3 เจ้าสัวเขย่าตลาดหุ้น
Loading

3 เจ้าสัวเขย่าตลาดหุ้น

วันที่ : 7 สิงหาคม 2562
เจ้าสัวเมืองไทยแห่ปรับพอร์ตรับแลนด์สเคปธุรกิจเปลี่ยน และก้าวสู่ระดับโกลบัล โฮลดิ้ง คัมปะนี 3 ตระกูลใหญ่เตรียมเข็นธุรกิจเรือธงเข้าตลาดหุ้น เริ่มจาก "เจ้าสัวเจริญ" ดัน AWC บุกกลุ่มอสังหาฯ กลุ่มจิราธิวัฒน์ส่ง CRC ลุยหุ้นค้าปลีก ขณะค่ายสิงห์ เข็น SHR รุกโรงแรม ส่งผลตลาดหุ้นคึกคัก
         จัดพอร์ตธุรกิจเรือธงเพิ่มความมั่งคั่ง

          เซ็นทรัลเตรียม CRC 3ปี

          เจ้าสัวเมืองไทยแห่ปรับพอร์ตรับแลนด์สเคปธุรกิจเปลี่ยน และก้าวสู่ระดับโกลบัล โฮลดิ้ง คัมปะนี 3 ตระกูลใหญ่เตรียมเข็นธุรกิจเรือธงเข้าตลาดหุ้น เริ่มจาก "เจ้าสัวเจริญ" ดัน AWC บุกกลุ่มอสังหาฯ กลุ่มจิราธิวัฒน์ส่ง CRC ลุยหุ้นค้าปลีก ขณะค่ายสิงห์ เข็น SHR รุกโรงแรม ส่งผลตลาดหุ้นคึกคัก

          ปัจจุบันกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทจนสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงส่งผลต่อธุรกิจด้วย ทำให้ภูมิทัศน์โลกธุรกิจยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากอย่างรวดเร็ว จึงเห็นกลุ่มทุนใหญ่ของหลายตระกูลต้องปรับทัพธุรกิจ ให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิตอล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ

          CRC รวบหุ้น ROBINS

          การประกาศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ Central Retail พร้อมเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS โดยแลกกับหุ้นของ Central Retail และเพิกถอนหุ้นของ ROBINS ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ฯพร้อมก้าวสู่การเป็น Public Company ของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าปลีกมานานกว่า 72 ปี

          นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่าการก้าวจากไพรเวตคัมปะนี สู่พับบลิก คัมปะนี บริษัทเตรียมความพร้อมมาต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่ยุคนิว อีโคโนมี โดยในปี 2020 (ปี 2563) จะเป็นยุคของออมนิแชนเนล ซึ่งนอกจากออฟไลน์ ที่มีทั้งอาคาร ที่ดินแล้ว ช่องทางออนไลน์ และโมบายโฟน ก็มีความพร้อมและแข็งแรงด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปลงทุนในหลายประเทศ ต้องพบปะเจรจากับนักธุรกิจต่างชาติการเป็นบริษัทในตลาดหุ้นจะมีความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจมากขึ้น

          อย่างไรก็ดี ด้วยความสำเร็จของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นผลงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ กับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับเซ็นทรัล รีเทลต่อไป

          ขณะที่แลนด์สเคปของค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เกิดจากการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีเท่านั้นแต่สิ่งที่ผู้ประกอบการหวั่นวิตกมากที่สุดเห็นจะเป็น Customer Disruption ที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยน แปลงที่มีต่อเนื่องและรวดเร็ว วันนี้โลกต้องการการเชื่อมโยงให้เป็นหนึ่งเดียว จึงแยกไม่ได้ระหว่างออนไลน์-ออฟไลน์ เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในโลกของไฮบริด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริบทที่เซ็นทรัล รีเทลให้ความสนใจและใช้เป็นแกนหลักในการวางรากฐานด้วย Big Data

          จึงไม่แปลกใจที่เซ็นทรัล รีเทลจะใช้เวลานานถึง 3 ปี ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อให้เป็นไปตามกฎของ ก.ล.ต. การเสริม แก้ไข และสร้างธุรกิจให้แข็งแรง การลงทุนสร้างนิว อีโคโนมี ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับเซ็นทรัล รีเทล คือ การอยู่ในตลาดหุ้น จะทำให้ต่างชาติมองเห็นถึงศักยภาพ และภาพลักษณ์ของความเป็นบริษัทโกลบัล

          เจริญ ส่ง"AWC" เข้าตลาด

          ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีกิจการด้านนี้หลายบริษัทภายใต้กลุ่มทีซีซี ที่ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในลักษณะครอบครัว ล่าสุดได้จัดพอร์ตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ภายใต้การบริหารของนางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) ทั้งหมด 29 แห่ง เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) โดยยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ(ก.ล.ต.) เพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้นราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปขยายธุรกิจ นำไปคืนหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 

          นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงทำให้ธุรกิจเป็นมืออาชีพมากขึ้น จากเดิมอยู่ในลักษณะครอบครัว

          เฟรเซอร์สรุกครบวงจร

          เมื่อต้นปี 2562 บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศ ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT อีกขาหนึ่งสำคัญในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น ตามด้วยประกาศซื้อกิจการบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) GOLD หรือ "โกลเด้นแลนด์" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีนายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้บริหารทุกบริษัทที่กล่าวมา หากการซื้อกิจการ GOLD บรรลุผลจะทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศ ไทย) เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอสังหา ริมทรัพย์ทั้งหมด นอกจากนี้หลังการควบรวมจะนำบริษัทดังกล่าวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

          S"โกลบัล โฮลดิ้ง คัมปะนี"

          ภายในเวลา 5 ปีที่บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือบุญรอด รุกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ณ ไตรมาส 1/2562 มีสินทรัพย์รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท และรายได้รวม 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 160% อีกทั้งมีกำไรสุทธิ 293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายจะสร้างรายได้ให้ถึง 20,000 ล้านบาทภายในปี 2563 โดยนายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S ประกาศว่าช่วงครึ่งหลังปี 2562 บริษัทมีความมั่นใจเดินหน้าลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามที่วางไว้ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาทในปีนี้ ถึงแม้สภาวะตลาดอสังหาฯโดยรวมจะมีการชะลอตัว โดยจะเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ที่ซอยรางน้ำ, อาคารสำนักงาน Oasis บนถนนวิภาวดีรังสิต และโรงแรม 2 แห่งในโครงการ CROSS ROADS สาธารณรัฐมัลดีฟส์

          ปัจจุบัน สิงห์ เอสเตท มีการทำธุรกิจด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก, ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่พักอาศัย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำบริษัทก้าวสู่การเป็น "โกลบัล โฮลดิ้ง คัมปะนี" (Global Holding Company) ผ่านกลยุทธ์การขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การสร้างแบรนด์ในระดับพรีเมียม
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ