อสังหาฯรอฟื้นตัวหวังรัฐเร่งลงทุน
Loading

อสังหาฯรอฟื้นตัวหวังรัฐเร่งลงทุน

วันที่ : 18 กันยายน 2562
นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการในวาระครบรอบ 15 ปีของการจัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" ในเรื่อง "การพัฒนาเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางปัจจัยลบที่ท้าทาย" กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯมีบทบาทมากกว่าเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร
          นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการในวาระครบรอบ 15 ปีของการจัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" ในเรื่อง "การพัฒนาเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางปัจจัยลบที่ท้าทาย" กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯมีบทบาทมากกว่าเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่(บิ๊กดาต้า) หากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ได้ จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากในปัจจุบัน โลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะมีผลต่อศูนย์ข้อมูลฯอยู่ดี

          "15 ปี ศูนย์ข้อมูลฯเป็นแค่ระดับผู้ให้ บริการข้อมูล สิ่งที่เราอยากพัฒนา คือ เพิ่มข้อมูลการให้บริการให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ แม่นยำจริงๆ ซึ่งในระยะหลังมีเรื่อง LTV เรื่อง DSR ออกมาจากภาครัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเพื่อดูความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่สูง 70-80% ซึ่งตรงนี้ อยากให้ศูนย์ข้อมูลฯสามารถชี้ได้ว่า มาตรการที่ออกมาดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ทำ มาตรการควรผ่อนปรนหรือไม่ และสามารถเตือนไปยังภาครัฐได้เลย หรือการให้คำแนะนำกับหน่วยงานอื่นๆ"

          นายสุวัชชัย ใจข้อ ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในเรื่อง นโยบายการเงินและการคลังกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ในภาวะวิกฤตสงครามการค้าโลก กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า ขณะนี้ 4 เครื่องยนต์หลักในการ กระตุ้นเศรษฐกิจดับลงหมด ทั้งเรื่องการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องยนต์หลัก การลงทุนและการบริโภคภาครัฐ ตอนนี้ก็ไม่เคลื่อนไหว โดยการพิจารณางบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ทำให้ไตรมาสแรกปีงบ'63 ต้องชะงักลง การเบิกจ่ายที่ช้าลง จะมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเราคิดว่าอีกหลายปีที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในตัวเลขสองหลัก ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวไปถึงสิ้นปี 2563

          "ภาคอสังหาฯต่อไป ผมคงไม่ปลอบใจว่าจะดีขึ้นเร็ววัน แต่จะซึมไปอีกระยะหนึ่ง แต่ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ รัฐกำลังหามาตรการเรื่องภาษีในการส่งเสริมภาคอสังหาฯ ซึ่ง ธปท.มีการผ่อนปรนเรื่องมาตรการการกู้ร่วมจาก LTV"

          นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวยอมรับว่า ภาคอสังหาฯยังคงชะลอการเปิดโครงการ เนื่องจากในภาวะที่ตลาดยังมีซัปพลายคงเหลือเป็นจำนวนมาก แสดงว่าอัตราการดูดซับคงต้องนานขึ้น แต่เรื่องฐานะการเงินของบริษัท อสังหาฯ ยังสามารถรับภาระสต๊อกได้อยู่ เพราะภาระหนี้ที่มีภาระจ่ายหักเงินสด (หนี้สุทธิ) ต่ำมาก อสังหาฯ อยู่แค่ 1 เท่า ซึ่งในอดีตอยู่ที่ 0.4 เท่านั้น

          ในส่วนของภาพยอดขายล่วงหน้า(พรีเซล)เปลี่ยนไป เมื่อก่อนผู้ประกอบการภาคอสังหาริม- ทรัพย์สามารถทำได้ 80,000 ล้านบาท หรือไปถึง 1 แสนล้านบาท แต่ในขณะนี้ ลดลงมาเหลือ 60,000-70,000 ล้านบาท และหากพิจารณาในไส้ในแล้ว ยอด พรีเซลลดลงมาจากเรื่องความต้องการ(ดีมานด์) การซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรหากไปจากตลาดประมาณ 25-30% นั่นแสดงว่าฐานพรีเซลที่เคยสูงในอดีตมาจากการเก็งกำไร และอีกส่วนมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนกำลังจริง(เรียลดีมานด์)ในระบบยังคงมีอยู่
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ