ซิโน-ไทยแย่งซื้อที่ดินตัดหน้าจัดสรร
Loading

ซิโน-ไทยแย่งซื้อที่ดินตัดหน้าจัดสรร

วันที่ : 2 พฤษภาคม 2562
ต่างชาติบุก-ตลาดแข่งขันสูง "ซิโนไทยฯ" ยักษ์รับเหมาเบอร์ 3 ปรับตัวมุ่งโครงการสัมปทาน ผันเป็นดีเวลอปเปอร์ ทุ่ม 4.3 พันล้านซื้อที่ดิน "หมอชิตแลนด์" ย่านจตุจักรติดรถไฟฟ้า ผุดอาคารแฝด สำนักงานให้เช่า สูง 36 ชั้น พร้อมสวนลอยฟ้า สกายวอล์ก เชื่อมบีทีเอส มูลค่าโครงการ 1.2 หมื่นล้าน สร้างรายได้ ระยะยาวบาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจก่อสร้า
          คว้า11ไร่ย่านบีทีเอสจตุจักรผุดออฟฟิศหมื่นล.

          ต่างชาติบุก-ตลาดแข่งขันสูง "ซิโนไทยฯ" ยักษ์รับเหมาเบอร์ 3 ปรับตัวมุ่งโครงการสัมปทาน ผันเป็นดีเวลอปเปอร์ ทุ่ม 4.3 พันล้านซื้อที่ดิน "หมอชิตแลนด์" ย่านจตุจักรติดรถไฟฟ้า ผุดอาคารแฝด สำนักงานให้เช่า สูง 36 ชั้น พร้อมสวนลอยฟ้า สกายวอล์ก เชื่อมบีทีเอส มูลค่าโครงการ 1.2 หมื่นล้าน สร้างรายได้ ระยะยาวบาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจก่อสร้าง

          นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันตลาดงานก่อสร้างของประเทศไทยถึงภาครัฐจะผลักดันการประมูลงานโครงการออกมามาก แต่สภาพโดยรวมยังมีการแข่งขันตัดราคากันสูง

          รับเหมาต่างชาติแย่งตลาด

          อีกทั้งยังเริ่มมีผู้รับเหมาจากต่างชาติ เข้ามาในตลาดช่วงแรก หลังจากที่เงื่อนไขของประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันประมูลได้ โดยอาจจะมีการยอมรับงานที่ไม่มีกำไร ทำให้การประมูลงานที่ได้มาอาจมีราคาไม่ดีนัก

          "ก็เริ่มมองธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ ให้บริษัทในระยะยาว เป็นการ secure backlog ให้คงอยู่สำหรับอนาคต โดยหวังรายได้จากการชนะการประมูลงานอย่างเดียวค่อนข้างจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ความมั่นใจและกล้าลงทุนของภาค เอกชน"

          รุกธุรกิจสร้างรายได้ระยะยาว

          นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ขณะนี้จึงต้องคิดพิจารณาแนวทางในการที่จะมีรายได้ประจำ หรือ recurring income ที่ไม่ต้องหวังพึ่งจากการประมูลหรือเจรจาเสนอราคาอย่างเดียวบ้าง โดยแนวทางที่บริษัทพิจารณาในตอนนี้ก็คือการ diversify แหล่งที่มาของรายได้เพิ่ม

          ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมลงทุนงานสัมปทานเพื่อจะมีรายได้จากงานก่อสร้างของงานสัมปทาน เช่น ได้ร่วมกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือเป็นพันธมิตรในนามกิจการร่วมค้า BSR เข้าร่วมลงทุน PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแครายมีนบุรีกับสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง รวมถึงงานประมูลสัมปทานโครงการ อื่น ๆ ในอนาคต

          จากรับเหมาสู่ดีเวลอปเปอร์

          นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนตัวเองเป็นดีเวลอปเปอร์ โดยมองหาจังหวะที่ดีในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอง หรือหางานในต่างประเทศที่บริษัท มีศักยภาพหรือเตรียมความพร้อม โดยการทำการศึกษาตลาด (market survey) ไว้

          นายภาคภูมิกล่าวว่า ล่าสุดบริษัทเตรียมจะลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 12,110 ล้านบาท ย่านพหลโยธิน ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้ซื้อที่ดินบริษัท หมอชิตแลนด์ จำกัด จาก บมจ.ยูซิตี้ (U) จำนวน 63 แปลง หรือประมาณเนื้อที่ 11 ไร่ วงเงิน 4,320 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 เพื่อดำเนินการ พัฒนาโครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์ บนที่ดินดังกล่าว โดยบริษัทจะพัฒนาและลงทุนเองทั้งหมด

          ผุดสำนักงานให้เช่า

          รูปแบบการพัฒนาเป็นโครงการก่อสร้างอาคารแฝด เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า สูง 36 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดของอาคารมีโครงสร้างเชื่อมกันทำเป็นสวนลอยฟ้า มีร้านค้าและสกายวอล์กเชื่อมบีทีเอสหมอชิต วงเงินลงทุนในการพัฒนาโครงการประมาณ 7,790 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ

          ทั้งนี้ การลงทุนในโปรเจ็กต์นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการที่จะสร้าง recurring income ซึ่งจากทำเลและความพร้อมของที่ดินในแปลงนี้สร้างความมั่นใจให้บริษัทได้ว่า นอกจากจะสร้างความคุ้มค่าจากการพัฒนาโครงการได้แล้ว ทางบริษัทก็น่า จะมีข้อได้เปรียบจากการลงมือก่อสร้างเอง ซึ่งสามารถคำนวณต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้พัฒนารายอื่น ๆ ที่ต้องไปจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง

          "ในส่วนของแผนการดำเนินงานก็มีการคิดไว้หมดแล้วว่าจะทำอะไร มีความคุ้มค่าแค่ไหน แต่ยังจะขอไม่เปิดเผย รายละเอียดในตอนนี้ ไว้ให้มีรายละเอียดที่สมบูรณ์กว่านี้ก่อน แต่มั่นใจได้ว่าคุ้ม กับต้นทุนที่เราลงทุนไปแน่นอน"

          ดึงแหล่งเงินลงทุนหลายช่องทาง

          นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการลงทุน ทางบริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากช่องทางต่าง ๆ อาทิ เงินทุนหมุนเวียน, เงินสดจากผลประกอบการที่จะได้รับเป็นปกติจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท, เงินกู้จากสถาบันการเงิน, ออกหุ้นกู้ระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ตามความเหมาะสม

          สำหรับการชำระเงินที่ซื้อที่ดิน วงเงิน 4,320 ล้านบาท จะแบ่งผ่อนชำระ 4 งวด เป็นระยะเวลา 4 ปี งวดแรกชำระวันที่ 1 พ.ย. 2562 จำนวน 1,300 ล้านบาท งวดที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. 2563 จำนวน 1,000 ล้านบาท งวดที่ 3 วันที่ 1 พ.ย. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท และงวดสุดท้ายวันที่ 1 พ.ย. 2565 จำนวน 1,000 ล้านบาท

          นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (backlog) ประมาณ 105,000 ล้านบาท จะสามารถรับรู้ รายได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะทำให้การรับรู้รายได้ของบริษัทในปี 2562 น่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 10-20% จากปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และคงจะทำนิวไฮรายได้ทะลุ 30,000 ล้านบาทเป็นปีแรก

          สำหรับงานที่จะรับรู้ปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานก่อสร้างด้านโครงสร้าง พื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ ประมาณ 60-70% แบ่งเป็นภาครัฐประมาณ 40% และเอกชนประมาณ 60% ซึ่งรวมงานสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่บริษัทจะนับเป็นงานภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการรับงานต่อจากผู้รับสัมปทาน
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ