ลุยต่อสมาร์ทซิตี้ศรีราชาแสนล. สิทธิประโยชน์BOIไม่เอื้อต่างชาติร่วมลงทุน
Loading

ลุยต่อสมาร์ทซิตี้ศรีราชาแสนล. สิทธิประโยชน์BOIไม่เอื้อต่างชาติร่วมลงทุน

วันที่ : 14 พฤศจิกายน 2562
"ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง" ทุนอสังหาฯชลบุรี เร่งเจรจานักลงทุนต่างชาติ "ฮ่องกง-มาเลเซีย-อังกฤษ" ร่วมทุนโครงการยักษ์สมาร์ทซิตี้ครบวงจร "ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค" บนพื้นที่ 600 ไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท
            "ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง" ทุนอสังหาฯชลบุรี เร่งเจรจานักลงทุนต่างชาติ "ฮ่องกง-มาเลเซีย-อังกฤษ" ร่วมทุนโครงการยักษ์สมาร์ทซิตี้ครบวงจร "ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค" บนพื้นที่ 600 ไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท หลังรอคอยรัฐบาลประกาศผังเมืองรวม อีอีซี-เซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน พร้อมเร่งหา "สถาปนิก" ต่างชาติมือหนึ่งวางผังเมืองโครงการ เตรียมรองรับประชากรศรีราชาในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว พร้อมวอนรัฐแก้เรื่องสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับเมืองสมาร์ทซิตี้
            หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือผังเมืองรวมอีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ได้มีการลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี ของกลุ่ม ซี.พี.กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เรียบร้อยแล้ว ได้ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวโครงการลงทุน ต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ทันที
            นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จ.ชลบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ร่วมทุนเพื่อมาร่วมกันพัฒนาโครงการ "ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค" หรือเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร (smart city) บนเนื้อที่ 600 ไร่ บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี รวมมูลค่าโครงการประมาณ 100,000 ล้านบาท ของบริษัทอีกครั้ง หลังจากที่ ครม.ได้อนุมัติร่างผังเมือง อีอีซีแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้ติดต่อไปยังสถาปนิกชาว ต่างชาติหลายบริษัทเพื่อให้มาวางผังภายในโครงการ ซึ่งได้มีการออกแบบไว้เบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน ทั้งจากฮ่องกง มาเลเซีย และอังกฤษ เพราะที่ตั้งของไทยอยู่กึ่งกลางกัมพูชา สปป.ลาว และมาเลเซีย ทำให้สามารถขยายต่อไปยังตลาดประเทศข้างเคียงได้
            "ตอนนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการลงทุนได้ เนื่องจากมีการลงทุนค่อนข้างสูง ประเมิน เบื้องต้นประมาณ 1 แสนล้านบาท ต้องรอเจรจากับผู้ร่วมทุนจากประเทศต่าง ๆ ก่อน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่จะมาดำเนินการ และจะเข้ามาลงทุน ในส่วนไหนบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มี นักลงทุนหลายประเทศแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน"
            โดยแนวคิดในการพัฒนาโครงการ "ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค" จะเน้นการตอบสนองวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยคนรุ่นใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้ เป็นเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร หรือสมาร์ทซิตี้ ส่วน concept ของเมือง คือ เมืองแห่งการเดิน งดการใช้รถยนต์ ซึ่งจะเน้นการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน มีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน มีแหล่งท่องเที่ยว โรงเรียน ศูนย์วิจัย ศูนย์พัฒนา ฯลฯ รวมถึงพื้นที่สีเขียว ประมาณ 35% ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาได้นำโครงการดังกล่าวไปโรดโชว์ตามประเทศต่าง ๆ เพื่อชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน
            ทั้งนี้ สิ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีกส่วนหนึ่ง คือ การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ที่ผ่านมาเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอดังกล่าว ถือเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมการลงทุนที่จะสนับสนุนเรื่องสมาร์ทซิตี้ที่ชัดเจน
            สำหรับพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้มีทั้งหมด 600 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงทางเข้าศรีราชา ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่ดินของบริษัทที่มีการซื้อสะสมมามากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในการจัดตั้งเมืองใหม่ไว้ คือ ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา 2-3 กิโลเมตร
            "การจัดทำโครงการดังกล่าวไม่ได้อยากให้เน้นการลงทุน แต่อยากจะให้เน้นเรื่องปัญหาของเมืองเดิม เนื่องจากพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ถือว่าเป็นเขตที่มีแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากศรีราชาเป็นเมืองขนาดเล็ก ส่งผลให้ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่พอต่อการรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคตในยุค 30-50 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังไม่สอดคล้องและไม่สามารถรองรับ CBD ที่จะต้องสนองเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการแออัดของชุมชนเมืองและการเจริญเติบโตของเมือง รวมถึงการอยู่รอดและความยั่งยืนในอนาคต จึงได้ผุดโครงการ "ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค"
            เพื่อเป็นการรับรองการเติบโตของเมืองในอนาคต และเข้าสู่เมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร "สมาร์ทซิตี้" มูลค่ารวมโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท"  
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ