ธปท.จ่อปรับเกณฑ์แอลทีวี
Loading

ธปท.จ่อปรับเกณฑ์แอลทีวี

วันที่ : 28 มีนาคม 2562
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ว่า ธปท.จะติดตามผลกระทบของมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) หากยังพบการเก็งกำไรในส่วนนี้อยู่ ก็พร้อมเพิ่มระดับความเข้มข้นของมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ถ้ากระทบกับผู้กู้ที่ต้องการอยู่อาศัยจริง ก็พร้อมปรับลดความเข้มงวดของเกณฑ์ลง ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง
          แฉคอนโดฯยังค้างเติ่ง

          นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ว่า ธปท.จะติดตามผลกระทบของมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) หากยังพบการเก็งกำไรในส่วนนี้อยู่ ก็พร้อมเพิ่มระดับความเข้มข้นของมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ถ้ากระทบกับผู้กู้ที่ต้องการอยู่อาศัยจริง ก็พร้อมปรับลดความเข้มงวดของเกณฑ์ลง ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง โดยจะเริ่มเห็นชัดเจนในไตรมาสหลังมาตรการบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้ หรือตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.

          ทั้งนี้ตั้งแต่ธปท.ได้ออกมาตรการ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้นั้น ได้เห็นภาคเอกชนปรับตัวชัดเจน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน โดยมีการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง และสถาบันการเงิน ได้เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันยังเห็นต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ ซึ่งยังไม่ได้ลดลง แต่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลง อาจทำให้อำนาจตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของชาวจีนลดลงตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และกระทบต่อการชำระหนี้ของสถาบันการเงินได้ต่อไป

          สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นมูลค่า 6-8% ของจีดีพี แต่รวมธุรกิจต่อเนื่องอาจมากกว่านั้น เช่น ด้านก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินคิดเป็น 20% ของสินเชื่อรวมทุกประเภท รวมทั้งขนาดใหญ่ที่สุดมี 33% ของหนี้ครัวเรือน แต่ไม่กังวล เพราะอสังหาฯเป็นทรัพย์สินสำคัญ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวม 61 เปิดขายที่อยู่อาศัยใหม่ขยายตัว 9.2% มีโอนกรรมสิทธิ์เติบโต 20% สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ผู้กู้เติบโต 7.8%

          "ที่ผ่านมามีอาคารชุดค้างอยู่จำนวนมาก และพบว่าบางทำเลระบายล่าช้า และมีการเปิดโครงการมาก ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินได้ ซึ่งที่ออกมาตรการ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต ไม่ให้เกิดวิกฤติการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจาก ภาคอสังหาฯ ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปัจจุบันอยู่ที่ 3.25% สวนทางเอ็นพีแอลอุปโภคบริโภคที่ชะลอลง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม"

          นายเมธี กล่าวว่า ธปท.คาดหวังจากมาตรการเพื่อสร้างมาตรการเชิงป้องกัน ดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีอุปสงค์อุปทาน และราคาที่เหมาะสม ยกระดับมาตรฐานสินเชื่อ สร้างวัฒนธรรมให้ผู้กู้มีการวางแผนการกู้ที่เหมาะสม

          นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เห็นสัญญาณก่อนมาตรการบังคับใช้ เริ่มมีผู้ประกอบการเร่งทำโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม ให้ส่วนลด ให้แพ็กเกจ ฟรีค่าโอน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเร่งระบายโครงการคงค้าง และเห็นผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดขายโครงการใหม่ลดลง เพื่อปรับตัวกับสภาวะตลาด เช่น คอนโดฯ อาคารชุด เป็นต้น ส่วนด้านผู้กู้ยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก อาจต้องใช้เวลาติดตามในเรื่องความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อไป

          "อยากเห็นสถาบันการเงินดูแล และลดการแข่งขันลง สร้างวัฒนธรรมด้านสินเชื่อให้ผู้กู้ออมบางส่วน ลดดีมานด์เทียมของนักเก็งกำไร ทำให้คนอยากซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม โดยเริ่มเห็นสัญญาณแอลทีวีกลับเข้ามาใกล้ระดับในอดีตแล้ว"