กูรูฟันธงกนง.คง ดอกเบี้ย รอดูผลมาตรการรัฐกระตุ้นศก.
Loading

กูรูฟันธงกนง.คง ดอกเบี้ย รอดูผลมาตรการรัฐกระตุ้นศก.

วันที่ : 23 กันยายน 2562
การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ โดยทันทีที่เฟดหั่น ดอกเบี้ยลง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศ ต้องปรับลดตาม ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
    การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ โดยทันทีที่เฟดหั่น ดอกเบี้ยลง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศ ต้องปรับลดตาม ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งจะประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 25 ก.ย.นี้ "นักเศรษฐศาสตร์" ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง. จะยัง "คง" ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เพื่อรอดูผลของการปรับลดในรอบที่ผ่านมาและ รอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

    "กำพล อดิเรกสมบัติ" หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า แม้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดจะเอื้อให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้อีก แต่ประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ก่อน เพื่อรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

    "ตัวเลขหลายๆ ตัวไม่ดีนัก ส่งออก ลดต่อเนื่อง บางช่วงเด้งขึ้นมาบ้างแต่เป็นเพราะทองคำ การท่องเที่ยวบางเดือนดีขึ้นก็เป็นผลจากฐานปีก่อนต่ำ และถ้าดูกำลังซื้อในประเทศ  ยอดขายรถติดลบเป็นเดือนที่สาม แถมอสังหาฯ  ยังถูกเบรกจากมาตรการแอลทีวี ทำให้ สินค้าใหญ่ส่งสัญญาณชะลอหมด ถ้าจะดีขึ้นก็เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เราเชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูตรงนั้นก่อน"

    กำพล  ระบุว่า   มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการที่สนับสนุน การท่องเที่ยวจะเห็นผลหลังเดือนก.ย. ถ้ามาตรการ เหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อย เชื่อว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม จึงเป็นไปได้ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง อีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนพ.ย.หรือธ.ค.

    "เชาว์ เก่งชน" กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ เฟด จะลด ดอกเบี้ยลง แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย ยังไม่รีบปรับลดตามทันที โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เพื่อรอดูผลของการปรับลด ดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาก่อน

    "ถ้ารอบนี้จะลดอีกคงต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน จริงๆ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นนั้น และหากจำเป็นต้องลด ก็มีเวลาที่จะดำเนินการ ในครั้งถัดไป"

    ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี การลดดอกเบี้ยคงตัดทิ้งไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ขึ้นกับ ภาพรวมเศรษฐกิจ หากชะลอตัวแรง ก็เป็นไปได้ ที่จะปรับลดในการประชุมเดือนพ.ย. แต่ถ้าไม่เลวร้าย คงเป็นประชุมรอบสุดท้ายของปี

    สำหรับค่าเงินบาทประเมินว่า  กนง.อาจไม่ให้น้ำหนักกับการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ย มากนัก เพราะถ้าดูข้อมูลดุลการชำระเงิน พบว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกมากกว่าไหลเข้า อาจมีบางช่วงที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาจริง แต่บางช่วงก็ออกไป และยอดสะสมก็ยังติดลบโดยสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าหลักๆ มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงคงไม่หยิบปัจจัยนี้มามีพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยมากนัก

    "นริศ สถาผลเดชา" หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ไว้ก่อนเพื่อรอดูผลการลดดอกเบี้ยในรอบ ที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งผ่านนโยบาย การเงินจากการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อน ยังทำได้ไม่เต็มที่ แม้ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ปรับเฉพาะดอกเบี้ย MRR กับ MOR ส่วนดอกเบี้ย MLR ยังไม่ปรับลง ซึ่งถ้าปรับลดรอบนี้ แล้วดอกเบี้ย MLR ยังไม่ปรับลงตาม จะยิ่งตอกย้ำว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินมีผลน้อยลง

    อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ช่วงที่เหลือของปี มีโอกาสปรับลดลงอีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นเดือนพ.ย. หรือธ.ค. เพราะเวลานี้ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง แต่ยังมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางยักษ์ใหญ่หลายประเทศ เริ่มนำมาตรการ ผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) กลับมาใช้อีกรอบ ดังนั้นถ้าดอกเบี้ยทั่วโลก ปรับลงพร้อมกับการทำคิวอี หากดอกเบี้ยไทยไม่ปรับตามจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้

    "เกมนี้ถ้าใครไม่ปรับอาจเจ็บตัวได้โดยเฉพาะเงินบาทตอนนี้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านและคู่ค้าคู่แข่งขันพอสมควร ไม่ได้หมายความว่า การลดดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่การไม่ลดในขณะที่คนอื่นลด อาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นแรงกดดันพอสมควร"

    "พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ประเมินว่า การประชุม กนง. ครั้งนีเป็นรอบที่มี การปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่าอาจจะปรับคาดการณ์การเติบโตลงมา ต่ำกว่า 3% อยู่ราวๆ 2.8-2.9% สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ กนง. เองก็ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลไปแล้วตั้งแต่การประชุม ครั้งก่อน ครั้งนี้จึงเชื่อว่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ก่อน

    "รอบนี้เราเชื่อว่าน่าจะคง เพราะไม่มีตัวเลขอะไรที่ดูแล้วแย่ลงไปกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา ความจำเป็นในกาดอกเบี้ยตอนนี้จึงยังไม่ค่อยมี"

    อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปี มีโอกาสสูงที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีก 1 ครั้ง เว้นแต่สัญญาณเศรษฐกิจและการค้าโลกจะเริ่มดีขึ้น โดยถ้าจะลดคาดว่าจะเป็นการปรับลดในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี คือเดือน ธ.ค.

    "โอกาสที่จะคงกับลด ใกล้ๆ กัน  ต้องดูภาวะ เศรษฐกิจและการค้าโลกว่าเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบ กับเราแค่ไหน  และอีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเวลานี้เขาลงมาอยู่ใกล้เคียง กับเราแล้ว โดยสูงกว่าเราแค่ 0.25%

 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ