ม.เกษตรขวางสายสีน้ำตาลต้นทุนพุ่ง-เจริญขึ้นมิกซ์ยูส
Loading

ม.เกษตรขวางสายสีน้ำตาลต้นทุนพุ่ง-เจริญขึ้นมิกซ์ยูส

วันที่ : 27 พฤศจิกายน 2562
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล "แคราย-ลำสาลี" สะดุด ที่ดิน ม.เกษตรฯ ติดวางตอม่อช่วงแยกเกษตร-บางเขน แนะทำอุโมงค์แทน ต้นทุนบานหมื่นล้าน ชง "บิ๊กป้อม" เคาะ ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าปี'64 ประมูล PPP 4.8 หมื่นล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี ทุ่มเวนคืนที่ดิน 7.2 พันล้าน20 สถานี เจ้าสัวเจริญรอจังหวะขึ้นมิกซ์ยูส 100 ไร่
          รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล "แคราย-ลำสาลี" สะดุด ที่ดิน ม.เกษตรฯ ติดวางตอม่อช่วงแยกเกษตร-บางเขน แนะทำอุโมงค์แทน ต้นทุนบานหมื่นล้าน ชง "บิ๊กป้อม" เคาะ ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าปี'64 ประมูล PPP 4.8 หมื่นล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี ทุ่มเวนคืนที่ดิน 7.2 พันล้าน20 สถานี เจ้าสัวเจริญรอจังหวะขึ้นมิกซ์ยูส 100 ไร่

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงินลงทุน 48,386 ล้านบาท ที่หลายคนรอ หลังรัฐบาลอนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุไว้ในแผน แม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-Map) มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรย่านเกษตร-นวมินทร์ และเพิ่มฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสายหลักเชื่อมการเดินทางโซนตะวันตก-ตะวันออก ของกรุงเทพฯ โดย รฟม.จะเปิดประมูล PPP 30 ปี ในปี 2564 มีเวนคืนที่ดิน 7,254 ล้านบาท สร้าง 20 สถานี

          สะดุด ม.เกษตรฯไม่ให้ใช้พื้นที่

          แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.ได้ศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเสร็จแล้ว รออนุมัติรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคณะกรรมการ ผู้ชำนาญการ (คชก.) กำลังพิจารณา รายละเอียด ล่าสุดโครงการกำลังมีปัญหา เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำหนังสือตอบกลับมายัง สนข. ลงวันที่ 1 พ.ย. 2562 แจ้งว่า ขอให้ สนข.ทบทวนรูปแบบอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาซึ่งมีนิสิตจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย

          เนื่องจากจะมีการสร้างทางวิ่งเข้าไปในรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ ช่วงแยกเกษตรแยกบางเขน และมีสถานี ม.เกษตร อยู่ที่ ประตู 2 โดยเกรงว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยและภูมิทัศน์โดยรอบ

          ขออุโมงค์แทนทางยกระดับ

          "ม.เกษตรฯขอให้ปรับจากยกระดับเป็นอุโมงค์ ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7,000-10,000 ล้านบาท ต้องขุดอุโมงค์แนวถนนงามวงศ์วาน ตั้งแต่หน้ามหา'ลัยถึงหน้าเรือนจำลาดยาว ผ่านคลองลาดพร้าวบางบัว อุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ของการประปาฯ เสาเข็มสายสีเขียว สายสีแดง ต้องเวนคืนขุดอุโมงค์ลึกมากกว่า 30 เมตร ความยาว 500-600 เมตร" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

          พิจารณาแล้วต้องทำโครงสร้าง ยกระดับตามเดิม ด้วยข้อจำกัดพื้นที่ที่มีอุโมงค์ทางลอด สะพานข้ามแยก จำเป็นต้องสร้างตอม่อไว้ฝั่ง ม.เกษตรฯ แต่ถ้า ไม่ให้พื้นที่ก็ต้องใช้วิธีเวนคืนฝั่งตรงข้าม แทน เพราะถ้าสร้างตอม่อบริเวณกลางถนนต้องสร้างลึกลงไปมาก อาจมีปัญหาตามมา ซึ่งช่วงถนนพหลโยธินหากไม่เบี่ยงแนวเข้า ม.เกษตรฯ อาจต้องรื้อสะพานข้ามแยก เพราะเป็นจุดที่มีโครงสร้างอื่น ๆ หนาแน่น ส่วนช่วงถนนวิภาวดีฯต้องยกสูง 30 เมตร ข้ามโทลล์เวย์ ค่าก่อสร้าง แพงขึ้นไปอีก

          "ม.เกษตรฯได้ประโยชน์จากโครงการ เพราะมีสถานีรถไฟฟ้าทุกด้าน ทางฝั่ง วิภาวดีฯมีสถานีสายสีแดง สีน้ำตาล ฝั่งพหลโยธินมีสถานีสายสีเขียว สีน้ำตาล การเดินทางจะสะดวก"

          ขอเบี่ยงแนวหลบทางลอด

          แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบก่อสร้างเดิมจะเบี่ยงแนวออกจากแนวอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตร ออกแบบให้สายสีน้ำตาลยกข้ามสายสีเขียวที่ความสูง 26-29 เมตร วางโครงสร้างฐานรากและเสาในพื้นที่ ม.เกษตรฯ ตั้งแต่ทางแยกจนถึงหน้าอาคาร ธ.ก.ส. จากนั้นเบี่ยงแนวออกไปวิ่งตามแนวเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์

          ส่วนแยกบางเขนจะเบี่ยงแนวไปด้านข้างสะพานข้ามแยกฝั่งมุ่งหน้าไปแยกเกษตร โดยเวนคืนอาคารพาณิชย์ริมถนนใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสถานีบางเขนของสายสีน้ำตาล และเชื่อมสถานีบางเขนสายสีแดง โดยแนวเส้นทางออกแบบให้มีความสูง 8 เมตร ลอดโครงสร้างสายสีแดง และลอดโทลล์เวย์ไปใช้พื้นที่ ม.เกษตรฯ วางโครงสร้างฐานรากและเสา แล้วจึงเบี่ยงเข้ากึ่งกลางถนนเมื่อพ้นโครงสร้างเชิงลาดสะพานข้ามแยก

          "แนวเส้นทางใช้พื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ 200 เมตร เป็นบริเวณหัว-ท้าย ส่วนหัวอยู่ในรั้วฝั่งพหลโยธิน ส่วนท้ายอยู่ริมรั้วฝั่งวิภาวดีรังสิต จะปักเสาตอม่อเข้าไปในพื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเสาตอม่อมีรูปแบบเดียวกับสายสีชมพู และสายสีเหลือง เพราะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล"

          นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้รับทราบข้อมูล ม.เกษตรฯแล้ว และได้ศึกษาปรับรูปแบบโครงการ 3-4 แบบ มีข้อกังวลถ้าไม่ใช้พื้นที่ภายใน ม.เกษตรฯ จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 20% เตรียม รายงานปัญหาให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบในเดือน ธ.ค.นี้

          เจ้าสัวเจริญปัดฝุ่นที่ดินรอ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีที่ดินรอพัฒนา เช่น ที่ดินติดถนนเกษตร-นวมินทร์กว่า 100 ไร่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เยื้องกับ "นวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว" ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าว จาก บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อยู่ระหว่าง ปรับโมเดลการพัฒนาจากศูนย์ประชุมและโรงแรม ล่าสุดปรับเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่และมีรีเทลด้วย

          "การลงทุนคงยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ รอจังหวะ เพราะอนาคตมีรถไฟฟ้าและทางด่วนผ่าน"

          ส่วนรายอื่น อาทิ บจ.เค.อี.แลนด์ ของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร คริสตัล พาร์ค และคอมมิว นิตี้มอลล์ เดอะ คริสตัล และซีดีซี มีที่ดินรอพัฒนาอยู่ติด ถ.เกษตร-นวมินทร์ 15 ไร่ และบริเวณจุดตัดทางด่วน 100 ไร่, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เข้าไปลงทุนโครงการ เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตรงามวงศ์วาน คอนโดฯไฮไรส์ 20 ชั้น บนที่ดิน 2 ไร่, บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) พัฒนาโครงการแอสปาย งามวงศ์วาน สูง 28 ชั้น บนที่ดิน 9 ไร่เศษ

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ เปิดเผยว่า แม้สายสีน้ำตาลยังไม่สร้าง แต่ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบเข้าไปพัฒนาคอนโดมิเนียมรอแล้ว มียอดสะสมในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง 10,012 ยูนิต ขายไปได้แล้ว 82% ด้านราคาที่ดินแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ อยู่ที่ 2-5 แสนบาท/ตร.ว. คาดว่าจะปรับเพิ่มอีกเมื่อรถไฟฟ้าเริ่มสร้าง
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ