ปั้นไทยฮับ ระบบราง
Loading

ปั้นไทยฮับ ระบบราง

วันที่ : 1 เมษายน 2562
ดันฮับอุตสาหกรรมรางอาเซียน ปักธงลดต้นทุนนำเข้า 7 หมื่นล้าน ภายใน 10 ปี ลุยต่อขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมเพื่อนบ้านต่อยอดตลาด
          ดันฮับอุตสาหกรรมรางอาเซียน ปักธงลดต้นทุนนำเข้า 7 หมื่นล้าน ภายใน 10 ปี ลุยต่อขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมเพื่อนบ้านต่อยอดตลาด

          นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยในงาน RAIL Asia Expo 2019 ว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตยังมีแผนที่จะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซ่อมบำรุง

          ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563-2564 โดยจะสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟรถ และรถไฟฟ้าได้ถึง 3 โรงงาน และมียอดการผลิตรวม 900 ตู้/ปี ภายในปี 2570 สามารถช่วยลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่า จากเดิมที่มีมูลค่านำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิตและประกอบในไทย ต้นทุนจะลดเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาได้อีกกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน

          นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟและรถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้อง นำเข้ากว่า 7,000-1 หมื่นรายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน

          นายไพรินทร์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตไทยจะขยายโครงข่ายรถไฟไปเชื่อมต่อเพื่อนบ้านเพื่อเสริมศักยภาพการเป็นฮับ CLMV ในอีกไม่กี่ปีไทยจะเชื่อมรถไฟทางคู่และรถไฟไฮสปีดกับ สปป.ลาว เช่นเดียวกับทางกัมพูชาที่จะมีการเปิดเดินรถข้ามประเทศเส้นทางไทย-กัมพูชา ช่วง จ.ตราด-เสียมราฐ-พระตะบอง ส่วนด้านรถไฟทางเชื่อมต่อประเทศเมียนมานั้นจะต้องเจรจาให้สามารถเดินรถเชื่อมกันได้อีกครั้งเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตามหากมองแค่ดีมานด์ในประเทศ ในอนาคตประเทศไทยจะมีการขนส่งระบบรางใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งโครงการที่จะเห็นในเร็ววันนี้คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและปริมณฑล 10 สาย โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค (แทรม) และระบบรางฟีดเดอร์ จะเป็นการให้บริการในกรุงเทพฯ โดยนำรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นฟีด เดอร์รับส่งผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าไปถึงที่หมายโดยรถเมล์
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ