แบงก์เจาะลูกค้ารีไฟแนนซ์
Loading

แบงก์เจาะลูกค้ารีไฟแนนซ์

วันที่ : 13 สิงหาคม 2562
ธนาคารพาณิชย์หันเจาะลูกค้ารีไฟแนนซ์ 'กสิกร'ชะลอแผนปล่อยสินเชื่อรายได้ต่ำรอชัดเจนดีเอสอาร์จากแบงก์ชาติ คาดกระทบลูกค้า 10% ด้าน'ซีไอเอ็มบีไทย'หนุนคนผ่อนตรงเวลาได้ดอกเบี้ยถูก
          ธนชาตมั่นใจเครดิตแถมดอกเบี้ยถูก

          กสิกรลุ้น'ธปท.'ผุดดีเอสอาร์ใช้ทั่วไป

          ธนาคารพาณิชย์หันเจาะลูกค้ารีไฟแนนซ์ 'กสิกร'ชะลอแผนปล่อยสินเชื่อรายได้ต่ำรอชัดเจนดีเอสอาร์จากแบงก์ชาติ คาดกระทบลูกค้า 10% ด้าน'ซีไอเอ็มบีไทย'หนุนคนผ่อนตรงเวลาได้ดอกเบี้ยถูก

          นายวีรวัฒน์ ปัณฑวัง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการปล่อยสินเชื่อแบบใหม่ มีการใช้ข้อมูลต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้มากขึ้น โดยลูกค้ากลุ่มนี้ธนาคารยังไม่ได้เข้าไปทำตลาดมากนักหลังจากปล่อย สินเชื่อให้กับลูกจ้างโรงงานรายได้ 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งตามแผนเดิมช่วงที่เหลือของปี 2562 ธนาคารจะขยายลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นเพราะสัดส่วนลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท มีน้อยมากราว 10% แต่ต้องชะลอออกไปก่อน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและไม่อยากให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว และเตรียมกำหนดมาตรฐานการคำนวณภาระหนี้ต่อ ราย (ดีเอสอาร์) เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

          "ลูกค้ารายได้ต่ำที่ปล่อยกู้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าใช้บัญชีเงินเดือนกับธนาคารจึงสามารถหักค่างวดจากบัญชีเงินเดือนได้เลย ความเสี่ยงไม่มากนัก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังต้องชะลอแผนรุกตลาด รอความชัดเจนหลักเกณฑ์คำนวณ ต้องประเมินวัตถุประสงค์ในการกู้และไม่กระตุ้นให้เกิดการกู้ หากมาตรฐานออกมาอาจจะกระทบลูกค้าธนาคารราว 10% ทั้งนี้ สินเชื่อรายย่อยทั้งปีที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 9-12% ครึ่งปีแรก สินเชื่อรายย่อยเติบโต 5% มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 423,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน 280,000 ล้านบาทมีแรงกดดันจากมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือแอลทีวีของ ธปท. จึงขยายตลาดกลุ่มรีไฟแนนซ์มากขึ้น ด้านสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ 3.4% จากสิ้นปี ที่ 3.2%" นายวีรวัฒน์กล่าว

          น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรกำหนดดีเอสอาร์อัตราเหมาะสมตามศักยภาพการหารายได้ของลูกค้า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยไม่ควรสูงเกินไป การให้สินเชื่อโดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกับคนที่มีรายได้ น้อยเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงสูงจากการที่ดีเอสอาร์สูงทำให้ ผู้บริโภคมีต้นทุนการเงินในการดำรงชีพสูงขึ้นไปอีก แต่ไม่ว่าจะตัวเลขใดไม่ควรจะเกิน 60-70% ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้และระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้

          น.ส.อรอนงค์กล่าวว่า ผู้บริโภคโดยรวมกว่า 80% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งการเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำแม้มีระเบียบวินัยในการผ่อนชำระหนี้ ธนาคารสนับสนุนลูกค้ากลุ่มนี้เพราะมีเครดิต มารีไฟแนนซ์สินเชื่อหรือเงินกู้ที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งสินเชื่อบ้านอยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล รวมทั้งบัตรกดเงินสดเพื่อผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 18-24% ต่อปีจากปัจจุบันมักถูกเก็บ 28-36% ต่อปี
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ