สองตลาดอสังหาฯทรงหรือทรุด หลัง แอลทีวี ดีเดย์1เม.ย.
Loading

สองตลาดอสังหาฯทรงหรือทรุด หลัง แอลทีวี ดีเดย์1เม.ย.

วันที่ : 2 เมษายน 2562
เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ 1 เมษายน สำหรับเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งกำหนดระดับวงเงินสินเชื่อต่อ หลักประกัน (แอลทีวี) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้มงวดขึ้น ถือเป็นนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินในภาพรวม (แมคโครพรูเด็นเชียล) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
         ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          ธปท.แบไต๋พร้อมแก้ให้ยืดหยุ่น

          เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ 1 เมษายน สำหรับเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งกำหนดระดับวงเงินสินเชื่อต่อ หลักประกัน (แอลทีวี) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้มงวดขึ้น ถือเป็นนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินในภาพรวม (แมคโครพรูเด็นเชียล) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเห็นการแข่งขันในตลาด ที่อยู่อาศัยมีสัญญาณความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยและมีความเกี่ยวเนื่องหลากหลาย รวมทั้งอาจส่งผลกระทบกับระบบการเงินไทย ธปท.จึงออกประกาศและรับฟัง ความคิดเห็นเพื่อปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา

          *ลด'แอลทีวี'สกัดเก็งกำไร

          มาตรการแอลทีวีกำหนดวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยแต่ละยูนิตจะต้องนับรวมสินเชื่อที่ธนาคารให้เพิ่มเติม (ท็อปอัพ) เช่น สินเชื่อเพื่อการตกแต่ง แต่ไม่รวมเบี้ยประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (เอ็มอาร์ทีเอ) และประกันวินาศภัย โดยกำหนดกรณีการ กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท การกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังแรก หรือการกู้สัญญาที่ 1 โครงการแนวราบแอลทีวีอยู่ที่ 95% ดาวน์ 5% และคอนโดมิเนียมแอลทีวี 90% ดาวน์ 10% ซึ่งเพดาน แอลทีวีอยู่ที่ 100% ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อถึง 100% ได้ แต่ต้องตั้งสำรองเงินกองทุนเพิ่มตามเกณฑ์สินทรัพย์เสี่ยง ส่วนการ กู้สัญญาที่ 2 หรือการกู้อีกหนึ่งสัญญาระหว่างที่ยังผ่อนสัญญาแรกทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม หากกู้มานานกว่า 3 ปีขึ้นไป กำหนดแอลทีวีอยู่ที่ 90% และเพดานแอลทีวีอยู่ที่ 90% ไม่สามารถ ให้วงเงินสินเชื่อเกินกว่าเพดานนี้ (แอลทีวีลิมิต) กรณีกู้สัญญาที่ 2 หรือการกู้อีกหนึ่งสัญญาระหว่างที่ยังผ่อนสัญญาแรกทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม หากกู้ยังไม่ถึง 3 ปี กำหนดแอลทีวี 80% และเป็นแอลทีวีลิมิต ไม่สามารถให้แอลทีวีเกินนี้ได้

          กรณีการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม กำหนดแอลทีวี 80% เป็นแอลทีวีลิมิต ไม่สามารถให้แอลทีวีเกินเพดานนี้ได้ ทั้งนี้ กรณีกู้สินเชื่อสัญญาที่ 3 ทุกระดับราคา มองว่าการกู้สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ไม่ได้เป็นการกู้เพื่ออยู่อาศัยจริง อาจจะเป็นการเก็งกำไร หรือการลงทุน กำหนดแอลทีวีที่ 70% เป็นแอลทีวีลิมิตไม่สามารถ ให้แอลทีวีเกินเพดานนี้ได้

          *ผู้เกี่ยวข้องเตรียมพร้อม

          ผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการแอลทีวี ได้แก่ ธนาคารต้องปรับระบบภายในและปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อจากเดิมที่วงเงินสินเชื่อที่ให้กู้ ไม่รวมสินเชื่อท็อปอัพทำให้สัดส่วนบัญชีที่มีแอลทีวีมากกว่า 100% เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามเกณฑ์แอลทีวีใหม่เป็นแอลทีวีลิมิตไม่สามารถปล่อยเกินเพดานที่กำหนดได้ หากธนาคารปล่อยสินเชื่อมากกว่า ที่กำหนดอาจจะมีมาตรการลงโทษ เปรียบเทียบปรับ อาจมีการ รายงานผลขึ้นบนเว็บไซต์ของ ธปท.

          ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้ามาตรการนี้มีผลยอดขายเติบโตรวดเร็ว เพราะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน จึงมีการเข้ามาหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) เช่น การซื้อบ้านเพื่อปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร ผู้ประกอบการจึงเร่งพัฒนาโครงการออกมา โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม พบว่าในบางทำเลมีซัพพลายคงค้างมากและอัตราการขายช้าลง ราคาขายขยับขึ้นช้า และเมื่อมีมาตรการแอลทีวีตลาดเก็งกำไรอาจจะชะลอไป ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเน้นการระบายสต๊อกคงค้าง และชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก 2562 หลังจากนั้นอาจเห็นการทยอยเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ผู้บริโภค การแข่งขันของธนาคารช่วงก่อนหน้าปล่อยกู้ 100% ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินออมก่อนซื้อบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงก่อนกู้ซื้อบ้านควรเก็บเงินออมส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์ ซึ่งจะทำให้ภาระการผ่อนชำระลดลง หากเป็นการซื้อบ้านหลักแรกธนาคารจะเก็บเงินดาวน์ราว 5-10% ของราคาบ้าน แต่หากต้องการซื้อเพื่อการลงทุนจะต้องเก็บออมเงินเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์สัดส่วนราว 20-30% ของราคาบ้าน

          *อัดโปรระบายสต๊อกก่อนคุมเข้ม

          หลายปีที่ผ่านมา ช่วงต้นปีมักจะเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ออกมาประกาศแผนธุรกิจเปิดโครงการใหม่คึกคัก แต่ในปี 2562 ผลจากมาตรการแอลทีวีทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งนำโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ (สต๊อก) มาจัดโปรโมชั่นต่างๆ เห็นได้จากชื่อแคมเปญที่มุ่งกระตุ้นผู้บริโภค อาทิ "ควิก ดีลส์"จากค่ายอนันดา จูงใจโดยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 1% นาน 3 ปี และค่าผ่อนต่ำ "แม่รีบ มาตรการลด ก่อนมาตรการรัฐ" จากค่ายเอสซี แอสเสท ส่วนลดสูงสุด 5 ล้านบาท "โปรซิ่งวิ่งหน้าตั้ง" จากค่าย ศุภาลัย ให้ส่วนลดวันโอนกรรมสิทธิ์ หรือค่าธรรมเนียมจดจำนอง ค่าส่วนกลาง 1 ปีแรก "ลดด่วน ขบวนสุดท้าย" ผ่อน 0% นาน 3 ปี กู้ 100% ฟรีทุกค่าใช้จ่าย จากค่าย ออริจิ้น "ปลดล็อคมาตรการรัฐ!! อันล็อค ดีล" ดาวน์ 0 บาท กู้ 100% พร้อมผ่อนให้ สูงสุด 2 ล้านบาท จากค่าย เอพี "ลดทะลุพิกัด" จากค่ายเสนาดีเวลลอปเม้นท์ กู้ได้ 100% หรือดาวน์ 0 บาท และรับส่วนลดเกือบล้านบาท "โปรหมดเปลือก" จากค่ายแสนสิริ "จะขอ ก็รีบขอ" จากค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท ส่วนลดสูงสุด 1 ล้านบาท ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอน "ลุมพินี ราคาเอ้าท์เล็ต" จากบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่อยู่อาศัยราคาที่คุ้มค่าเริ่มต้นเพียง 9 แสน-8.9 ล้านบาท

          หากพิจารณาจากการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40 ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มาออกบูธเน้นนำโครงการเดิมและโครงการพร้อมอยู่มาสนอต่อผู้บริโภค พร้อมจัดโปรโมชั่นส่วนลดเงินสด ส่วนลดวันโอนกรรมสิทธิ์ ฟรีสมาร์ทโฟน เป็นต้น จากปกติจะมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เปิดโครงการใหม่ภายในงานมหกรรมบ้านฯ แต่ปีนี้การเปิดโครงการใหม่เงียบเหงา

          อีกปัจจัยหนึ่งต้องเร่งระบายสต๊อกแทนเปิดโครงการใหม่ เพราะเป็นช่วงเลือกตั้ง ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อาจจะรอความชัดเจนการเลือกตั้งก่อน ประกอบกับเดือนเมษายนนี้เป็นช่วงที่มีวันหยุดหลายวันจึงน่าจะเห็นการเปิดตัวโครงการใหม่หลังจากนี้ อย่างไรก็ดี การเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) โดยเป็นสินค้าที่ราคาจับต้องได้ เพิ่มสัดส่วนโครงการแนวราบมากขึ้น กระจายการ เปิดโครงการใหม่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ และกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังธุรกิจให้เช่า เช่นสำนักงานและโรงแรม

          *สินเชื่อที่อยู่อาศัยพุ่งแห่ทิ้งทวน

          ขณะที่ นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า เริ่มเห็นธนาคารเร่งปล่อย สินเชื่อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวถึง 7.8% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.4% ถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ เพราะการออกมาตรการใดๆ มักจะช็อกตลาด ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งทำ โปรโมชั่น ทั้งลดแลกแจกแถม ให้ส่วนลดมากขึ้น จัดทำแพคเกจต่างๆ เช่น ฟรีค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งระบายสต๊อกคงค้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายเปิดขายโครงการใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับ ปีก่อนหน้า ในภาคครัวเรือนที่เป็นผู้กู้ พบว่า สัดส่วนแอลทีวียังอยู่ในระดับสูง จึงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยประเมินว่าแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาสแรกยังเร่งขึ้นต่อเนื่อง และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร น่าจะเข้มงวดขึ้นเล็กน้อย ซึ่ง ธปท.จะต้องติดตามข้อมูลต่อไป

          สอดคล้องกับความเห็นธนาคาร โดย นางสาวขัตติยา อินทรวิชัยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีสินเชื่อใหม่ยังขยายตัวดี และเร่งตัวมากขึ้นก่อนที่มาตรการแอลทีวีจะบังคับใช้ประเมินว่ายอดสินเชื่อใหม่ในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่กว่า 16,000 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2562 เติบโต 6% จากปี 2561 ที่ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 280,000 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อใหม่รวม 66,000 ล้านบาท

          ด้าน นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเห็นแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อที่อยู่ อาศัย ก่อนที่มาตรการแอลทีวีจะมีผลบังคับใช้เหมือนกับทุกครั้ง ที่มีมาตรการของรัฐออกมาแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นมาตรการที่ควบคุม ไม่เหมือนก่อนๆ ที่เป็นมาตรการกระตุ้น แต่ก็ทำให้ความต้องการ ซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต (ฟิวเจอร์ดีมานด์) เพิ่มขึ้น โดยมีลูกค้ามา ขอสินเชื่อและเร่งโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่อง

          "ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนสุดท้ายก่อนที่มาตรการ แอลทีวีจะบังคับใช้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์สูง และสูงมากในวัน ทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม ส่วนแนวโน้มหลังจากมาตรการ แอลทีวีเริ่มมีบังคับใช้แล้วนั้นคาดว่าการขอสินเชื่อและการโอนกรรมสิทธิ์อาจจะชะลอลงไปบ้าง แต่ยังต้องติดตามข้อมูลที่ ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบอย่างไร สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ ปีนี้ คาดว่าสินเชื่อใหม่จะอยู่ที่ 66,000 ล้านบาท เติบโต 5% จากเป้าหมายปี 2561 ที่ 63,000 ล้านบาท แต่ธนาคารสามารถ ทำได้เติบโตถึง 76,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่องคงค้างสิ้นปีคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 7% อยู่ที่ 265,000 ล้านบาท จากปี 2561 ที่ 240,000 ล้านบาท"

          *ผลประกอบการอสังหาฯทรุด

          ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ยอดขายรวม 9 บริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2.91 แสน ล้านบาท เติบโตเพียง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นระดับการเติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่เติบโตถึง 9% ในส่วนของกำไรสุทธิคาดว่าปีนี้จะลดลง 1% และทิศทาง ผลประกอบการจะดีที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562 นอกจากนี้ ต้องติดตามสถานการณ์และระมัดระวังสภาพคล่องที่เริ่มถูกกดดัน จากสต๊อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

          ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) รายงานว่า จากการสอบถามทางผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในช่วงปี 2562 พบว่า ยอดขายอ่อนตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้มีการออกโปรโมชั่นระบายสต๊อกคอนโดมิเนียม แต่ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก รวมทั้งยังไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีกลยุทธ์ปรับตัวรับมือโดยแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2562 มีมูลค่า 3.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 พร้อมหันมาเน้นเปิดโครงการแนวราบมากขึ้น ทำให้สัดส่วนโครงการแนวราบเพิ่มขึ้นเป็น 56% ของพอร์ตการเปิดโครงการทั้งหมด จากปี 2561 สัดส่วนอยู่ที่ 52%

          หากพิจารณาสภาพตลาดอสังหาฯในปัจจุบันที่การเก็งกำไรมีแนวโน้มลดลง และมุมมองที่ระมัดระวังขึ้นของผู้ประกอบการ จากการชะลออุปทานใหม่ ควบคู่กับระบายของเก่า ทำให้บริษัทมองว่ามี โอกาสที่ ธปท.จะผ่อนคลายเกณฑ์ลง อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่สำคัญที่เป็นความเสี่ยง คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย ที่หากปรับขึ้นอาจทำให้ ธปท.ทบทวนมาตรการให้เข้มงวดขึ้นได้เช่นกัน โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อยู่ที่ 3.25% เทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อยู่ที่ 3.23%

          *ความหวังระยะยาวส่งผลดี

          นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการแอลทีวีที่ ธปท. ออกมา ในระยะสั้นอาจจะกระทบต่อผู้กู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว แต่ระยะยาวจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อแต่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งพัฒนาโครงการเพราะคิดว่าจะขายได้แต่เกิดโอเวอร์ซัพพลาย มีกลุ่มซื้อลงทุนเพื่อเก็งกำไรขายต่อหรือปล่อยเช่าแต่อาจจะผ่อน ไม่ไหว เป็นการเสพติดประชานิยมการเงิน มีความเสี่ยงมากขึ้น ธปท.จึงเข้ามาควบคุมซึ่งถือว่าเหมาะสม และไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านที่ต้องการซื้ออยู่อาศัยจริงหรือผู้ซื้อบ้านหลังแรก

          เช่นเดียวกับ นายสมเกียรติ เรือนทองดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่า ระยะสั้นมาตรการแอลทีวีอาจจะกระทบต่อผู้บริโภคทำให้ลังเลและชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย แต่มองกรณีนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมา ธปท.มีการปรับปรุงเกณฑ์แอลทีวีอยู่แล้ว เชื่อว่าตลาดน่าจะปรับตัวได้ในที่สุด ในส่วน ของกลุ่มซี.พี.แลนด์ เน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดและเน้นจับกลุ่มลูกค้าอยู่อาศัยจริง และกลุ่มคนทำงาน จึงไม่มีผลกระทบจากมาตรการแอลทีวีมากนัก

          *แบงก์ชาติย้ำนโยบายยืดหยุ่น

          ขณะที่ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ให้มุมมองว่า การปรับเกณฑ์มาตรการแอลทีวีถือเป็นการสร้างมาตรฐานและวินัยในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อดูแลความเสี่ยง โดย ธปท.ไม่ได้ต้องการที่จะขัดขวางการมีบ้านของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่มาตรการที่ออกมาป้องกันไม่ให้ประชาชนมีหนี้มากเกินไปจนอาจจะกระทบต่อการชำระหนี้คืน และเพื่อไม่ให้เอื้อต่อการเก็งกำไรมากกว่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริง รวมทั้งดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ โดยหลังจากที่มาตรการแอลทีวีออกมาบังคับ ใช้แล้ว ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิดหลังบังคับใช้ และมีความ ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนการดำเนินมาตรการตามการประเมินสถานการณ์ คาดว่าผ่านไป 1 ไตรมาส หรือสิ้นไตรมาสที่ 2/2562 น่าจะเริ่มเห็นข้อมูลมากขึ้น ซึ่งหากยังเห็นการเก็งกำไรมากขึ้นอาจจะมีการปรับ เพิ่มความเข้มงวดมาตรการมากขึ้น แต่หากกระทบกับการเข้าถึง สินเชื่ออาจจะปรับมาตรการให้เหมาะสมมากขึ้นได้

          จากนี้คงต้องติดตามผลของมาตรการแอลทีวีที่จะออกมาว่า จะมีผลกระทบจริงกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการและท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศที่มี แนวโน้มชะลอตัวลง

          ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังชุลมุน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลใหม่หากอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะไม่สามารถหยิบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจได้เหมือนที่เคยทำหลายครั้งในอดีต เพราะฟิวเจอร์ดีมานด์ถูกเร่งไปแล้ว!
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ