แบงก์รัฐเร่งดิจิทัล
Loading

แบงก์รัฐเร่งดิจิทัล

วันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2562
โอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบการเงินไทย ในวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินช่วงปี 2559-2563 ซึ่งจัดทำโดยผู้แทนจากรัฐบาล หน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้แทนจากลูกค้าและประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีกรอบนโยบาย 4 ด้าน คือ ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ สนับสนุนการเชื่อมต่อการลงทุนในภูมิภาค ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
          กนกวรรณ บุญประเสริฐ

          โอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบการเงินไทย ในวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินช่วงปี 2559-2563 ซึ่งจัดทำโดยผู้แทนจากรัฐบาล หน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ผู้แทนจากลูกค้าและประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีกรอบนโยบาย 4 ด้าน คือ ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ สนับสนุนการเชื่อมต่อการลงทุนในภูมิภาค ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

          ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้พัฒนาระบบชำระเงินตามยุทธศาสตร์ e-Payment  มีระบบการชำระเงินแบบ Any-ID  ในการรับหรือโอนเงิน ได้แก่ เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ e-Wallet ID และ e-Mail Address  สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน สถาบันการเงินจากเดิมที่รายได้ค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบอยู่ที่เลข 2 หลักของรายได้รวมกลับหดตัวลงเหลือเลขหลักเดียว ในทางกลับกันพบว่าสัดส่วนปริมาณการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเป็น 90%

          ขณะที่การพัฒนาระบบการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ในบางธนาคารมีการพัฒนา ล้ำหน้าไปมาก เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่ง ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้บุกเรื่องการทำ Digital Banking อย่างหนัก รับกระแสโลกยุคดิจิทัล มีการสร้าง Digital Platform ใหม่ๆ มีบริการทางการเงินทุกด้านบนโทรศัพท์มือถือในแอพพลิเคชั่น MyMo ตั้งแต่เปิด บัญชีเงินฝาก ยื่นขอสินเชื่อ สมัครบัตรเครดิต การเบิกถอนเงินสด โอนเงิน ชำระค่าสินค้า ซื้อขายหน่วยลงทุน กองทุน ตั้งเป้าผู้ใช้บริการ MyMo จาก 2.6 ล้านรายในปีก่อน เพิ่มเป็น 8 ล้านราย ในปี 2562 และมีการจำหน่ายสลากดิจิทัล จับมือกับเอกชนทำ แบงก์กิ้งเอเย่นต์ หรือตัวแทนรับฝากเงินผ่านสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่น และรับฝากเงินผ่านตู้เติมเงินกว่า 2.11 แสนแห่งทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ ยังพัฒนาการซื้อขายสินค้า มี e-Market Place มี QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ส่งผลให้มีสัดส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 74% ของธุรกรรมรวม

          ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มีการให้บริการพร้อมเพย์ และบริการชำระเงินด้วย QR Code ธ.ก.ส. น้องหอมจัง ตังค์เยอะ เพื่อเพิ่มช่องทางการชำระเงิน ขยายฐานลูกค้าธุรกิจ มี Branch Outlet และการจัดตลาดของดีวิถี ชุมชนที่สาขา ที่มีศักยภาพ การวางจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรลูกค้า ที่ร้านค้าด้วยระบบ Online ผ่าน  e-Commerce Platform และ  Offline มีการสร้างระบบบริการซื้อขายสินค้าการเกษตร ปัจจัยการผลิต การจองที่พักแหล่งท่องเที่ยวชุมชนผ่าน e-Market Place เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรและธุรกิจบริการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

          แต่ อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า แผนการพัฒนาระบบดิจิทัล และแอพพลิเคชั่นในการให้บริการลูกค้า พบว่าลูกค้าบางส่วนยังมีความกลัวและยังนิยมใช้บริการผ่านสาขาธนาคารอยู่ ดังนั้นธนาคารจึงไม่มีนโยบายปิดสาขาในตอนนี้

          ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เดินหน้าสู่การเป็น  Dynamic Moving Bank ทำโครงการ Mobile Application : GHB ALL ใน ระยะที่ 1 ให้บริการลูกค้าได้ 5 บริการ ได้แก่ การชำระเงินกู้โดยหักบัญชี ธอส. และสร้าง QR Code เพื่อชำระ เงินกู้ด้วยแอพพลิเคชั่นธนาคารต่างๆ สามารถตรวจสอบสถานะสินเชื่อ ด้านเงินฝาก โอนเงินภายในและต่างธนาคาร และโอนเงินผ่านพร้อมเพย์

          มาในระยะที่ 2 ที่กำลังจะเปิดตัวในเดือน มี.ค.นี้ มีการพัฒนาระบบงานหลัก GHB SYSTEM เช่น การดู Statement ทำ Pre Approve ยื่นกู้ ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง นัดหมายการเข้าประเมินราคา แจ้งผลการพิจารณา สินเชื่อ นัดวันลงนามเอกสารสำคัญและทำนิติกรรม แจ้งเตือนชำระหนี้ แสดงความประสงค์กู้เพิ่ม และชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลไม่น้อยกว่า 40% ของบริการหน้าเคาน์เตอร์ที่สาขาของธนาคาร

          ขณะที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีแอพพลิเคชั่น SME D Bank ยื่นขอสินเชื่อ ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งเป้ามีผู้เข้าใช้ SME D Bank รวม 3 แสนราย ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุน ซึ่งในปี 2562 เตรียมเพิ่มหน่วยรถม้าเติมทุนให้ครบ 1,000 หน่วย ช่วยผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ภายใน 3 วัน ธนาคารติดต่อนัดให้รถม้าเติมทุนเข้าไปพบ เพื่อขอดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง รู้ผลการพิจารณาสินเชื่อได้ใน 7 วัน

          ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ มีการพัฒนาเรื่องการขอรับบริการประกันการส่งออกผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อช่วยผู้ส่งออกเข้าถึงการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อได้ง่ายมากขึ้น เป็นต้น

          จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ได้โหมพัฒนาระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งเป็นพันธกิจหลักอันดับต้นๆ มีการลงทุนวางระบบจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการทำธุรกิจของธนาคารลดลงไปด้วยในระยะยาว

          ขณะที่เกณฑ์การกำกับที่เข้มงวด ก็ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญอันดับต้นๆ  ที่ทำให้เอสเอ็มอี ประชาชนรายย่อย คนฐานรากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แม้จะมีการพัฒนาระบบดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกในการขอสินเชื่อได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง แต่เกณฑ์การกำกับใหม่ๆ ที่เข้มงวดขึ้น เช่น การใช้บัญชีเดียว ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ซึ่งต้องใช้บัญชีที่ได้ยื่นต่อกรมสรรพากรในการขอสินเชื่อ ทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยรากหญ้า  เกษตรกรที่ต้องการจะยกระดับเป็น ผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพอิสระ หาเช้ากินค่ำ ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 20 ล้านราย อาจต้องใช้เวลาตั้งหลักและปรับตัวอีกนาน

          ในมุมกลับกัน การมีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นในการขอสินเชื่อจะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับระบบการเงินไทย เช่น การออกมาตรการ Loan to Value (LTV) โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ ธปท.จะเริ่มใช้มาตรการคุมเข้มสินเชื่อบ้าน ด้วยการกำหนดสัดส่วนวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน สำหรับการซื้อบ้านหลังที่ 2-3 ต้องวางเงินดาวน์ 20-30%  ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่จะคุมความเสี่ยง สินเชื่อบ้านลดการเก็งกำไร แต่จะกระทบการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะมีการหดตัวลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มาก

          อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบดิจิทัลแบงก์กับเรื่องการคุมความเสี่ยง ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะธุรกรรมอะไรที่ทำได้เร็วก็ควรจะมีการป้องกันความเสี่ยงไว้มากๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคต

          แต่ในมุมของฐานลูกค้าแบงก์รัฐกว่า 30-40 ล้านราย ยังมีคนกว่าครึ่งซึ่งเป็นกลุ่มฐานราก คนยากจน เกษตรกร ยังไม่คุ้นชินกับการเข้าสู่ระบบดิจิทัล และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ที่สูงอายุแล้วจะไม่กล้าใช้โมบายแบงก์กิ้ง อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะใช้ความพยายามสักเพียงใด ทำให้ระยะแรกการลงทุนพัฒนาระบบดิจิทัล อาจจะเหนื่อยดูไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างแท้จริง แต่ระยะยาวเชื่อว่าสังคมไร้เงินสดในประเทศไทยจะเดินไปถึงจุดนั้นตามเทรนด์ของโลกแน่ แค่ต้องออกแรงช่วยกันให้มากๆ หน่อย
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ