กทท.พัฒนาพื้นที่ B 500 ไร่
Loading

กทท.พัฒนาพื้นที่ B 500 ไร่

วันที่ : 24 สิงหาคม 2562
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. ได้ดำเนินโครง การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) (Bangkok Port Redevelopment Project) โดยการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วน
          ปั้นเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติกลางกรุง

          เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. ได้ดำเนินโครง การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) (Bangkok Port Redevelopment Project) โดยการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่โซน A พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม พื้นที่โซน B พัฒนาธุรกิจหลักที่ให้บริการเรือและสินค้าของ ทกท. และพื้นที่โซน C พัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่าเรือ (Modern Port City)

          ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่โซน B ซึ่งเดิมเป็นลานบรรจุตู้สินค้าเพื่อการส่งออก โรงพักสินค้า และพื้นที่ซ่อมบำรุงเครื่องมือทุ่นแรง พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ กทท. จะเร่งพัฒนาให้เป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Smart Port) ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและคลังสินค้าขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร สนับสนุนการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่หลังท่าของ ทกท. ให้สามารถรองรับการปฏิบัติการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการและยกระดับการให้บริการสู่ระดับมาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลกตามวิสัยทัศน์ของ กทท. "มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573"

          สำหรับโครงการพัฒนาที่สำคัญ คือ โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก CFS ขาออก (Exported Con tainer Freight Station) (พื้นที่ B1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการบรรจุตู้สินค้าเพื่อการส่งออก ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย เป็นการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มศักยภาพสินทรัพย์ โดยรวบรวมโรงพักสินค้าและคลังสินค้าของ ทกท. มาไว้ในจุดเดียว สามารถรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

          ส่วนสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกนี้ มีพื้นที่รวมประมาณ 10,000 ตารางเมตร มีช่องบรรจุสินค้าและช่องสำหรับขนถ่ายสินค้าอย่างละ 26 ช่อง ลานวางตู้สินค้าขาออกพื้นที่ประมาณ 9,000 ตารางเมตร พื้นที่จอดรถบรรทุก 2,700 ตารางเมตร อาคารสำนักงาน 1 อาคาร (4 ชั้น) และประตูตรวจสอบสินค้า (e-Gate) 3 แห่ง สามารถบรรจุสินค้าขาออก 116,610 ที.อี.ยู./ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสรรหาผู้รับจ้างงานก่อสร้างอาคารบรรจุสินค้าและระบบสารสนเทศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2565

          เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันตก (BKP West Container Terminal) (พื้นที่ B3) เป็นการพัฒนาการปฏิบัติงานในระบบท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi Automated Container Terminal) ให้บริการตู้สินค้าและเครื่องมือทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การจราจรภายในเขต ทกท. มีความคล่องตัวและปลอดภัยมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบร่างรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566

          ในส่วนของ โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าทางเรือลำเลียง (Barge Terminal) (พื้นที่ B7) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการขนส่งสินค้าโดยเรือลำเลียงชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาแล้วเสร็จ โดยมีเป้าหมายการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือชายฝั่งเพิ่มขึ้นสูงสุด 500,000 ที.อี.ยู./ปี และโครงการพัฒนาระบบประตูเขื่อนตะวันออก (East Main Gate) และจุดขึ้น-ลงทางด่วน (พื้นที่ B9) กทท. ได้ร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการศึกษา ออกแบบรูปแบบโครงการฯ โดยเพิ่มจุดเชื่อม ต่อสำหรับทางขึ้น-ลงทางพิเศษ ช่วงอาจ ณรงค์-บางนา (S1) เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดของรถบรรทุกบริเวณทางออกด้านทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษช่วงอาจ ณรงค์-รามอินทรา คาดว่าจะเริ่มศึกษาฯ ภายใน เดือนสิงหาคม 2562 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2564
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ