% ของรายได้ หรือ 3-4 หมื่นบาท ต่อเดือน และภายใต้วัฏจักรดอกเบี้ยค้ำ อัตราผ่อนชำระ ที่อยู่อาศัย (บ้าน/คอนโดฯ) มูลค่า 1 ล้านบาท จะอยู่ที่ 6-7 พันบาท/เดือน หากสามารถผ่อนชำระได้ราว 3-4 หมื่นบาท จะสามารถกู้ได้สูงสุดสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5-6 ล้านบาท) เนื่องจากสินค้าระดับราคาไม่เกิน 5-6 ล้านบาท ถือเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการทุกรายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ มีอยู่ในพอร์ตเป็นส่วนใหญ่

          โดยสรุปการมีมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการระบายสต๊อกแล้ว ยังช่วยหนุนให้ Backlog (รวม JV) สิ้น 3Q62 ของกลุ่มฯ ที่มีระดับ 3 แสนล้านบาท และเป็นส่วนที่พร้อมส่งมอบปีหน้าราว 1 แสนล้านบาท และเข้าเกณฑ์ราคาตามมาตรการ สามารถโอนฯ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะงวด 1Q63 ที่เป็นช่วงเกิดขึ้น ของโครงการ

          เอเซียพลัส เลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตราการนี้ มี Backlog สูง และ Div Yield เกิน 5% ได้แก่ SPALI (FV@19.50) มีจุดเด่น Backlog สูงระดับ 4 หมื่นล้านบาท และมีสต๊อกคงเหลือขายพร้อมโอนฯ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่มีราคาไม่เกิน 5-5.5 ล้านบาท มากกว่า 50% ของพอร์ต ตามด้วย AP (FV@B8.90) รองรับด้วย Backlog (รวม JV) สูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท ที่จะหนุนกำไร 4Q62 โดดเด่น และต่อเนื่องปี 2563 คาดกำไรเติบโต 15% เทียบปีก่อน   รวมถึงปันผลปีละ 1 ครั้ง คิดเป็น Div Yield 5% ต่อปี และสุดท้าย LH (FV@B12.00) ด้วยจุดเด่นของฐานธุรกิจมั่นคง และแนวโน้ม 4Q62 กำไรสูงสุดของปีจากการโอนฯ คอนโดฯ และขายโรงแรมเข้า LHHOTEL หนุนเงินปันผลพิเศษ คาด Div Yield กว่า 7% ต่อปี

          ด้าน บล.อาร์เอชบี ระบุว่า มาตรการนี้จะหนุนให้มีแรงซื้อบ้านที่มีราคาปานกลางหรือ 3-5 ล้านบาท เมื่อเทียบจากฐานเงินเดือนที่ไม่เกิน 1 แสนบาท/เดือน ในขณะที่ผู้กู้น่าจะต้องเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งอยู่ในฐานภาษี แต่ผู้ประกอบการ SME หรือค้าขาย online น่าจะไม่ได้อยู่ในฐานภาษีของรัฐ โดยคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/62 ของกลุ่ม อสังหาฯ น่าจะซบเซาต่อไป และคาดว่าจะกลับมาคึกคักจากยอดโอนในไตรมาส 1/63 จากมาตรการดังกล่าว

          หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลดีคือ AP, SPALI, PSH, QH เนื่องจากมีสัดส่วนของบ้านที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว

          ส่วน บล.เคจีไอ ระบุ มาตรการนี้น่าจะเข้าถึงได้มากกว่ามาตรการก่อน ๆ ที่ออกมาในปีนี้ เพราะมีโควตามากถึง 100,000 ราย โดยตั้งเป้าไปที่ผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ในขณะที่โควตานี้ก็ใหญ่พอสำหรับอุปสงค์บ้านในประเทศไทยทั้งปี

          อย่างไรก็ดี คาดว่าจะส่งผลดีแค่ในช่วงสั้นเท่านั้น จาก Figure 3 ราคาบ้านสูงสุดที่จะเข้าเกณฑ์เข้าร่วมมาตรการนี้ได้อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท อิงจากรายได้ที่ 1 แสนบาท/เดือน และสัดส่วน debt service ratio ที่ 40% ดังนั้น สัดส่วนของเงินคืนเมื่อเทียบกับราคาเต็มของบ้านจะอยู่ระหว่าง 1-5% ในการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการนี้ แบ่งออกเป็น i) ระยะสั้น และ ii) ระยะยาว

          สำหรับในระยะสั้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อทั้งตลาดระดับล่างและระดับกลาง โดยในกรณีของที่อยู่อาศัย ระดับล่าง คาดว่ามาตรการกระตุ้นนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อ เนื่องจากมูลค่าเงินคืนอาจจะสูงถึง 5% ของราคาเต็มของบ้าน ซึ่งอาจจะมีนัยอย่างมากกับการจ่ายเงินดาวน์ของผู้มีรายได้น้อย สำหรับที่อยู่อาศัยระดับกลาง เชื่อว่ามูลค่า เงินคืนจะไม่ได้มากอย่างมีนัยสำคัญ (ถ้าหากราคาบ้านอยู่ที่ 6 ล้านบาท มูลค่าเงินคืนจะคิดเป็นแค่ 1% ของราคาเต็มของบ้าน) แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรอบเวลาที่จำกัดของมาตรการนี้อาจจะช่วยเร่งการตัดสินใจ ซื้อบ้านให้เร็วขึ้น

          สำหรับในระยะยาว เราเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นของรัฐบาลยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะกำหนดทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เนื่องจาก คือธนาคารต่างๆ ยังคงระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อ (Figure 4) และ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในขาลง สุดท้ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเป็นการดึงอุปสงค์ตามธรรมชาติในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ซึ่ง หลังจากที่มาตรการกระตุ้นหมดอายุในเดือนมีนาคม 2563 ก็อาจจะทำให้อุปสงค์ที่อยู่อาศัยเผชิญกับผลกระทบของ yo-yo effect

          แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า Pruksa Holding (PSH.BK/PSH TB), AP Thailand (AP.BK/AP TB)* และ Supalai (SPALI.BK/SPALI TB) จะเป็นกลุ่มหลักที่ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล.

          กรุงไทย-ออมสิน หนุนรัฐเต็มพิกัด

          "ออมสิน" ย้ำเงินกู้บ้านล้านละ 10 บาท เป็นไปตาม LTV ตั้งเป้าใน 1 เดือนจะให้สินเชื่อตามโครงการนี้ได้ราว 2.5 ล้านบาท และไม่หวั่นหนี้เสีย เหตุคาดการณ์รายได้ผู้กู้ 3 ปี จะเพิ่มอีก 5% ขณะที่ "กรุงไทย" หนุนรัฐช่วยประชาชน มีบ้าน จัดแคมเปญเสริมดอกเบี้ยปีแรก 0.50% แถมลูกค้า 1,000 รายแรกที่ได้รับอนุมัติ ธนาคารช่วยผ่อนให้อีก 5,500 บาท ส่วนลูกค้ารายที่ 1,001-10,000 ธนาคารลดดอกเบี้ยปีแรก ลงอีก 0.10% ต่อปี

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อบ้านล้านละ 10 บาท ว่า ธนาคารฯ ยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดไว้ และธนาคารออมสินได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการลดอัตราดอกเบี้ยแรกรับ เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ มากขึ้นในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชน อีกทั้งได้ประเมินถึงรายได้ของตัวผู้กู้ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 5%

          นอกจากนี้  ทางธนาคารออมสินได้ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหลังอัตราดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จึงไม่กังวลถึงปัญหาการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่จะตามมา สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อบ้านตามโครงการสินเชื่อล้านละ 10 บาทนั้น ธนาคารออมสินได้กำหนดไว้ว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือนจะสามารถปล่อยได้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท

          ส่วนอัตราการปฏิเสธคำขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารออมสิน โดยภาพรวมจะอยู่ที่ 30% ทั้งนี้ เป็นผลจากลูกหนี้เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ระยะยาวกับธนาคารฯ มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปแล้วทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไว้ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ปี 61 ทั้งนี้ ธนาคารออมสินเชื่อว่าในช่วงเดือน ธ.ค.62 จะมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลและจากการจัดทำโครงการสินเชื่อบ้านล้านละ 10 บาท จากธนาคารออมสินเอง

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งได้ออกมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินผ่อนดาวน์รายละ 50,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จำนวน 100,000 รายนั้น

          ธนาคารกรุงไทย สนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ และได้ออกแคมเปญ สินเชื่อบ้านกรุงไทย...สุขใจถ้วนหน้า ด้วยโปรโมชันพิเศษ 2 ต่อ ต่อที่ 1 อัตราดอกเบี้ยปีแรก เริ่มต้นที่ 0.50% ต่อปี หรือเฉลี่ย 3 ปี เพียง 2.50% ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมประเมินราคา และค่าธรรมเนียมยื่นกู้ นอกจากนี้ ลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการที่ธนาคารกำหนด ลูกค้าในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ

          โดยประกอบด้วย แพทย์ ผู้พิพากษาและอัยการ นักบิน อาจารย์มหาวิทยาลัยระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไป และพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสามารถเลือกผ่อนชำระล้านละ 1,000 บาทต่อเดือนในปีแรกได้อีกด้วย ต่อที่ 2 สำหรับลูกค้า 1,000 รายแรกที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อและจดจำนองตามเงื่อนไขโครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ธนาคารยังช่วยแบ่งเบาภาระ โดยช่วยผ่อนรายละ 5,500 บาท ส่วนลูกค้ารายที่ 1,001-10,000 นั้น ธนาคารลดดอกเบี้ยในปีแรกลงอีก 0.10% ต่อปี ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนขอรับสิทธิในเว็บไซต์ "บ้านดีมีดาวน์" ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

          นายผยงกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคา ไม่เกิน 3 ล้านบาท จดจำนองภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ยังได้ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และ ค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมาตรการในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีบ้านเป็นของ ตัวเอง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันครอบครัว.