เกณฑ์แอลทีวีดุ...สินเชื่ออืดยอดขายทรุด อสังหาฯปรับกลยุทธ์สู้-รอ รบ.ใหม่ช่วยกระตุ้น
Loading

เกณฑ์แอลทีวีดุ...สินเชื่ออืดยอดขายทรุด อสังหาฯปรับกลยุทธ์สู้-รอ รบ.ใหม่ช่วยกระตุ้น

วันที่ : 27 พฤษภาคม 2562
เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา สำหรับเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) หรือเงินดาวน์ขั้นต่ำในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยหากเป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านเป็นสัญญาแรก อาจจะไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ หรือสามารถกู้ได้ 100% หรือหากจะมีเงินดาวน์ก็ไม่เกิน 10%
          ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา สำหรับเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) หรือเงินดาวน์ขั้นต่ำในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยหากเป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านเป็นสัญญาแรก อาจจะไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ หรือสามารถกู้ได้ 100% หรือหากจะมีเงินดาวน์ก็ไม่เกิน 10%

          ส่วนหากจะกู้ซื้อบ้านเป็นสัญญาที่ 2 โดยยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระบ้านสัญญาแรก แต่ผ่อนชำระมาแล้วเกิน 3 ปี ต้องมีเงินดาวน์ 10% หรือหากยังผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี ต้องเงินดาวน์ 20%

          แต่หากจะกู้ซื้อบ้านเป็นสัญญาที่ 3 ขึ้นไป ต้องมีเงินดาวน์ 30% ทั้งหมดเพื่อดูแลผู้ที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริงได้ในราคาที่เหมาะสม ยกระดับการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่หย่อนยานจากการแข่งขันสูง และป้องกันการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นเร็ว ซึ่งพบแนวโน้มการกู้ซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น หากผ่อนชำระไม่ได้จะเกิดเป็นความเสี่ยงในระบบการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์มีขนาดใหญ่อาจจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

          เร่งระบายสต๊อกดันยอดขาย

          มาตรการแอลทีวีเป็นตัวเร่งตลาดก่อนมาตรการจะบังคับใช้ และเริ่มพบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวหลังเข้าสู่ช่วงที่มาตรการมีผลแล้ว ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่มีกระแสข่าวออกมา พร้อมทั้งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ เริ่มเห็นผู้ประกอบการมีการเร่งระบายสต๊อกสินค้าคงค้างผ่านการจัดทำโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม ต่างๆ ต่อเนื่องมายังไตรมาสแรก ปี 2562 สะท้อนผ่านยอดขายของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูง โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) รายงานยอดขายของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 9 บริษัท ได้แก่บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ว่า ยอดขายของไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ของ 9 บริษัทอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 แต่ติดลบ 9% เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2561

          ชะลอเปิดโครงการใหม่

          ด้านมูลค่าการเปิดโครงการใหม่ บล.ฟินันเซียไซรัส รายงานว่า อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ติดลบถึง 44% จากช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 และติดลบ 19% ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ทั้งนี้ จำนวนนี้ คิดเป็นเพียง 12% ของแผนการเปิดตัวทั้งปี เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นระบายสต๊อกและชะลอการเปิดตัวเพื่อรอดูผลกระทบของเกณฑ์แอลทีวี สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2562 มาจนสิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2562 ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดโครงการใหม่น้อยลง เพราะเร่งระบายสต๊อกเดิม รวมทั้งรอความชัดเจนการเลือกตั้ง แต่เริ่มเห็นการเปิดโครงการใหม่ช่วงเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ซึ่งในเดือนเมษายนการเปิดโครงการใหม่กลับมาดีขึ้น และประเมินว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อทดแทนสต๊อกเดิมและสร้างการเติบโตของบริษัท แต่คาดว่าการเปิดโครงการใหม่ปีนี้จะติดลบเทียบกับปี 2561 เพราะผู้ประกอบการอสังหาฯมีการประเมินสภาพตลาดและความระมัดระวังในการเปิดโครงการมากขึ้น

          โดยช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปี 2562 มีบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 54 โครงการ ติดลบ 14.2% จำนวน 8,127 ยูนิต ติดลบ 17.3% จากช่วงเดียวกันปี 2561 ที่ 63 โครงการ 9,831 ยูนิต ด้านคอนโดมิเนียมจำนวนโครงการไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่จำนวนยูนิตลดลงค่อนข้างมาก โดยเปิดใหม่ 35 โครงการ ติดลบ 7.8% จำนวน 12,801 ยูนิต ติดลบ 23.3% จากช่วงเดียวกันปี 2561 ที่เปิด 38 โครงการ 16,708 ยูนิต

          โอนกรรมสิทธิ์ดันสินเชื่อโต

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีการเติบโตมากก่อนมาตรการแอลทีวีจะบังคับใช้ แต่คาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2562 อาจจะเติบโตไม่มากนัก จะเห็นได้จากการข้อมูลผลการดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2562 ของ ธปท. พบว่า ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในไตรมาส 1 ปี 2562 มียอดปล่อยใหม่ถึง 1.4 แสนล้านบาท จากค่าเฉลี่ยช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ไตรมาสละ 9 หมื่นล้านบาท-1 แสนล้านบาท ซึ่งเห็นแนวโน้มนี้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยยอดสินเชื่อคงค้างล่าสุดอยู่ที่ 2.29 ล้านล้านบาท ซึ่ง ธปท.ประเมินว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เร่งตัวขึ้นมากมาในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ที่เริ่มใช้มาตรการแอลทีวีอาจจะชะลอตัวลงไป เป็นเรื่องปกติและเป็นประเด็นที่ ธปท.คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯและคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอนาคต อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 หรือไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ ซึ่ง ธปท.จะติดตามข้อมูลด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบในภาพรวมต่อไป 

          สินเชื่อใหม่ลดฮวบ50%

          ทั้งนี้ รายงานข้อมูลตัวเลขจริงจากธนาคารพาณิชย์ทั้งรัฐและเอกชน พบว่ายอดปล่อยสินเชื่อในเดือนเมษายนลดลงค่อนข้างมาก โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งเป็นธนาคารที่มีพันธกิจด้านที่อยู่อาศัยของภาครัฐ ในเดือนมีนาคมมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 19,000 ล้านบาท แต่เดือนเมษายนมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่เพียง 9,000 ล้านบาท หรือลดลงไปกว่า 50%

          ด้านธนาคารออมสินก็เจอกับสถานการณ์เดียวกัน โดยยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เริ่มชะลอตัวมาในเดือนเมษายน เนื่องจากมีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยไปก่อนหน้านี้ และเพื่อลดผล กระทบมาตรการแอลทีวี ธนาคารจะมีการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการอสังหาฯสามารถขายสินค้าได้และลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อบ้านได้ เช่น การให้ลูกค้าเช่ากับผู้ประกอบการก่อนกู้จริง การให้ลูกค้ามาเดินบัญชีเพื่อออมก่อนกู้เพื่อพิสูจน์รายได้ เป็นต้น

          เช่นเดียวกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มียอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่เดือนเมษายนลดลงมาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท จากช่วงเดือนมีนาคมมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 50% ผลจากมีการเร่งขอสินเชื่อไปแล้วในช่วงไตรมาสแรก ประเมินว่าผลกระทบจากมาตรการ แอลทีวีจะกระทบภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยรวมราว 5-10%

          อสังหาฯปรับกลยุทธ์  จับเรียลดีมานด์

          ผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางจิตวิทยา หรือผลกระทบจริงต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่จะต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น ทำให้อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายโครงการอสังหาฯได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับตัวรองรับสภาพตลาดที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มเห็น ผู้ประกอบการระวังการเปิดโครงการใหม่และเน้นพัฒนาโครงการเพื่อรองรับการอยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) โดยมุมมองจาก ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียล เอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ในเครือพฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ค่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยเจ้าใหญ่ในตลาดครอบคลุมทุกประเภทและทุกเซ็กเมนต์ ระบุว่า มาตรการแอลทีวีที่เริ่มบังคับใช้แล้วส่งผลกระทบต่อยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ของบริษัทบ้าง แต่ยอมรับว่าปัจจัยอาจจะไม่ได้มาจากมาตรการแอลทีวีทั้งหมด แต่รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยที่ลูกค้าอาจจะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระผ่อนบ้านหลังแรกอยู่ แต่อยากซื้อคอนโดมิเนียมในเมืองตามแนวรถไฟฟ้าเพื่ออยู่อาศัยซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ก่อนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร และผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมเป็นอย่างไร เพราะหากมีผล กระทบมาก ทางภาครัฐ หรือ ธปท. อาจจะต้องมีการทบทวนปรับเกณฑ์มาตรการแอลทีวีหรือไม่ เพราะภาคอสังหาฯถือเป็นกำลังซื้อสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

          อย่างไรก็ตาม "พฤกษา" ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจในการพัฒนาโครงการใหม่ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงในราคาที่จับต้องได้บนทำเลศักยภาพ ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ อย่างแชปเตอร์ ในทำเลจุฬาฯ-สามย่าน ทำเลทองหล่อ และเจริญนครซึ่งติดริมแม่น้ำ โดยขนาดของแต่ละโครงการจะมียูนิตไม่มากนัก เหมาะสมกับพื้นที่ดินและเงินลงทุน เพราะโครงการใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ทั้งนี้ ในส่วนการก่อสร้างพยายามทำต้นทุนให้เหมาะสมกับราคาขาย เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องมีภาระการผ่อนดาวน์ที่สูงเกินไป รวมทั้งมีการทำโครงการแบบฟูลลี่เฟอร์นิชเพื่อไม่ให้ลูกค้ามีภาระการซื้อสินค้าหรือตกแต่งเพิ่มมากนัก ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากการเพิ่มเงินดาวน์ได้ ส่วนการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจหรือการเปิดโครงการใหม่ปีนี้ จะรอประเมินตลาดอสังหาฯในช่วงไตรมาสที่ 2 ก่อน รวมทั้งรอความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างไร และจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่

          ไม่ตุนที่ดิน-ให้เช่าก่อนโอน

          ด้าน เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ได้เตรียมรองรับผล กระทบจากมาตรการแอลทีวี โดยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านแนวราบซึ่งเดิมจะขอกู้สินเชื่อได้ 100% แต่หากลูกค้าบางกลุ่มที่เคยซื้อบ้านและผ่อนชำระอยู่ อยากขยายครอบครัวซื้อบ้านหลังใหม่ที่จะต้องมีการวางเงินดาวน์เพิ่ม บริษัทจะให้ลูกค้าเตรียมตัวและแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเตรียมเงินดาวน์ให้พร้อมโดยอาจจะมีการแจ้งลูกค้าก่อน 8-9 เดือนก่อนบ้านสร้างเสร็จ รวมทั้ง ในส่วนของคอนโดมิเนียม หากลูกค้าต้องใช้เงินดาวน์อาจจะให้ลูกค้าผ่อนกับบริษัทไปก่อนคล้ายกับการเช่าก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์จริงและขอสินเชื่อ จากธนาคารซึ่งจะช่วยลดภาระลูกค้าได้ ส่วนแนวทางการพัฒนาโครงการใหม่ของเสนานั้น จะมีการบริหารเงิน โดยไม่ซื้อที่ดินสะสมนานเกินไปเพื่อรอพัฒนาโครงการใหม่ เพราะถือเป็นต้นทุนของบริษัท และการพัฒนาโครงการจะมีการเลือกกลุ่มตลาดที่ชัดเจน เน้นจับกลุ่มลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และเจาะในตลาดบนทำเลที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

          ขายบ้านระหว่างสร้าง  ให้ผ่อนดาวน์

          ฟากค่ายแสนสิริ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลจากมาตรการแอลทีวีที่ออกมาเริ่มมีผลกระทบต่อทั้งยอดขายของผู้ประกอบการ อสังหาฯและยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ออกมาบังคับใช้แล้วคงจะกลัวไม่ได้ ต้องปรับตัวรับสถานการณ์ อย่างกรณีบ้านจัดสรร หรือแนวราบ ที่ปกติจะโอนกรรมสิทธิ์เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันที ไม่มีระยะเวลาการผ่อนดาวน์เหมือนคอนโดมิเนียมที่ใช้ระยะเวลาสร้างนาน ได้เริ่มปรับให้ลูกค้าสามารถผ่อนดาวน์ได้ในระยะ 4-5 เดือน ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์และขอกู้สินเชื่อ รวมทั้งจากเดิมที่เน้นการสร้างเสร็จก่อนขาย จะมีการขายบ้านระหว่างสร้างมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่อนดาวน์ได้ ด้านคอนโดมิเนียมหากเป็นโครงการที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ จะเป็นโครงการที่เปิดขาย 2-3 ปีก่อน ซึ่งลูกค้าทยอยจ่ายเงินดาวน์มาแล้วจะไม่มีผลกระทบ แต่จะมีผลกระทบในส่วนการขายสต๊อกคอนโดมิเนียมที่เหลืออยู่เพื่อการระบายสินค้าคงเหลือก็ต้องมีกลยุทธ์ให้ลูกค้าหากกู้บ้านหลังแรกจะกู้ได้ 100% ไม่ต้องมีเงินดาวน์ แต่หากลูกค้าต้องเพิ่มเงินดาวน์ก็ต้องหาแนวทางช่วยเหลือโดยอาจจะเพิ่มระยะเวลาการผ่อนดาวน์ให้ลูกค้า เช่นเดียวกับค่ายพฤกษา โดยแสนสิริจะรอความชัดเจนรัฐบาลใหม่ ผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี ของ ธปท. ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาโดยหากซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 2 แสนบาท รวมทั้งมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ดูจะสวนทางกันหรือไม่ หรือจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง จะติดตามความชัดเจนต่างๆ ก่อนจะมีการหารือในฝ่ายบริหารว่าต้องปรับแผนธุรกิจหรือการเปิดโครงการใหม่ปีนี้หรือไม่

          นอกจากนี้ แสนผิน สุขี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสริมว่า มาตรการแอลทีวีที่ ธปท. ออกมา เพื่อปรับฐานตลาดอสังหาฯให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ป้องกันกลุ่มคนที่เข้ามาแบบเก็งกำไร มาปั่นราคาหาผลตอบแทนในตลาด อสังหาฯทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ในส่วนของบริษัทจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ซื้ออยู่จริง ไม่ใช่บ้านหลังที่สอง แต่มองที่ผลกระทบมากกว่าและกระทบเยอะคือ กำลังซื้อของลูกค้า และหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ธนาคารปฏิเสธให้สินเชื่อลูกค้ากู้ไม่ผ่าน โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ส่วนกลยุทธ์การปรับตัวได้นำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ลงรายทำเลแบบเชิงลึก โดยเป็นแนวคิดแบบการขยายทำเลของร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นว่าแต่ละร้านขายได้เท่าไหร่ ย่านนี้ขายดีแค่ไหน จะทำให้สามารถตัดสินใจซื้อที่ดินแต่ละแปลงได้ชัดเจน และเน้นการบริหารต้นทุนในภาพรวม

          หวังรัฐบาลใหม่ช่วยกระตุ้น  อสังหาฯ

          ผลกระทบจากมาตรการแอลทีวีต่อภาค อสังหาฯทำให้หลายฝ่ายกังวล หนึ่งในนั้น คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบจากมาตรการแอลทีวีที่ออกมาว่าจะมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาผล กระทบจากตัวเลขที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมามีการเร่งปล่อยสินเชื่อไปมากก่อนมาตรการแอลทีวีจะบังคับใช้ ทำให้ยอดขอสินเชื่อหลังมาตรการแอลทีวีมีผลบังคับใช้แล้วลดลงไป แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นการลดชั่วคราวเพราะปัจจัยที่มีการกู้ไปแล้ว หรือเป็นการลดลงต่อเนื่องทุกเดือนเพื่อให้สามารถหารือกับ ธปท.ได้อย่างถูกต้อง

          ฟาก ธปท.ขณะนี้ยังยืนยันไม่มีการปรับเกณฑ์แอลทีวี เพราะเร็วเกินไป แต่ย้ำว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด รอพิจารณาข้อมูลตัวเลขจริงที่จะออกมาและวิเคราะห์ข้อมูลก่อน แต่ก็ไม่ได้ปิดประตู เพราะการดำเนินนโยบายของ ธปท. มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

          ดังนั้น ต้องติดตามข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมาตรการแอลทีวีบังคับใช้จริงแล้วระยะหนึ่งก่อนว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยอดจอง-ยอดขาย-ยอดโอนกรรมสิทธิ์เป็นอย่างไร ซึ่งภาพจะสะท้อนมายังธนาคารพาณิชย์ ผ่านทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาจต่อเนื่องไปถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้

          หากเกิดผลกระทบมากและมีเสียงบ่นจากหลายภาคส่วนมากขึ้นคงดังไปถึง...รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ อาจจะหาแนวทางผ่อนปรนเกณฑ์แอลทีวี หรือจะมีการออกมาตรการกระตุ้นในภาคอสังหาฯ เพราะภาคอสังหาฯเป็นภาคธุรกิจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นอีกมาก ทั้งวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น รวมกันมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาท สัดส่วนกว่า 13-14% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภายในประเทศ ช่วยผยุงการเติบโตเศรษฐกิจทั้งปีได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้รับผล กระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น ความไม่แน่นอนสูง และไม่สามารถคาดการณ์ได้!!!
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ