คลัง เตรียมควบรวม ธอส.-บตท.
Loading

คลัง เตรียมควบรวม ธอส.-บตท.

วันที่ : 5 เมษายน 2562
"คลัง" เตรียมควบรวมกิจการธอส.กับบตท. เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ยันร่างกฎหมายควบรวมแบงก์รัฐทำขึ้น เฉพาะควบรวม 2 แห่งนี้เท่านั้น เผย จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อลดกระแสตื่นตระหนกของพนักงาน
          หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ไร้แผนรวมแบงก์อื่น

          "คลัง" เตรียมควบรวมกิจการธอส.กับบตท. เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ยันร่างกฎหมายควบรวมแบงก์รัฐทำขึ้น เฉพาะควบรวม 2 แห่งนี้เท่านั้น เผย จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อลดกระแสตื่นตระหนกของพนักงาน

          นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การร่างกฎหมายเพื่อควบรวมกิจการสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) วางกรอบไว้สำหรับบางแห่งที่อาจจะไม่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจกระทรวงการคลังจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับนำไปควบรวมกิจการกับแบงก์รัฐ แห่งอื่น

          แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) กล่าวว่า การร่างกฎหมายควบรวมกิจการแบงก์รัฐนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการนำบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) มาควบรวมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เท่านั้น ไม่ได้เปิดกว้างไว้เพื่อ ควบรวมกิจการแบงก์รัฐอื่นๆ สาเหตุที่ไม่ได้ ระบุองค์กรในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ เพราะจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับ พนักงานในองค์กร แต่เมื่อได้มีการสรุปผลประชาพิจารณ์แล้ว จึงสามารถเปิดเผยได้

          สำหรับแผนควบรวมกิจการ บตท. กับธอส.นั้น ทางสศค.และระดับนโยบาย ของทั้ง 2 แห่งได้มีการหารือกันมาระยะหนึ่ง แล้ว โดยเห็นว่า บตท.ทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกับธอส. คือการรับซื้อสินเชื่อบ้านไปบริหารจัดการต่อ ส่วน ธอส.ก็ทำหน้าที่ในการ ปล่อยและบริหารสินเชื่อบ้าน และสามารถ บริหารจัดการธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง  โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาครัฐ ขณะที่ บตท.ยังต้องขอรับการสนับสนุนจาก ภาครัฐ ซึ่งการระดมเงินก็ถือเป็นต้นทุน ดังนั้นเพื่อลดภาระต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน จึงเห็นควรให้มีการยุบรวมกิจการ

          "แผนยุบรวมกิจการดังกล่าว น่าจะต้องดำเนินการโดยเร็ว แต่จะต้องให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน เนื่องจาก แต่ละหน่วยงานก็มีกฎหมายการจัดตั้ง หากจะต้องยุบรวมจะต้องมีกฎหมายฉบับใหม่ ออกมาบังคับใช้อีกต่อหนึ่ง"

          ตามแผนการยุบรวมกิจการนั้น ในส่วน พนักงานประจำจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งในแง่เงินเดือน สวัสดิการและตำแหน่ง แต่หากยืนยันจะลาออกจะชดเชยให้ ตามกฎหมาย ส่วนพนักงานที่เป็นลูกจ้างนั้น จะถูกเลิกจ้างโดยได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

          ทั้งนี้ สศค.ได้ร่างกฎหมายเพื่อควบรวม กิจการแบงก์รัฐ โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะสรุปเสนอระดับนโยบาย เพื่อพิจารณาผลักดันให้ร่างกฎหมายมีผล บังคับใช้ต่อไป โดยสศค.ได้วิเคราะห์ ผลกระทบในเชิงบวกต่อร่างกฎหมาย ดังกล่าวว่า  จะทำให้แบงก์รัฐผู้รับโอนกิจการสามารถนำความเชี่ยวชาญของแบงก์รัฐ ผู้ถูกโอนกิจการไปใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง จากความไม่สัมพันธ์กันระหว่างอายุของหนี้สินและสินทรัพย์ (Maturity Mismatch) ได้ดียิ่งขึ้น

          การควบรวมกิจการดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐมีแบงก์รัฐเท่าที่จำเป็น และทำให้ ภาครัฐไม่ประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชน ประกอบกับไม่เป็นภาระงบประมาณ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับพนักงาน ประจำของแบงก์รัฐผู้ถูกโอนกิจการ พนักงานประจำของแบงก์รัฐผู้ถูกโอนกิจการ จะได้รับผลกระทบในเชิงบวก เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พนักงานประจำของแบงก์รัฐผู้ถูกโอนกิจการ สามารถแสดงความจำนงต่อผู้บังคับบัญชา ของตน เพื่อไปปฏิบัติงานที่แบงก์รัฐ ผู้รับโอนกิจการ

          โดยเมื่อแบงก์รัฐผู้ถูกโอนกิจการได้ยุบเลิกตามร่างกฎหมายแล้ว พนักงานประจำที่แสดงความจำนงจะถูกโอนไปปฏิบัติงานยังแบงก์รัฐผู้รับโอนกิจการ ส่วนพนักงานชั่วคราวจะถูกเลิกจ้างโดยได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย