BTSไม่หวั่นต่อสัมปทานตามแผนค่ารถแตะ158บ.
Loading

BTSไม่หวั่นต่อสัมปทานตามแผนค่ารถแตะ158บ.

วันที่ : 26 สิงหาคม 2562
BTS ไม่หวั่นหลัง กมธ. ค้านต่อสัมปทานยาว แลกกับค่ารถ 65 บาทตลอดสาย ชี้ยังมีสัญญายาวอีก 25 ปี แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป เหตุ มติ กมธ. ขัดกับ ม.44 กูรูชี้ไม่ต่อสัมปทานเป็นบวกต่อ BTS ไม่ต้องรับภาระหนี้ เปิดสัญญารับจ้างเดินรถสามารถเก็บค่าโดยสารสูงสุดถึง 158 บาท
          BTS ไม่หวั่นหลัง กมธ. ค้านต่อสัมปทานยาว แลกกับค่ารถ 65 บาทตลอดสาย ชี้ยังมีสัญญายาวอีก 25 ปี แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป เหตุ มติ กมธ. ขัดกับ ม.44 กูรูชี้ไม่ต่อสัมปทานเป็นบวกต่อ BTS ไม่ต้องรับภาระหนี้ เปิดสัญญารับจ้างเดินรถสามารถเก็บค่าโดยสารสูงสุดถึง 158 บาท

          จากกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวของ BTS ออกไปอีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2573 เพื่อแลกกับการควบคุมอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่ให้เกิน 65 บาท โดยมีความเห็นว่าควรพยายามทำให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ร่วมลงทุนโอนกลับมาเป็นของรัฐ เพื่ออำนาจในการต่อรองอัตราค่าโดยสารดีกว่า

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างรอท่าทีที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลเรื่องการต่อสัญญา แต่ในการดำเนินธุรกิจนั้นก็ยังคงให้บริการประชาชนตามปกติ ในฐานะผู้รับจ้างเดินรถ หากสุดท้ายแล้วการต่ออายุสัมปทาน 30 ปี ไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน เพราะปัจจุบันมีสัญญาเดินรถอยู่แล้วมีอายุถึง 25 ปี

          โดยปี 2562 เป็นปีแรกที่ทาง BTS Group จะได้รับค่าจ้างเต็มปี 1,500 ล้านบาท จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสมุทรปราการ-บางปู อีกทั้งยังเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ 1 สถานีแรกจากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวได้เร็วกว่ากำหนดการ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการช่วงต่อจากห้าแยกลาดพร้าว-แยกเกษตรภายในเดือนธันวาคม 2562 และจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถตลอดสายถึงคูคต จำนวน 16 สถานีได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 ตามกรอบเวลา

          ปัจจุบัน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS Group ลงนามสัญญารับจ้างเดินรถ-พัฒนาระบบรถไฟฟ้า สายสีเขียวกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ระยะเวลา 25 ปี (สิ้นสุดสัญญาปี 2572)

          นายสุรพงษ์ ระบุด้วยว่า BTS Group วางแผนสั่งซื้อรถใหม่ทั้งสิ้น 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 184 ตู้ เข้ามารองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยรับมอบรถทั้งสิ้น 22 ขบวนภายในปี 2562 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการสายสีเขียวใต้อย่างเป็นทางการ และจะทยอยรับอีก 24 ขบวนภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองในปี 2564 ซึ่งจะทำให้ BTS มีรถบริการทั้งระบบ 98 ขบวน รวม 392 ตู้เบื้องต้นคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการควบทั้งระบบ จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันขบวนละ 1,490 คน เป็น 1,573 คน โดยยังคงรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิไว้ที่ 25-30% ตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี

          ผลศึกษา 2 คณะขัดกัน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการขยายอายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว สำหรับส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง- สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ออกไปอีก 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2573 เพื่อควบคุมอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่ให้เกิน 65 บาท มีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุดประกอบด้วย 1.คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายตาม ม.44 ซึ่งมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการมีข้อสรุปให้ทางกรุงเทพมหานครขยายอายุสัญญาให้ BTS Group อีก 30 ปี โดยแก้ไขในสัญญาเดิมให้เริ่มนับหนึ่งในปี 2573 หลังสัญญาเดิมสิ้นสุดแล้ว แลกกับมูลหนี้ของ กทม.กว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนค่าโดยสารสามารถจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งจะรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

          อีกคณะหนึ่งคือกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน เบื้องต้นมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ให้ กทม.ขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้ BTS Group โดยมีความเห็นว่าพยายามทำให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ร่วมลงทุนโอนกลับมาเป็นของรัฐ เพื่ออำนาจในการต่อรองอัตราค่าโดยสาร ซึ่งรัฐจะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้หากหมดสัมปทานในปี 2572 และระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานอีก 10 ปี รัฐสามารถจัดหา ผู้เดินรถรายใหม่ได้ และทาง กทม.ควรเข้ามาดูแลค่าโดยสารให้ถูกลง และภาระหนี้สินที่รฟม. โอนมารัฐควรจะหาวิธีการอื่น และเพื่อลดการผูกขาดของเอกชน โดยจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

          เป็นปัจจัยบวกต่อ BTS

          นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุ กรณีที่ กรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (BTS) สภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ให้กทม.ขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้ BTS Group ถือเป็นปัจจัยบวกต่อ BTS Group

          เนื่องจากจะทำให้ BTS Group คิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ตามระยะทางรวมประมาณ 70 กิโลเมตร ที่อัตราสูงสุดตามสัญญาการรับจัดการเดินรถส่วนต่อขยายทั้งเส้นทางที่ 158 บาท แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพราะยังต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางใดที่เป็นประโยชน์และลดภาระให้ประชาชนมากที่สุด

          ปัจจัยบวกอีก 1 ปัจจัยสำหรับ BTS Group คือเป็นผู้ชนะประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่-กาญจนบุรี โดยจะทำสัญญาแบบ PPP gross cost เบื้องต้นฝ่ายวิเคราะห์ประเมินมูลค่าเพิ่มในหุ้นประมาณ 0.80 บาทต่อหุ้น และอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของแผนการก่อสร้าง เนื่องจากจะยังมีมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์จาก "จุดพักรถ" ตลอดเส้นทางอีกด้วย จึงคงนำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 14 บาท

          "กรณีสายสีเขียวไม่ว่า BTS Group จะได้ขยายอายุสัมปทานหรือไม่ก็ไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานการดำเนินงานเพราะมีสัญญาว่าจ้างเดินรถ 25 ปีอยู่แล้ว อีกทั้งหากไม่ได้ขยายอายุสัมปทานก็สามารถเก็บค่าโดยสารได้ตามต้นทุนจริงที่ 158 บาท ซึ่งก็ไม่ต้องไปนำเงินในอนาคตมาใช้ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ย ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโอกาสร่วมประมูลงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง"

          ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า การที่ กมธ. มีมติไม่ขยายสัมปทานให้แก่ BTS ค่อนข้างผิดจากที่คาดว่า BTS จะได้ปรับสัญญาสัมปทานจากรับจ้างเดินรถเป็น PPP Net Cost หลังจากสัมปทาน Core Network (หมอชิต-อ่อนนุช, สนามกีฬาแห่งประเทศไทย-สะพานตากสิน) หมดสัมปทานในปี 2572 แต่เรามีมุมมองปกติต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากประมาณการผลประกอบการและราคา เป้าหมายของเราไม่ได้รวมการขยายสัญญาสัมปทาน และแม้ BTS ไม่ได้รับการปรับสัญญาสัมปทาน ก็จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของ BTS เนื่องจากปัจจุบัน BTS มีสัญญา O&M สำหรับ Core Network และส่วนต่อขยาย (อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต) จะหมดสัมปทานในปี 2585 ซึ่งเราประเมินรายได้จากรับจ้างเดินรถ (O&M) อยู่ที่ 3,480 ล้านบาทในปี 2562/2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,500 ล้านบาท ในปี 2565/2566 หลังจากเปิดส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต โดยเรายังคงคำแนะนำ "ถือ" สำหรับ BTS จาก upside ที่จำกัดต่อราคาเป้าหมายของเรา 13 บาท โดยประมาณการผลประกอบการของเรายังไม่รวม 1. สัมปทานมอเตอร์เวย์ 2 สายเนื่องจากยังรอความชัดเจนของรายละเอียด 2. การประมูลสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกลุ่ม BTS มีโอกาสชนะการประมูลเนื่องจากผู้ประมูลเหลือเพียง 2 ราย คาดจะทราบผลประมูลภายในปีนี้
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ