แผนรุกอสังหาฯปากน้ำ ตระกูล ว่องไววิทย์
Loading

แผนรุกอสังหาฯปากน้ำ ตระกูล ว่องไววิทย์

วันที่ : 8 กันยายน 2562
อีกหนึ่งตระกูลเก่าฟากฝั่งปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ คือตระกูล "ว่องไววิทย์" นักสะสมที่ดินทางผู้ที่เติบโตมาจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยมี "เฉลิมชัย ว่องไววิทย์" ผู้เรียนจบวิศวกร จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาดูแลกิจการว่องไววิทย์ อุตสาหกรรมจักรกล จำกัด
          อีกหนึ่งตระกูลเก่าฟากฝั่งปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ คือตระกูล "ว่องไววิทย์" นักสะสมที่ดินทางผู้ที่เติบโตมาจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยมี "เฉลิมชัย ว่องไววิทย์" ผู้เรียนจบวิศวกร จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาดูแลกิจการว่องไววิทย์ อุตสาหกรรมจักรกล จำกัด จนธุรกิจครอบครัวผันตัวเองมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน เฉลิมชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภายใต้บริษัท เมโทรโพลิส พรอพเพอร์ตี้ส์ จำกัด

          จากประสบการณ์ของการใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐ ก่อนกลับมาไทย ทำให้เขามองเห็นภาพของอสังหาฯ ที่แตกต่างจาก เมืองไทย รูปแบบอสังหาฯในสหรัฐ ที่เห็นว่า สินทรัพย์บ้านและคอนโดนิเนียมเก่าเป็นกระปุกออมสิน หรือการเก็บเงินที่ เมื่อเวลาผ่านไปสามารถขายทำกำไรได้ มูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% ขณะที่เมืองไทย บ้านและคอนโดมิเนียมมือสองค่อนข้างราคาตก ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างการ ก่อสร้างยังไม่มีคุณภาพ ขาดการบำรุง เมื่ออายุมากขึ้นก็จะโทรม นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขาต้องการพัฒนาอสังหาฯ ให้เป็นเสมือนการลงทุนในระยะยาวมากกว่า 20-30 ปี ไม่ใช่เพียงการเก็งกำไร ระยะสั้น หรือปล่อยเช่า แต่หมายถึงการขายทำกำไรระยะยาวของผู้ซื้อ

          ด้วยวิสัยทัศน์ทำให้มีมรดกที่ดินที่ รุ่นพ่อกับแม่ เป็นที่ดินขนาดใหญ่และ ตั้งอยู่ทำเลทอง ตามแนวรถไฟฟ้าสีเขียว โดยโครงการขนาดใหญ่ล่าสุด "เดอะ เมโทรโพลิส สำโรง อินเตอร์เชนจ์" (The Metropolis Samrong Interchange) จำนวน 3 อาคาร คอนโดมิเนียมสูง High Rise 2 อาคาร และคอนโดต่ำ (Low Rise) 1 อาคารสำหรับอาคารจอดรถ รวมทั้งสิ้น 1,721 ยูนิต บนเนื้อที่ 8 ไร่ มูลค่าโครงการ ทั้งสิ้น 5,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ติดรถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS สถานีสำโรง ซึ่งเป็นสถานีจุดเชื่อมการเดินทาง (Interchange) ของ รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีเขียว (BTS) และ สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) โครงการเปิดตัว ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมาในราคาเริ่มต้นมูลค่า 75,000 ต่อตร.ม.ปัจจุบันราคาขยับมาเป็น 95,000 ต่อตร.ม.มียอดขายแล้ว 70%  ที่ดินแห่งนี้จึงกลายเป็นคอนโดมิเนียมบนทำเลทอง เนื้อที่ทั้งหมดกว่า 8 ไร่ ซึ่งอดีตเป็นที่ตั้งโรงงาน ตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา พ่อและแม่ของเฉลิมชัยซื้อที่ดินมาในราคาไร่ละไม่ถึงล้านบาทในยุคนั้นก็ถือว่า ราคาสูง แต่ณ ปัจจุบันราคาที่ดินรวมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

          นี่คือข้อได้เปรียบของผู้สะสม แลนด์แบงก์ มีเงินเหลือเติมเต็มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคอนโดมิเนียมแห่งนี้ ในราคาก็ยังแข่งขันได้ เช่น การพัฒนาสกายเล้าท์ สำหรับเป็นจุดชมวิว เป็นต้น

          เฉลิมชัย ยังมีโครงการบิ๊กโปรเจคกับการพัฒนาที่ดิน ริมอ่าวปากน้ำเนื้อที่ 15 ไร่ เป็นโครงการมิกซ์ยูส คอนโด และย่านการค้า จำนวนประมาณ 3,000 ยูนิต มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มผู้ต้องการพักอาศัยย่านปากน้ำ มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเดิมทีตั้งใจจะเริ่มโครงการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เปลี่ยนใจ หลังผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เขามองว่าแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ

          นั่นจึงทำให้เขาต้องมองเรื่องการสร้างแบรนด์ โดยการเข้าปักธงลงทุนพัฒนาโครงการหรู ใจกลางเมืองเจาะเกรด พรีเมี่ยมราคา 2-3 แสนต่อตร.ม. อยู่ระหว่าง การเจรจาซื้อที่ดิน เป็นโครงการสำคัญ ที่จะทำให้ชื่อแบรนด์ "เมโทรโพลิสต์" มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในโครงการหรู ที่จะนำไปต่อยอดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่

          หากเจรจาสำเร็จจะเริ่มโครงการภายในปี 2563 เป็นโครงการแรกที่เข้าไปจับตลาดหรู ใจกลางเมือง

          "คนรู้จักโมโทรโพลิส จากลูกค้าที่มาซื้อและบอกต่อดึงเพื่อนมาซื้อ แต่การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต้องการขยายฐานลูกค้าในวงกว้าง ทำให้คนรู้จักแบรนด์ ในตลาด ผมทำตลาดไม่เก่ง ไม่ชอบทำอะไรเวอร์ๆ และไม่ค่อยสร้างชื่อ ประชาสัมพันธ์ จึงต้องหันไปลงทุนพัฒนาโครงการที่ทำให้คนรู้จักมากขึ้น" เขาเล่าถึง การสร้างแบรนด์

          สิ่งที่ "ว่องไววิทย์"ยึดถือคือการพัฒนาโครงการแบบไม่รีบร้อน รอให้พร้อม และมีจังหวะที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับทำเล ราคาเป็นหลัก หากเจรจาที่ดินสูงเกินไปเขาก็ยังไม่เร่งสร้าง ปัจจุบันมีการเจรจาประมาณ 4 แปลงเพื่อหาทำเลที่เหมาะสม ในการสร้างแบรนด์ ซึ่งเขายอมรับว่าที่ดินราคาขึ้นเป็นรายวัน หากเจรจาไม่สำเร็จแพงเกินไปจนไม่คุ้มค่าก็ไม่เร่งรีบที่จะทำ  นี่คือหลักคิดที่ทำให้เขามีสายป่าน ที่ยาวเมื่อเกิดวิกฤติก็ไม่เจ็บตัว ทุกโครงการ ที่พัฒนาจะคิดถึงการบริหารความเสี่ยงเป็นหลัก คิดในระยะยาวหากยอดขาย ยังรันไม่หมดภายใน 5 ปียังอยู่ได้ และพร้อมที่จะเก็บที่ขายไม่หมดเป็นกรรมสิทธิ์นำไปพัฒนาสร้างรายได้ประจำ หรือมีการลงทุนในอนาคตโดยไม่เจ็บตัว รวมถึงโครงการปัจจุบันเขาก็ยังพอใจที่จะ เก็บห้องที่ขายไม่หมดไว้บางส่วน

          "บางครั้งผมก็อยากให้ฟองสบู่ เพราะฟองสบู่เป็นตัวเบรกราคาที่ดินที่กำลังร้อนแรงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าจะลง แต่กำลังซื้อคนไปไม่ถึง เราจะพัฒนาโครงการเมื่อมีความพร้อมเป็นหลัก ไม่ได้เร่งรีบต้องพัฒนาเพราะเราไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และ เรามีที่ดินแลนด์แบงก์ในมือ" เขาเล่าถึง หลักคิด
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ