"สมคิด"ดันไฮสปีดเทรนแม่สอด-มุกดาหาร บูมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
Loading

"สมคิด"ดันไฮสปีดเทรนแม่สอด-มุกดาหาร บูมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

วันที่ : 23 สิงหาคม 2562
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายชิโร่ ชาโดชิม่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridors) ในเส้นทางจาก จ.มุกดาหาร มายัง อ.แม่สอด จ.ตาก
          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายชิโร่ ชาโดชิม่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridors) ในเส้นทางจาก จ.มุกดาหาร มายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งญี่ปุ่นได้แจ้งให้ทราบว่าจากการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) พบว่ามีศักยภาพเพียงพอและมีความน่าสนใจที่จะลงทุน

          "เส้นทางนี้ประเทศไทยได้เคยหารือกับญี่ปุ่นไว้นานแล้วว่า ต้องการให้เกิดการลงทุนเพื่อเสริมสร้างการเดินทางด้วยระบบรางในอนาคตเนื่องจากมองว่ามีศักยภาพสามารถเชื่อมโยง ตั้งแต่ เวียดนาม กัมพูชา ไทย เมียนมา และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยเติบโตมากขึ้นหลังจากนี้จะได้หารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เดินหน้าโครงการร่วมกับทางญี่ปุ่นและจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หรือ JC ต่อไป"

          นอกจากนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้กำชับถึงความสำคัญของการศึกษาในรูปแบบของการฝึกหัดสายวิชาชีพและการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมและสาขาอาชีพที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต หรือที่เรียกว่า "โคเซน" และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในโครงการไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ต โดยยืนยันว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อเนื่อง โดยมั่นใจว่าความร่วมมือกับฮ่องกงจะไม่สะดุดลงแม้จะมีเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงก็ตาม

          นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการหารือกับนายเยฟเกนี โตมีฮินเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ว่า ไทยกับรัสเซียมีโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ได้มีการหารือร่วมกันหลายส่วน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี พลังงาน การเงินและการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างสองประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยได้ขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ
 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ