กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปลุกคอนโด เตาปูน-ท่าพระ
Loading

กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปลุกคอนโด เตาปูน-ท่าพระ

วันที่ : 30 กันยายน 2562
เปิดสายสีน้ำเงินต่อขยาย "หัวลำโพง-หลักสอง" ผู้โดยสารเฉียด 1 แสนเที่ยว "บิ๊กตู่" กดปุ่ม 30 ก.ย.เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท ธ.ค.นี้ทดลองเดินรถ "เตาปูน-ท่าพระ" คาดคอนโดฯคึก นั่งฟรีถึง 30 มี.ค. 63 เสี่ยเจริญสร้างสกายวอล์กเชื่อมห้างเกตเวย์บางซื่อ รฟม.ตั้งเป้าคนใช้ทั้งโครงข่าย 8 แสนเที่ยว สิ้นปีค่ารถไฟฟ้าถูกแน่ แอร์พอร์ตลิงก์-สายสีม่วงพ่วงสีน้ำเงินถกบีทีเอสยืดโปรฯ
          เปิดสายสีน้ำเงินต่อขยาย "หัวลำโพง-หลักสอง" ผู้โดยสารเฉียด 1 แสนเที่ยว "บิ๊กตู่" กดปุ่ม 30 ก.ย.เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท ธ.ค.นี้ทดลองเดินรถ "เตาปูน-ท่าพระ" คาดคอนโดฯคึก นั่งฟรีถึง 30 มี.ค. 63 เสี่ยเจริญสร้างสกายวอล์กเชื่อมห้างเกตเวย์บางซื่อ รฟม.ตั้งเป้าคนใช้ทั้งโครงข่าย 8 แสนเที่ยว สิ้นปีค่ารถไฟฟ้าถูกแน่ แอร์พอร์ตลิงก์-สายสีม่วงพ่วงสีน้ำเงินถกบีทีเอสยืดโปรฯ

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 30 ก.ย. 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคอย่างเป็นทางการ หลัง รฟม.และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถได้เปิดทดลองบริการฟรีตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. เริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตรา 16-42 บาทเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังนายกรัฐมนตรีกดปุ่มเปิดพิธีในเวลา 10.20 น. จะนั่งรถไฟฟ้าจากสถานีท่าพระ-สถานีวัดมังกร เพื่อพบประชาชนรอบสถานีวัดมังกรและย่านเยาวราช

          "ที่ผ่านมา รฟม.และ BEM ดำเนินการตามสัญญาสัมปทานคือทยอยเปิดบริการส่วนต่อขยายใหม่ ระยะทาง 27 กม. ตามความพร้อมของการทดสอบการเดินรถ หลังเปิด 1 สถานีเชื่อมกับสถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูนเมื่อ 11 ส.ค. 2560 และเมื่อ ก.ค. 2562 ทยอยเปิดช่วงหัวลำโพง-หลักสองจนครบ 11 สถานีเมื่อวันที่ 21 ก.ย.  ได้แก่ สถานีวัดมังกร สามยอด สนามไชย อิสรภาพ ท่าพระ บางไผ่ บางหว้า เพชรเกษม 48 ภาษีเจริญ บางแค และหลักสอง มี ผู้โดยสารใช้บริการเกือบ 1 แสนเที่ยวคน/วัน"

          นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดทดลองเดินรถช่วงเตาปูนท่าพระที่จะไปบรรจบกับสีน้ำเงินต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดใช้ฟรีถึง วันที่ 30 มี.ค. 2563 จะเก็บค่าโดยสารตามสัญญา มีสถานีบางโพ บางอ้อ บางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน บางขุนนนท์ ไฟฉาย และจรัญฯ 13 คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการช่วงนี้ 1 แสนเที่ยวคน/วัน คึกคักไม่แพ้ช่วงหัวลำโพง-บางแค

          ที่สำคัญทำเลเตาปูน-บางซื่อ ที่สายสีน้ำเงินพาดผ่านจะเป็นแหล่งพัฒนาย่านชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะถนนจรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่จำนวนมาก น่าจะได้อานิสงส์เหมือนศูนย์การค้าเกตเวย์บางซื่อ ซึ่งขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีบางโพแล้ว ระยะเวลา 15 ปี วงเงิน 30 ล้านบาท

          "ตั้งแต่ เม.ย. 2563 สายสีน้ำเงินจะเปิดบริการครบลูปทั้งสายเก่าและ สายใหม่ รวม 47 กม. มี 38 สถานี ซึ่งระยะทางยาวขึ้น แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเท่าเดิม คือ เริ่มต้น 16 บาทและสูงสุด 42 บาท หลังเปิดให้บริการเต็มเส้นทางแล้ว จะทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น คาดว่า ในปี 2564 ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินจะแตะ 8 แสนเที่ยวคน/วัน"

          นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รฟม.จะลดภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสาย สีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสายสีน้ำเงินให้กับผู้ใช้บริการ โดยจะจัด โปรโมชั่นออกบัตรโดยสารรายเดือนแบบจำกัดเที่ยว และลดราคาในช่วง off peak โดยสายสีม่วงจะลดราคาจากปัจจุบัน 14-42 บาท เหลือ 14-17 บาท และ 20 บาท กรณีที่ใช้บริการตั้งแต่ 2 สถานีเป็นต้นไป

          ส่วนสายสีน้ำเงินเนื่องจากเป็นเส้นทางสัมปทานของ BEM  จะให้ลดราคาช่วง off peak คงยาก จะทำโปรโมชั่นบัตรรายเดือนแบบจำกัดจำนวนเที่ยวร่วมกับสายสีม่วง เช่น 50 เที่ยว โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48-50 บาท จากปัจจุบันหากผู้โดยสารใช้ทั้ง 2 ระบบ จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณไปอุดหนุนเอกชน ขณะนี้รอบอร์ดของ รฟม.และ BEM อนุมัติ

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางรางกำลังสรุปแนวทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 4 สายทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน และแอร์พอร์ตลิงก์ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ศึกษาแนวทาง จะออกมาตรการเป็นแพ็กเกจ เช่น จัด โปรโมชั่นบัตรโดยสารแบบรายเดือน (จำกัดจำนวนเที่ยว) ลดราคาช่วง off peak หรือนอกเวลาเร่งด่วน โดยจะลดอัตราสูงสุดของแต่ละระบบ เช่น สีม่วงเหลือ 14-20 บาท แอร์พอร์ตลิงก์จาก 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท ตามระยะทาง ส่วนบีทีเอสมีตั๋วจำกัดจำนวนเที่ยวอยู่แล้วเฉลี่ยราคา 26 บาท/เที่ยว อาจจะให้ขยายโปรโมชั่นออกไป และให้คงราคาส่วนต่อขยาย 15 บาทออกไปอีก โดยกรมการขนส่งทางรางคาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารทุกระบบเพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.33 ล้านเที่ยวคน/วัน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ เนื่องจากจะต้องมีการปรับระบบและรอบอร์ดของแต่ละบริษัทอนุมัติ
          นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องลด ค่าโดยสารรถไฟฟ้าคาดว่าจะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ กำลังให้กรมการขนส่งทางรางปรับวิธีการใหม่ นำรายได้ในอนาคตของแต่ละระบบมาดำเนินการ ซึ่งรูปแบบการลดราคามีหลากหลาย เช่น ทำเป็นตั๋วรายเดือน และระยะเวลาคงไม่นาน อาจจะ 6 เดือน เป็นต้น
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ