อีอีซีปั้น มหานครการบิน ล้านไร่
Loading

อีอีซีปั้น มหานครการบิน ล้านไร่

วันที่ : 7 ตุลาคม 2562
 "สกพอ."ลุยมหานครการบิน 1 ล้านไร่ ดันศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ขีดวงเมืองชั้นใน รัศมี 10 กม.รอบสนามบิน พัฒนาสัตหีบ-บ้านฉาง จ่อเชื่อมโมโนเรลอู่ตะเภา-เมืองระยอง มั่นใจทัพเรือเซ็นพัฒนาสนามบิน ต.ค.นี้   "การบินไทย"เร่งเอ็มอาร์โอ คาดแอร์บัสให้คำตอบ ธ.ค.นี้ ตอกเสาเข็มปีหน้า
                     "สกพอ."ลุยมหานครการบิน 1 ล้านไร่ ดันศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ขีดวงเมืองชั้นใน รัศมี 10 กม.รอบสนามบิน พัฒนาสัตหีบ-บ้านฉาง จ่อเชื่อมโมโนเรลอู่ตะเภา-เมืองระยอง มั่นใจทัพเรือเซ็นพัฒนาสนามบิน ต.ค.นี้   "การบินไทย"เร่งเอ็มอาร์โอ คาดแอร์บัสให้คำตอบ ธ.ค.นี้ ตอกเสาเข็มปีหน้า
                      หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจัดสัมมนา "EEC NEXT : มหานครการบิน 'ฮับ'โลจิสติกส์แห่งอาเซียน" เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง โดยมีการนำเสนอความคืบหน้าการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน รวมถึงการฉายภาพ ถึงการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกที่เป็น ส่วนต่อขยายจากเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ และจัดทำรายละเอียดเบื้องต้นการพัฒนาเมืองใหม่ รอบสนามบินอู่ตะเภา
                     นายคณิศ  แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะไม่เพียงแค่ พัฒนาสนามบิน แต่จะยกระดับสู่เมืองการบินภาค ตะวันออกและมหานครการบินที่เป็นส่วนต่อขยาย จากพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาค ตะวันออก 6,500 ไร่ ที่เป็นศูนย์การพัฒนามหานครการบิน
                    การพัฒนามหานครการบินออกแบ่งเป็น 3 ระยะ มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง รวมขอบเขต พื้นที่ศักยภาพที่จะศึกษาและออกแบบเชิงหลักการ 1.04 ล้านไร่ คือ 1.เขตชั้นในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา (Inner EEC Aerotropolis) พื้นที่ 1.41 แสนไร่ เช่น สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ จอมเทียน
                    2.เขตชั้นกลางรัศมี 10-30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา (Middle EEC Aerotropolis) พื้นที่ 6.76 แสนไร่ จะพัฒนาพื้นที่จากพัทยา-เมืองระยองให้เป็นเขตพัฒนาเดียวกัน 3.พื้นที่รอบสนามบิน อู่ตะเภา ที่ครอบคลุมท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ 2.23 แสนไร่
"มหานครการบินจะต้องแก้ไขไม่ให้ เกิดปัญหาความหนาแน่นเหมือนพื้นที่ สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง"
                    ต่อยอดเมืองการบินตะวันออก
                    สำหรับแนวคิดการพัฒนามหานคร การบินภาคตะวันออก (EEC Aerotropolis) จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต่อขยายจากศูนย์กลางสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อรองรับประชากรที่ทำงานในสนามบิน อุตสาหกรรมต่อเนื่องและ นักท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและศูนย์กลาง โลจิสติกส์ เป็นการพัฒนาเมืองตามแนวทางหลวง 331 และทางหลวง 3191 เช่น เมืองปลวกแดง เมืองบ้านค่าย
                  2.รองรับการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการและการพัฒนาเมือง เช่น เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา เมืองพัทยา เมืองสัตหีบ ชุมชนบ้านฉาง
                   นายคณิศ กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล จ.ระยอง 100 กิโลเมตร จะเข้าไปแตะน้อยที่สุด เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวในอนาคต เจาะเป้าหมาย นักท่องเที่ยวที่มีรายรายได้สูง ในเขตศูนย์กลางจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมแบบเดิม แต่จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและไม่ก่อมลพิษ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยานและธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรชั้นนำ โดยจะเน้นในเส้นทางพื้นที่ระหว่างเมืองพัทยา และเมืองระยอง ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่ วางรายละเอียดอีกครั้ง
ดันโมโนเรลเชื่อมระยอง
                  ส่วนพื้นที่ถัดมาจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสูงในระยอง โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) จะสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภา จ.ระยอง ซึ่งมีแผนหารือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) วางระบบรถเมล์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อเชื่อมจากสนามบินอู่ตะเภา มาตัวเมืองระยองและแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนจากมากับ คณะทัวร์มาเป็นการเดินทางแบบส่วนตัว ดังนั้นต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่นักท่องเที่ยว สามารถใช้บริการได้สะดวกและตรงเวลา
                สำหรับระยะต่อไปหลังจากที่สนามบิน อู่ตะเภาดำเนินการได้ในระยะหนึ่งมีผู้โดยสารที่มากพอ ก็จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ระยอง ใช้งบ 10 ล้านบาท จ้างมหาวิทยาลัยบูรพาศึกษา คาดว่าในระยะทาง 31 กิโลเมตร จะมีสถานี 5-6 สถานี ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าการขยายรถไฟฟ้าความเร็วสูง 1 สถานี ที่ตัวเมืองระยอง ส่วนในอนาคตถ้ามีการขยายรถไฟความเร็วสูงไปจันทบุรีและตราด ก็จะขยายผ่านตัวเมืองระยอง
มั่นใจเซ็นพัฒนาอู่ตะเภา ต.ค.นี้
                   นายคณิศ กล่าวว่า ความคืบหน้าของการเปิดประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ จะสรุปซอง 2 (เทคนิค) มีเกณฑ์ตัดสินต้องมีคะแนน 80% จึงจะผ่าน และจะเปิดซอง 3 ผลตอบแทนให้กับภาครัฐตลอดระยะเวลา 50 ปี คาดว่าจะเปิดซองได้วันที่ 11 ต.ค. หรือวันที่ 15 ต.ค.นี้ ขึ้นกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ
                  จากนั้นจะเจรจาสัญญากับผู้ให้ ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะไม่ยืดเยื้อเหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะเป็นสัญญาที่ ให้ผลตอบแทนกับรัฐเพียงฝ่ายเดียว ต่างจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐ ต้องร่วมลงทุนด้วย
                 โดยหลังจากการลงนามสัญญาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จะหารือการท่องเที่ยวกับ อบจ.ระยอง และเอกชนในพื้นที่ เพื่อทำแผนส่งเสริมการ ท่องเที่ยว
                ทั้งนี้ เมื่อสนามบินอู่ตะเภาเสร็จจะเพิ่มผู้โดยสารจากปัจจุบันปีละ 2 ล้านคน เป็น 24 ล้านคนภายใน 5 ปี และจะมีนักท่องเที่ยวมาจังหวัดระยองเพิ่มขึ้น 4-5 ล้านคน ไม่รวม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและการวิจัยที่จะเข้ามาทำงานในระยองเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยกระดับธุรกิจการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจระยองได้มาก
                นอกจากนี้ แรงงานในอีอีซีจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสนามบินอู่ตะเภาต้องการบุคลากรไม่ต่ำกว่า 3,000 คน รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นต้องการแรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซึ่งจะยกระดับแรงงานในพื้นที่ไปสู่แรงงานทักษะสูงและมีรายได้ดีขึ้น
ผังเมืองอีอีซีจ่อเข้าครม.
               นายคณิศ กล่าวว่า ขณะนี้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอีอีซี รอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นผังเมืองที่ดีมาก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และรองรับการขยายของอีอีซีช่วง 20 ปี ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่สมดุลทั้งเขต ตัวเมือง อุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร โดยหลังจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ นี้ไปจัดทำผังเมืองจังหวัด 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราต่อไป
             "ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ อีอีซี มีการปรับปรุงจากผังเมืองเดิมเพียง 8% โดยพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรชั้นดียังคงไว้ตามเดิม โดยใน 8% ที่มีการปรับปรุงนี้ แบ่งเป็นเขตบัฟเฟอร์โซน หรือพื้นที่กันไว้ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่สีเขียวประมาณ 3% เป็นการปรับจากพื้นที่ชนบทไปเป็นพื้นที่เมือง 3% และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 2% ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การพัฒนาพื้นที่อีอีซีมีความสมดุล"
            "ทีจี"เร่งศูนย์ซ่อมอากาศยาน
            เรืออากาศโทรณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภามีโอกาสสูงมากในเชิงธุรกิจ เนื่องจากการใช้เครื่องบินในภูมิภาคนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีการซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า จากจำนวนปัจจุบันที่มีอยู่ 1.4 หมื่นลำ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการใช้เครื่องบิน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว ดังนั้นใครที่ทำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานได้ก่อนก็จะมีความได้เปรียบ
            สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะเป็นศูนย์ซ่อมฯ ที่มีมาตรฐานระดับโลกใช้เทคโนโลยีการซ่อมขั้นสูงสุด มีการนำหุ่นยนต์ ระบบไอที เอไอ บล็อกเชนเข้ามาใช้ในการให้บริการ ซึ่งติดตามประสานงานกับเครื่องบินตั้งแต่อยู่บนท้องฟ้าจนถึงลงจอด และจะมีทีมวิศวกรเข้าไปดูแลทันทีลดเวลาการดำเนินงานจาก 10 วัน เหลือเพียง 10 นาที
            ทั้งนี้ การก่อสร้าง Smart Hangar หรือโรงซ่อมเครื่องบินอัจฉริยะ จะเป็นการลงทุนของกองทัพเรือวงเงิน 6,300 ล้านบาท โดยร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ เช่น แอร์บัส โบอิ้ง และจีอี นำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาก่อสร้าง ซึ่งจะเป็น Smart Hangar แห่งแรกที่ไม่มีเสา และรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดได้ รวมทั้งซ่อมเครื่องบินได้พร้อมกัน 8 ลำ บวกกับการใช้ศักยภาพของการบินไทยที่มีประสบการณ์ซ่อมอากาศยาน 40 ปี
            "Smart Hangar แห่งนี้จะมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด อาคารพ่นสี และโรงซ่อมเครื่องบินจะไม่ปล่อยให้ละอองสีออกมานอกโรงซ่อม รวมทั้งให้บริการซ่อมเครื่องบินที่เร็วกว่ารายอื่นทำให้สายการบินต่างๆ จะเข้ามาเป็นลูกค้าของเรา รวมทั้งยังมีศูนย์ฝึกอบรมเพื่อสร้างวิศวกรรมการบิน ช่างอากาศยานที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้ดีที่สุดในโลก ใช้เวลาซ่อมเร็วที่สุด มีคุณภาพสูงสุดและมีราคาดีที่สุด"
            ทั้งนี้ การก่อสร้าง Smart Hangar บริษัทผู้ออกแบบส่ง MRO Drawing พร้อมนำเสนองบประมาณการก่อสร้างให้กับกองทัพเรือภายในเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นจะถมที่ดินเพื่อยกระดับพื้นที่ 6-9 เมตร ภายในเดือน ก.ย.2563 และจะก่อสร้างเดือน ต.ค.2563 คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ต.ค.2565 และ จะเปิดบริการเดือน เม.ย.2566
            คาดแอร์บัสยื่นข้อเสนอ ธ.ค.นี้
            ส่วนความคืบหน้าการร่วมลงทุน ศูนย์ซ่อมอากาศยานระหว่างการบินไทยกับแอร์บัส ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ รายละเอียดของสัญญาร่วมทุน 50:50 วงเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยเป็นบริษัทอันดับต้นของประเทศ ส่วนแอร์บัสเป็นบริษัทระดับโลกจึงต้องรอบคอบ
            ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ กำลังจะเห็นชอบร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) และการบินไทย จะส่งเอกสารดังกล่าวให้แอร์บัสภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นแอร์บัสจะยื่นข้อเสนอภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจากนั้น กพอ. จะให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนภายในเดือน พ.ค.2563
            จากนั้นการบินไทยและแอร์บัสลงนามสัญญาร่วมลงทุนเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนภายในเดือน ก.ค.2563 โดยลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน และอาคารกับ สกพอ.ในวันเดียวกัน ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะต้องลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับการบินไทยก่อนแล้วจึงลงนามในสัญญาเช่าที่ดินและอาคารกับ สกพอ
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ