เคเคพี รุกให้กู้ บิ๊กอสังหาฯ ตุนที่ดิน
Loading

เคเคพี รุกให้กู้ บิ๊กอสังหาฯ ตุนที่ดิน

วันที่ : 16 กันยายน 2562
"เกียรตินาคิน" ปรับแผนสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯ หลังผู้ประกอบการแห่พับแผนเปิดโครงการใหม่ จากซัพพลายในตลาด ที่มีกว่า 2 แสนยูนิต หันทัพเจาะธุรกิจรายใหญ่ ที่มีแผนซื้อที่ดินตุน สำหรับ เปิดโครงการใหม่ใน 1-2 ปีข้างหน้า หนุนสินเชื่ออสังหาฯโต 10%
          เผยธุรกิจเตรียมแผน  ผุดโครงการใหม่   อีก 1-2 ปีข้างหน้า

         "เกียรตินาคิน" ปรับแผนสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯ หลังผู้ประกอบการแห่พับแผนเปิดโครงการใหม่ จากซัพพลายในตลาด ที่มีกว่า 2 แสนยูนิต  หันทัพเจาะธุรกิจรายใหญ่ ที่มีแผนซื้อที่ดินตุน สำหรับ เปิดโครงการใหม่ใน 1-2 ปีข้างหน้า หนุนสินเชื่ออสังหาฯโต 10%

          นายสำมิตร สกุลวิระ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)(KKP)  เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอ บวกกับมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) อีกทั้ง ยังมีซัพพลายที่อยู่อาศัยในตลาดเกือบ 2 แสนยูนิต ทำให้ผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์ชะลอการก่อสร้าง โครงการใหม่ๆ  ส่งผลให้การขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ สำหรับการสร้าง โครงการใหม่ๆ ลดลงต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม ยังเห็นผู้ประกอบการ บางรายขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปซื้อที่ดินใหม่ เพื่อเตรียมรองรับการก่อสร้างโครงการใหม่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า บวกกับยังมีการปล่อยสินเชื่อในโครงการเดิม ที่มีการขอสินเชื่อไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อก่อสร้างโครงการเดิมให้เสร็จตามที่กำหนด จึงทำให้ สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารไม่ได้ปรับตัวลดลง

          อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา ธนาคารมีการปรับกลยุทธ์ หันไปรุกผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้สินเชื่อธนาคารเติบโต ต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้สินเชื่อธุรกิจที่ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตในระดับ 10% จากพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ คงค้างปัจจุบันที่ 30,000 ล้านบาท

          "ที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจที่ให้กับ ภาคอสังหาฯเราโตแล้ว10% คาดว่าทั้งปี ก็น่าจะโตในระดับดังกล่าว แม้ดีมานด์การขอสินเชื่อใหม่จะไม่มี เพราะผู้ประกอบการชะลอการก่อสร้างโครงการออกไป เพราะ ซัพพลายล้นตลาดเกือบ 2 แสนยูนิต แต่ยอดขายแต่ละปีทำได้เพียง 1 แสนยูนิตเท่านั้น ดังนั้นซัพพลายที่มีอยู่ ก็ยังขายได้ใน 1-2 ปีนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ทำได้ คือ สนับสนุนสินเชื่อโครงการเดิมให้เสร็จ ตามแผน นอกจากนี้มีรายใหญ่ที่ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินเก็บไว้ค่อนข้างมาก เพื่อรอลงทุนใหม่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จึงทำให้สินเชื่อเราไม่ลด"

          ทั้งนี้ จากแนวโน้มการขอสินเชื่อ เพื่อซื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ให้กับที่ดิน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% ขณะที่สินเชื่อที่ให้กับแนวราบอยู่ที่ราว 50% และอีก 30% เป็นสินเชื่อที่ให้กับแนวสูง ซึ่งแตกต่างกับอดีตที่ส่วนใหญ่ มักเป็น การปล่อยสินเชื่อในแนวราบและแนวสูงเป็นหลัก

          นอกจากนี้ จากกลยุทธ์ที่หันไปรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มากขึ้น  จะทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากรายใหญ่มีความแข็งแกร่ง และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี แม้ด้านอัตราการทำกำไร(มาร์จิน)อยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่ในด้านคุณภาพหนี้ปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเอ็นพีแอลลูกค้าธุรกิจ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4% จากสิ้นปีก่อนที่ 4.5% และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะต่ำกว่าระดับ 4% ได้

          เขากล่าวต่อว่า  การรุกธุรกิจรายใหญ่ เพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้ธนาคารสามารถต่อยอด สร้างรายได้จากส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วย เช่นการทำ IPO  หรือการออกหุ้นกู้ให้กับ ธุรกิจรายใหญ่ ทำให้ธนาคารมีรายได้ ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) และรายได้ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันรายได้ค่าฟีของ ธนาคารเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ที่ระดับ  20-30% หากเทียบกับปีก่อนหน้า

          "การมารุกรายใหญ่ เราไม่ได้แคร์เรื่องมาร์จินที่ลดลง แต่เราสามารถดูแลเอ็นพีแอลได้ดีขึ้น เพราะปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่มั่นคงกว่า แต่ไม่ใช่ว่าเราเลิกปล่อยรายกลาง รายเล็ก ยังปล่อยอยู่ แต่กลยุทธ์เราคือ บุกไปพอร์ตรายใหญ่เพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา เรามีพอร์ตรายใหญ่น้อยมาก และเมื่อ รายใหญ่เข้ามา พอร์ตเราดีขึ้นเรื่อยๆ และ ยังต่อยอดการปล่อยสินเชื่อไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ออกบอนด์ IPO การออกหนังสือค้ำประกันต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ค่าฟี และรายได้เราโตเพิ่มขึ้น"
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ