โมโนเรล สีชมพู-เหลือง ปรับแบบวุ่นหนีท่อประปา-กทม.ยื้อทุบสะพานเดอะมอลล์บางกะปิ
Loading

โมโนเรล สีชมพู-เหลือง ปรับแบบวุ่นหนีท่อประปา-กทม.ยื้อทุบสะพานเดอะมอลล์บางกะปิ

วันที่ : 13 มีนาคม 2562
คืบหน้าไซต์ก่อสร้างโมโนเรล 2 สาย "ชมพู-เหลือง" เจองานหินติดหล่ม ส่งมอบพื้นที่ รื้อระบบสาธารณูปโภค เร่งย้ายท่อน้ำประปาย่านลาดพร้าว หวั่นกระทบผู้ใช้น้ำนับหมื่นครัวเรือน กทม.ยื้อทุบสะพานข้ามแยกหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ กลุ่มบีทีเอสกัดฟัน ลุยสร้างให้เสร็จตามสัญญา ตั้งเป้าเปิดหวูดปี 64
          คืบหน้าไซต์ก่อสร้างโมโนเรล 2 สาย "ชมพู-เหลือง" เจองานหินติดหล่ม ส่งมอบพื้นที่ รื้อระบบสาธารณูปโภค เร่งย้ายท่อน้ำประปาย่านลาดพร้าว หวั่นกระทบผู้ใช้น้ำนับหมื่นครัวเรือน กทม.ยื้อทุบสะพานข้ามแยกหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ กลุ่มบีทีเอสกัดฟัน ลุยสร้างให้เสร็จตามสัญญา ตั้งเป้าเปิดหวูดปี'64

          แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจาก รฟม.ให้บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทลูกของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30 กม. วงเงิน 49,235 ล้านบาท และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 52,636 ล้านบาท เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา

          ผลงานก่อสร้าง ณ ก.พ.

          ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2562 สายสีเหลืองงานก่อสร้างคืบหน้า 27.14% งานระบบรางคืบหน้า 14.17% เร็วกว่าแผนงาน 7% งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ 90.05% เร็วกว่าแผนงาน 2.00%

          ส่วนสายสีชมพูงานโยธามีความ คืบหน้า 28.02% งานระบบราง 14.49% ช้ากว่าแผนงานประมาณ 4% งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ 91.47% เร็วกว่าแผนงาน 0.04%

          "ตามสัญญาเอกชนที่ร่วมลงทุนโครงการจะต้องสร้างทั้ง 2 เส้นทางให้เสร็จภายใน 39 เดือน หรือในเดือน ต.ค. 2564 ทั้งนี้ ก็มีความกังวลเรื่องการ ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่อยู่ในแนวเส้นทางที่อาจจะกระทบต่อแผนงานก่อสร้าง แต่ รฟม.ก็พยายามเร่งรัดและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเคลียร์ปัญหาทุกอย่าง"

          ติดเข้าพื้นที่ทับซ้อน

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่สามารถให้ผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการได้อย่างเช่น สายสีเหลืองที่ยังติดปัญหาการเข้าพื้นที่บริเวณจุดเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ซึ่งต้องขอใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ปัจจุบันให้เอกชนเช่าจัดหาประโยชน์ ทำให้การก่อสร้างช่วงนี้ล่าช้าไปร่วม 7 เดือน

          นอกจากนี้ มีบริเวณถนนศรีนครินทร์ใกล้แยกศรีเทพา เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการระบายน้ำของกรมทางหลวง ที่สำคัญการก่อสร้างบนถนนลาดพร้าวจะประสบกับปัญหาการรื้อย้ายท่อระบายน้ำที่เป็นขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.90 เมตรของการประปานครหลวง (กปน.) ต้องรื้อและสร้างใหม่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำเนื่องจากท่อน้ำดังกล่าวจะต้องรองรับผู้อยู่อาศัยหลายหมื่นครัวเรือน จะต้องมีการปรับแผนการก่อสร้างให้สอดรับ โดยจะต้องรื้อท่อน้ำเป็นช่วง ๆ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้

          ยื้อทุบสะพานเดอะมอลล์ บางกะปิ

          "อีกจุดที่ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ คือ บริเวณหน้าเดอะมอลล์ บางกะปิ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร จะรื้อสะพานแล้วค่อยสร้างขึ้นใหม่เหมือนแยกรัชโยธิน แต่ทางตำรวจจราจรเกรงว่าเมื่อรื้อทิ้งแล้วจะทำให้เกิดปัญหารถติดมากขึ้นในย่านนี้ เพราะปัจจุบันได้รื้อสะพานแยกลำสาลีไปแล้ว เพราะถ้ารอให้เคลียร์แยกลำสาลีเสร็จจะทำให้โครงการล่าช้า 2 ปี ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบจาก กทม.จะให้ดำเนินการอย่างไร"

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับสายสีชมพูจะสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ได้มีการปรับแบบรวมกับกรมทางหลวง เช่น ช่วงถนนแจ้งวัฒนะซึ่งกรมทางหลวงมีแผนจะสร้างอุโมงค์ระบายน้ำกว้างขนาด 2 เมตร แก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางเขน หลักสี่ และ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จะเร่งการก่อสร้างไปพร้อมกับสายสีชมพู โดยกรมทางหลวงหลบการก่อสร้างอุโมงค์ระบายให้กับตอม่อรถไฟฟ้า โดยแนวท่อจะอยู่ใต้ดินเกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะ ขนานไปกับโครงสร้างของรถไฟฟ้า

          นอกจากนี้ มีการปรับระยะห่างเสาตอม่อช่วงถนนติวานนท์จาก 30 เมตร เป็น 40 เมตร ให้มีจุดกลับรถ 10 จุด และปรับตำแหน่งสถานีบริเวณแยกหลักสี่ ตรงข้ามไอทีสแควร์ ซึ่ง รฟม.ขอใช้พื้นที่หลังหมวดการทางหลักสี่ สร้างจุดจอดรถแท็กซี่เพื่อแก้ปัญหารถติด อีกจุดบริเวณถนนรามอินทรา หน้า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จุดตัดกับถนนสาย 350 (ถนนรัชดาฯ-รามอินทรา) ให้ รฟม.ปรับแบบเสาตอม่อให้สร้างคร่อมแลมป์ข้ามแยกแทน

          BTS เร่งให้เสร็จตามสัญญา

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC กล่าวว่า ถึงขณะนี้ทางกลุ่มบริษัทยังยืนยันว่าจะสามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 39 เดือน แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคอยู่บ้างก็ตาม แต่ยังอยู่ในวิสัยที่รับได้

          อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถสร้างได้เสร็จตามกำหนดในสัญญาสามารถขอขยายเวลาก่อสร้างได้ หากว่าภาครัฐส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า ทั้งนี้ หากไม่มีความจำเป็นทางบริษัทก็ไม่อยากจะให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านค่าใช้จ่าย และที่สำคัญจะกระทบต่อแผนการเปิดให้บริการด้วย

          เจรจาเชื่อมรัชโยธิน-เมืองทองฯ

          ด้านความคืบหน้าส่วนต่อขยายที่กลุ่มบริษัทเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติม 7,158 ล้านบาท โดยสายสีเหลืองจะต่อขยาย จากแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน 2.6 กม. วงเงิน 3,779 ล้านบาท และสายสีชมพูต่อขยายจากสถานีศรีรัช- เมืองทองธานี 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาทขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.อนุมัติแล้ว รอเจรจาในรายละเอียดเรื่องผลตอบแทนการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

          สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีชมพู จะเริ่มต้นจาก ถ.แจ้งวัฒนะบริเวณสถานีศรีรัชของสายหลักไปทางทิศตะวันตก เลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ประกอบด้วย สถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (Impact Challenger) และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี

          ส่วนสายสีเหลือง แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ไปตาม แนว ถ.รัชดาภิเษก จนถึงบริเวณแยก รัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต มีสถานี YLEX-01 อยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานี YLEX-02 ตั้งอยู่เหนือทางเท้าบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (skywalk) ไปยัง สถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว โดยทั้งสองช่วงจะเปิดบริการพร้อมสายหลักในปี 2564
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ