คลังถกชิมช้อปใช้เฟส2 ให้ลงทะเบียนกลางวันเก็บตกเฟส1ถึง15พ.ย.
Loading

คลังถกชิมช้อปใช้เฟส2 ให้ลงทะเบียนกลางวันเก็บตกเฟส1ถึง15พ.ย.

วันที่ : 7 ตุลาคม 2562
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สศค. กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการชิมช้อปใช้ในเฟส 2 อย่างไร โดยแนวคิดของ สศค.ต้องการที่จะกระตุ้นให้กลุ่มคนพอมีกำลังนำเงินออกมาใช้จ่าย
            คลังนัดถกแนว'ชิมช้อปใช้'เฟส 2 จบสัปดาห์นี้ ชงเข้า ครม.15 ต.ค. เปิดให้ลงทะเบียนช่วงกลางวัน
            สรุปชิมช้อปใช้เฟส2สัปดาห์นี้
            เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ว่า ในช่วงสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สศค. กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการชิมช้อปใช้ในเฟส 2 อย่างไร โดยแนวคิดของ สศค.ต้องการที่จะกระตุ้นให้กลุ่มคนพอมีกำลังนำเงินออกมาใช้จ่าย นอกเหนือจากการแจกเงิน 1,000 บาท เพราะเท่าที่พูดคุยมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากไปแข่งขันลงทะเบียนรับเงินในช่วงกลางดึก แต่มีความพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินและรับเงินคืน (cash back) 15% ดังนั้น สศค                    จะเสนอแนวคิดนี้ยังที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่ และหน่วยงานอื่นมีความเห็นอย่างไรบ้าง
            "สศค.นำผลของมาตรการช้อปช่วยชาติที่ไม่ได้มีการแจกเงิน แต่เป็นการคืนภาษีให้มาประเมินร่วมกับการออกชิมช้อปใช้เฟส 2 พบว่าช้อปช่วยชาติสามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้แม้จะไม่แจกเงิน ซึ่งในการดำเนินการเฟส 2 ชิมช้อปกลุ่มเป้าหมายอาจแตกต่างจากชิมช้อปใช้ในกลุ่มแรก เพราะสิ่งที่กระทรวงการคลังอยากได้ คือกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินออกมาใช้จ่าย โดยภาครัฐจะมีแรงจูงใจ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ควักเงินออกมาใช้" นายลวรณกล่าว
            ชงครม.15ต.ค.แย้มเปิดกระเป๋า3
            นายลวรณกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเวลาลงทะเบียนมาเป็นช่วงเวลาทำการ หรือช่วงกลางวัน แทนที่จะเป็นช่วงเวลา 00.01 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมายในเฟส 2 ลงทะเบียนง่ายขึ้น ถ้าคนกลุ่มนี้มาลงทะเบียนตามเป้าหมายที่ สศค.ตั้งไว้จะกระตุ้นให้เกิดการใช้เงินกระเป๋า 2 มากขึ้น ซึ่ง สศค.จะพยายามสรุปชิมช้อปใช้เฟส 2 ให้จบภายในสัปดาห์นี้ และเสนอ ครม.ในวันที่ 15 ตุลาคม
นายลวรณกล่าวว่า ผู้ที่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ในเฟสแรกสิทธิประโยช์ที่จะได้น่าจะดีกว่าในเฟส 2 และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้เงินกระเป๋า 2 ไปจนถึงสิ้นปี จากเดิมกำหนดไว้ 30 พฤศจิกายน 2562 โดยในส่วนเฟส 2 อาจไม่ใช้วิธีแจกเงิน 1,000 บาท แต่มีวิธีใหม่ เช่นมีกระเป๋า 3 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ควักเงินมาใช้จ่าย เป็นต้น
            ลงทะเบียนเก็บตก2-3แสน/วัน
            นายลวรณกล่าวว่า ขณะนี้ยอดลงทะเบียนรับสิทธิมาตรการชิมช้อปใช้ครบ 10 ล้านคนแล้ว อย่างไรก็ตาม สามารถลงเพิ่มเติมได้ เพราะในแต่ละวันมียอดที่ลงทะเบียนไม่ผ่าน ซึ่งระบบจะมีการคำนวณและแจ้งไว้ในหน้าเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ในช่วงเริ่มต้นวันใหม่เวลา 00.01 น. ดังนั้น ประชาชนสามารถมาลงทะเบียนเพิ่มได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ที่ลงทะเบียนยังใช้จ่ายสัปดาห์แรกมาใช้จ่ายเพียง 1.25 ล้านราย และมีการใช้จ่ายกระเป๋าที่ 2 กว่า 4.6 พันราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 13.1 ล้านบาท จากยอดที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นเป๋าตังแล้ว 4.97 ล้านราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จกว่า 4 ล้านราย ถือว่าไม่มาก
            นายลวรณกล่าวว่า ในวันที่ 11 ของการลงทะเบียนตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม สามารถเก็บตกอีก 2.7 แสนคน และในวันที่ 12 ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม เก็บตกได้อีก 3 แสนคน ซึ่งเป็นยอดที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ติดตั้งแอพพ์ไม่ผ่าน ทั้งนี้ จำนวนในการลงทะเบียนใหม่ ระบบจะคำนวณอัตโนมัติ และแจ้งยอดที่หน้าเว็บไซต์ ดังนั้น ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน โดยสามารถลงทะเบียนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 และใช้จ่ายถึง 30 พฤศจิกายน 2562
            หอค้าแนะปรับวิธีเข้าถึงสิทธิ
            ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเติมเงินลงระบบเศรษฐกิจโดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์เกิดการหมุนเวียนแน่ 3-4 รอบ อย่างมาตรการชิมช้อบใช้ 1,000 บาท ที่รัฐเองออกมาระบุว่าส่วนใหญ่ใช้ซื้อสินค้า ก็จะเริ่มหมุนเวียนในธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจขายส่ง และขบวนการผลิตและจัดส่ง (โลจิสติกส์) ซึ่งหากเป็นค้าปลีกรายใหญ่หรือค่าปลีกสมัยใหม่ก็จะหมุนเวียนช่วงสั้นๆ แต่หากเงินจำนวนเดียวกันไปถึงร้านค้าทั่วไป (โชห่วย) ร้านค้าชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวหรือตลาดนัดก็จะเกิดหมุนเวียน 4-6 รอบได้ เพราะทุกขั้นตอนจะมีการใช้จ่ายเงินเร็ว ขณะที่วิธีการให้เงินที่รัฐจ่ายออกไปได้ถึงมือคนรากหญ้าและใช้จ่ายจริง เงินก็จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง
            "หลักการนั้นดีที่จะเพิ่มเงินให้ประชาชน แต่ก่อนที่รัฐจะทำมาตรการต่อเนื่องก็ควรทบทวนว่าครั้งแรกนั้นผู้รับประโยชน์จริงๆ คือธุรกิจขนาดใหญ่และผู้มีรายได้จริงหรือ เพราะเป็นการเข้าใช้สิทธิแบบเทคโนโลยีซึ่งคนในฐานรากอาจยังไม่เข้าใจและเข้าถึงยาก ไม่เหมือนกับการแจกเงินโดยตรงอย่างรัฐบาลในอดีต เช่น การจ้างแรงงานรายได้น้อยขุดท่อหรือทำงานก่อสร้างในชุมชนก็จะได้รับเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายใกล้บ้านซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวัน และไม่ควรที่จะตั้งเงื่อนไขจนเข้าถึงสิทธิได้ยากขึ้น ตอนนี้ผมยังเชื่อว่ามาตรการรัฐเกิดการหมุนเวียนเงินในระบบแค่ 3-4 รอบอย่างมาก ถ้าจะให้เกิน 5-6 รอบ ก็ต้องสร้างแรงแกว่งมากกว่านี้ เห็นด้วยหากต้องมีการเพิ่มมาตรการกระตุ้นกำลังใช้จ่ายอีก เพราะตอนนี้คนฐานรากฝืดเคืองเรื่องการเงินใช้จ่ายมาก ทิ้งไว้นานอาจเป็นเรื่องภัยสังคมได้มากขึ้น อย่าไปห่วงว่าให้เงินแล้วคนจะไปซื้อเหล้าบุหรี่ ใน 100% อาจมีไม่ถึง 1%" ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าว
            เตรียมระดมสมองขับเคลื่อนศก.
            ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าวว่า ในส่วนแนวคิดประชารัฐสร้างไทย ในหลักการเป็นเรื่องดีที่จะสร้างความร่วมมือและร่วมคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานให้เกิดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว ในส่วนของหอการค้าไทยก็อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นและขอเสนอแนะที่จะนำเสนอภาครัฐต่อไป ที่มุ่งในเรื่องแนวทางการทำงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ก่อนปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปเสนอในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศประจำปี 2562 ปลายเดือนพฤศจิกายน ที่จังหวัดลำปาง และทำเป็นสมุดปกขาวเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
            ผู้สื่อข่าวรายว่า ขณะนี้หอการค้าไทย ทั้งภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ อยู่ระหว่างการหารือและจัดเก็บข้อมูลด้านอุปสรรคและความต้องการ ที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอเตรียมนำเสนอหน่วยงานรัฐ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อนำไปวางแนวทางพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2563
            'ชิมช้อปใช้'คึกคักทั่วไทย
            ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการใช้จ่ายตามโครงการชิมช้อปใช้ในจังหวัดต่างๆ ช่วงวันหยุดเป็นไปอย่างคึกคัก
            ที่ จ.ลำปาง มีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะตามร้านค้าที่ร่วมโครงการชิมช้อปใช้ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึกที่เข้าร่วมโครงการ
            ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขา จ.พิษณุโลก ประชาชนนำเงินตามโครงการชิมช้อปใช้มาใช้สิทธิเลือกซื้อสินค้ากันจำนวนมาก ทางห้างต้องใช้วิธีจับบัตรคิวในจ่ายเงินผ่านแอพพ์เป๋าตัง
            ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ร้านจำหน่ายของฝากที่เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ มีลูกค้ามาซื้อของกันคึกคัก
            นางชญาดา จิระรัตนกุล คลังจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายใช้เงินผ่านแอพพ์เป๋าตังตามร้านค้าในโครงการชิมช้อปใช้ใน จ.เพชรบูรณ์ กันอย่างคึกคัก ส่งผลให้ร้านค้าที่ไม่ได้ร่วมโครงการเร่งมาสมัครเข้าร่วมเพิ่มขึ้น
            ที่ธนาคารกรุงไทย สาขา อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา มีประชาชนจำนวนมากไปยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมกับโครงการชิมช้อปใช้พบว่ามีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจนแน่นร้าน
            ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแม็คโคร ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี รถยนต์ติดกันยาวเหยียดกว่า 5 กิโลเมตร เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิมาตรการชิมช้อปใช้ ส่วนภายในห้างมีประชาชนรอรับบัตรคิวเพื่อใช้สิทธิซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกันยาวเหยียด บางคนรอนาน 3-4 ชั่วโมง กว่าจะชำระเงินเสร็จ จากการสอบถามพบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิชิมช้อปใช้มาจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
            ดึงร้านค้าช่วยกระตุ้นศก.ฐานราก
            นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมา โดยเฉพาะมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและมาตรการชิมช้อปใช้ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังเป็นเฉพาะกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวัน ส่งผลดีต่อร้านค้าและห้างสรรพสินค้าจำหน่าย และผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องในวงจรนี้เท่านั้น แต่หากอยากจะทำให้เม็ดเงินที่รัฐบาลกระตุ้นลงไปสามารถหมุนได้ 5-6 รอบ จะต้องทำให้ร้านค้าในต่างจังหวัดและร้านค้าชุมชนต่างๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น จะทำให้มีการกระจายเม็ดเงินลงไปได้ลึกและหมุนได้หลายรอบ
            "อยากฝากการบ้านไปถึงรัฐบาลให้มีการสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายที่ร้านค้าในต่างจังหวัดและร้านค้าชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เข้าไปถึงระดับฐานราก ยิ่งกระจายเม็ดเงินลงไปได้ในระดับลึกเท่าไรการหมุนรอบก็จะยิ่งมากขึ้นเกิดการกระจายและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร้านค้าในต่างจังหวัดและร้านค้าชุมชนมีคนไปซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น เพราะหากผลดีอยู่ที่แค่ร้านค้าใหญ่ หรือร้านในส่วนกลาง เม็ดเงินที่คาดหวังว่าจะลงไปหมุนในระบบเศรษฐกิจอาจจะหมุนเวียนได้ไม่กี่รอบซึ่งประสิทธิภาพการกระตุ้นจะดีกว่าหากยิ่งกระจายได้ลึก" นายเกรียงไกรกล่าว
            นำเข้าต่ำสัญญาณส่งออกวูบยาว
            นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความชัดเจนเบร็กซิท เป็นต้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและกระตุ้นการลงทุนในประเทศ แต่เอกชนยังกังวลและไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจจึงชะลอการลงทุน ขณะที่การลงทุนโครงสร้างของภาครัฐยังล่าช้า ภาครัฐจึงต้องนำและมีมาตรการออกมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนตาม ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบกับการส่งออกไทย แต่ยังมีโอกาสหากมีการนำเข้าจะได้ต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งปัจจุบันแม้การส่งออกจะติดลบ แต่การนำเข้าติดลบมากกว่าสะท้อนเอกชนไม่มีการลงทุนและไม่มีการนำเข้าสินค้าทุนเข้ามา โดยล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงมาที่ 2.7-3.0% ส่วนการส่งอออกติดลบ 2%-0%
            จี้รัฐออกมาตรการพยุงอสังฯ
            นายวิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาดและกรรมการโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 จากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดว่าจะลดลง 10-15% จากปี 2561 โดยเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาทำให้เห็นสัญญาณชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา แต่คาดว่าช่วงไตรมาส 4 เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาเล็กน้อย
นายวิทวัสกล่าวว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ หากภาครัฐไม่มีมาตรการดูแลหรือมาตรการกระตุ้นออกมาเป็นห่วงว่าปี 2563 ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะซบเซาไปมากกว่านี้และอาจจะทำให้วงจรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สะดุด เพราะหากผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้มีการเปิดโครงการใหม่ กระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้างไม่มีงานทำ กระทบต่อการจ้างงาน กระทบธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
            นายวิทวัสกล่าวอีกว่า หากโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้จากการกู้ไม่ผ่าน หรือทิ้งดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการเงินขาดมือ อาจจะไปดึงเงินจากที่ต้องจ่ายผู้รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง เกิดสถานการณ์เช็คเด้งได้ ซึ่งผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการโครงการแนวราบ เพราะคอนโดมิเนียมต้องใช้เงินลงทุนก่อสร้างสูง ต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งโครงการไม่สามารถชะลอโครงการได้ และจะโอนรับรู้รายได้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ขณะที่ผู้ประกอบการแนวราบอาจจะยืดหยุ่นแบ่งการพัฒนาเป็นเฟสๆ ได้หากตลาดชะลอตัว
            ฟื้นลดค่าธรรมเนียม-ค่าโอน
            "มาตรการที่อาจหยิบยกมาใช้เป็นมาตรการที่รัฐเคยใช้มาแล้ว คือมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง จะช่วยกระตุ้นให้คนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมาซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ ได้ประโยชน์ทั้งประชาชนที่ลดภาระค่าใช้จ่ายลง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขายสินค้าได้ ขณะที่ภาครัฐได้รับรายได้จากภาษีธุรกิจเฉพาะที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย ซึ่งรายได้ของรัฐในส่วนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลดลง แต่มีรายได้จากภาษีธุรกิจเฉพาะเข้ามาเสริม แม้ว่าจะขาดทุนแต่เป็นการขาดทุนกำไร ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นที่ออกมาจะมาช่วยเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจ ปี 2563 ร่วมกับแรงหนุนการท่องเที่ยว ส่งออกและโครงการลงทุนภาครัฐผ่านรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ได้" นายวิทวัสกล่าว
            คอนโดหวัง'เงินโบนัส'ดันยอด
            นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่าจะปรับดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะปกติ 3 เดือนสุดท้ายในแต่ละปีเป็นช่วงซื้อ ขาย และโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ เป็นช่วงที่ผู้บริโภคจะได้รับโบนัสหรือมีรายได้พิเศษ แทนที่จะนำไปใช้จ่ายหรือเก็บเป็นเงินฝากได้ดอกเบี้ยต่ำ จึงนำเงินส่วนนี้มาซื้อที่อยู่อาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์ หากมีความต้องการซื้ออยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 โดยพบว่ายอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 - ไตรมาส 1 ปี 2563 จะเติบโตกว่าไตรมาสอื่นๆ 10-20% อย่างไรก็ตาม แผนการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอาคารชุดอาจจะชะลอตัวลงไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมทั้งยังมีซัพพลายที่เหลือขายในตลาดที่รอการอยู่
            "การทิ้งเงินดาวน์ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่แล้วในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติในตลาดที่เพิ่งจะเกิดขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ทิ้งโอนเป็นกลุ่มของคนที่ขอกู้สินเชื่อจากธนาคารไม่ผ่าน เพราะมีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว รายได้ไม่เพียงพอให้ก่อหนี้ได้เพิ่มอีก ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ผู้ประกอบการมักต้องมีการจ่ายเงินดาวน์สูง 25-30% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันความเสี่ยง คิดเป็นมูลค่าสูงพอสมควรซึ่งชาวต่างชาติยังมีการมาโอนกรรมสิทธิ์ตามปกติหลังจากที่โครงการแล้วเสร็จ" นางอาภากล่าว
            ลุยมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีด
            นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการพิจารณาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ดินของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมถึงแผนการรื้อถอนสิ่งกีดขวางเส้นทางก่อสร้าง วันที่ 7 ตุลาคม โดยได้กำหนดแผนงานที่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการส่งมอบพื้นที่ดินอย่างไรบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดรับหน้าที่ดำเนินการ ต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการดำเนินการ มีงบประมาณสำหรับดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่ หรือจะต้องมีการของบประมาณเพิ่มเติม เป็นต้น
            "หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาอีอีซี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในพื้นที่ อีอีซีโดยรวม การส่งมอบพื้นที่ดินและแผนการรื้อถอนสิ่งกีดขวางของโครงการไฮสปีดเทรน ซึ่งจะมีคณะทำงาน รวมทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม จะเห็นภาพและรายละเอียดที่ดำเนินการอยู่ชัดเจนมากขึ้น" นายศักดิ์สยามกล่าว
            นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รักษาการผู้ว่าการ รฟท.ในฐานะประธานคณะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมาดำเนินการเพื่อให้การส่งมอบพื้นที่ดินเป็นไปตามกำหนดเวลาที่วางไว้ และทำให้เอกชนสามารถเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างโครงการได้
            ปตท.ชี้ผลิตปุ๋ยสั่งตัดโจทย์ยาก
            นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการผลิตปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยเหลือต้นทุนให้กับเกษตรกร ตามนโยบายรัฐบาลว่า ถือเป็นเรื่องใหม่จึงอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นภาคที่กว้างใหญ่มาก มีหลายรูปแบบ หลากหลายพื้นที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้ง ดิน น้ำ ภูมิอากาศ ชนิดพืชที่ปลูกในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จะดำเนินการอย่างไรต้องดูรูปแบบให้รอบคอบ ที่สำคัญคือผลิตแล้ววางจำหน่ายที่ปั๊ม ปตท.แล้วจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไร
            "เรื่องขายไม่ยาก กระตุ้นให้ใช้วิธีการใหม่ๆ มาดำเนินการสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องคิดเยอะคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรซื้อไปใช้ปลูกจริง ลดต้นทุนจริง ขายได้จริง อยู่รอดได้ และขยายไปทั่วประเทศ การตลาดจะทำอย่างไรต้องศึกษารอบคอบเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปดำเนินการได้" นายชาญศิลป์กล่าว
            นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปตท. โดยสถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมกับกระทรวงพลังงานกำลังศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน และเห็นภาพชัดเจนภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต โดยเฉพาะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเห็นถึงโอกาสเป็นผู้นำพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานที่แนวโน้มความต้องการจะสูงขึ้นในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตมากนัก
            รอรัฐเคาะอนาคตอีวี-ไฮบริด
            นายชาญศิลป์กล่าวว่า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทย คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจน 3-5 ปีข้างหน้า แต่ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐ ส่วนตัวมองแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาพัฒนาและขยายตัวอีก 15-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตรวดเร็ว และจากการศึกษารูปแบบอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ พบว่าจะพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เต็มรูปแบบ ดังนั้น ปตท.ยังคงให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในปั๊มเป็นหลัก ควบคู่กับติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมบางปั๊มในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่จำเป็นต้องมีระบบชาร์จทุกปั๊ม
            นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปตท.ร่วมกับ WM Motors ผู้ผลิตรถไฟฟ้ายี่ห้อ Weltmeister ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพของประเทศจีน ศึกษาวิจัยและออกแบบระบบเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านำร่องใช้ในองค์กรก่อน เป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท. เป็นต้นแบบทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานในอนาคต
            เร่งจ่ายกว่า3พันล.ช่วยชาวไร่อ้อย
            นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วงเงิน 6,500 ล้านบาท ว่า ได้สั่งจ่ายเงินงวด 2 วงเงิน 3,293 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยได้รับความช่วยเหลือ 160,281 ราย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) จ่ายเงินงวด 1 แล้ว 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทาง
            สำหรับมาตรการช่วยเหลือปี 2563 อาจพิจารณาในหลักการเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา
            ก.อุตฯเริ่มศก.ฐานชีวภาพ
            นายกอบชัยกล่าวว่า กระทรวงกำลังดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (ไบโอ อีโคโนมี) ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างสารซอร์บิทอล และสารไอโซมอลต์ รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ